FASHION
เปิด 5 ทริคสู้ปัญหา ‘รองเท้ากัด’ เพื่อให้ใส่รองเท้าคู่โปรดได้แบบไม่ต้องทนเจ็บอีกต่อไปจะทำอย่างไรเมื่อรองเท้าคู่โปรดกัดไม่เลิก! |
รองเท้าที่รัดแน่นทำให้เกิดการเสียดสีกับผิวหนัง และเมื่อใส่เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลได้ อาการนี้เรียกว่า “รองเท้ากัด” ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เมื่อใส่รองเท้าคู่ใหม่ หรือสวมรองเท้าที่มีขนาดไม่พอดีเท้า หากรองเท้ามีการเสียดสีกับผิวหนังอย่างต่อเนื่องยาวนานจะทำให้รู้สึกไม่สบาย ระคายเคือง เกิดรอยแดง แผลพุพอง หรือรอยถลอกที่เท้า ทว่าจะทิ้งรองเท้าคู่สวยเพราะเจอปัญหารองเท้ากัดก็ย่อมเสียดาย ลองมารู้จักกับทริคเหล่านี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหารองเท้ากัด และสวมใส่รองเท้าคู่โปรดได้สบายขึ้น
1. ทาน้ำมัน
การทาน้ำมันที่ขอบรองเท้าหรือทาที่ด้านในของรองเท้าก่อนสวมใส่จะช่วยป้องกันรองเท้ากัดได้ เนื่องจากน้ำมันจะลดการเสียดสี ทำให้เท้าขยับได้คล่องโดยไม่ระคายเคืองผิว แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าว เพราะมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นและต้านการอักเสบ นอกจากจะนำไปทาที่รองเท้าได้แล้ว ยังสามารถนำมาทาที่ผิวเพื่อรักษาแผลถลอกได้ด้วย
2. ใช้ปิโตรเลียมเจล
ปิโตรเลียมเจลหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วาสลีน” มีประสิทธิภาพในการลดการเสียดสีระหว่างหลังเท้ากับรองเท้า เนื่องจากปิโตรเลียมเจลมีความลื่นจึงช่วยให้ใส่รองเท้าได้ง่าย ลดแรงเสียดทาน และช่วยให้เท้ากักเก็บความชื้นไว้ได้ดี โดยวิธีใช้คือทาปิโตรเลียมเจลบริเวณที่รองเท้ากัดและปล่อยให้แห้งสัก 2 นาทีก่อนสวมใส่รองเท้า หรือจะทาที่ด้านในรองเท้าและปล่อยให้ซึมข้ามคืน วิธีนี้จะทำให้ขอบรองเท้านุ่มขึ้น สวมแล้วลดโอกาสการเกิดแผลถลอกหรือแผลพุพองจนเป็นตุ่มน้ำ และหากมีแผลเป็นที่เกิดจากรองเท้ากัดครั้งก่อนก็สามารถนำปิโตรเลียมเจลที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นมาทาเพื่อลดเลือนแผลเป็นได้อีกด้วย
WATCH
3. โรยแป้ง
สาเหตุหลักประการหนึ่งของรองเท้ากัดคือเหงื่อออกที่เท้ามากเกินไป นั่นเพราะความชื้นอาจทำให้แรงเสียดทานเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหารองเท้ากัดสามารถจัดการได้ตั้งแต่ต้นเหตุด้วยการทาแป้งที่เท้าก่อนสวมรองเท้า ซึ่งแป้งจะช่วยดูดซับความชื้นและทำให้เท้ามีความแห้ง รวมถึงช่วยให้เคลื่อนไหวได้ง่ายและลดการเสียดสี นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการแสบที่เกิดจากรองเท้ากัดได้ด้วย
4. แปะแผ่นกันรองเท้ากัด
แผ่นกันรองเท้ากัดมีให้เลือกทั้งประเภทที่ใช้ติดแนบกับผิว และที่ใช้ติดกับตัวรองเท้าซึ่งจะเป็นแผ่นหนากว่า โดยแผ่นกันกัดจะเข้ามาคั่นบริเวณของผิวและรองเท้า ป้องกันไม่ให้เกิดการเสียดสีจนเกิดแผล ซึ่งแผ่นแปะแต่ละประเภทนั้นมีข้อดีแตกต่างกัน ชนิดที่ใช้แปะบนผิวสามารถแปะได้ทุกบริเวณที่รองเท้าอาจกัด เช่น หลังข้อเท้า หรือนิ้วเท้า ส่วนแผ่นที่ใช้ติดกับรองเท้านอกจากช่วยกันกัดได้แล้ว ยังช่วยให้รองเท้ากระชับขึ้น และแก้ปัญหารองเท้าหลวมเกินไป
5. สวมถุงเท้า
การสวมถุงเท้าเป็นวิธีเบสิกที่สุดสำหรับการป้องกันรองเท้ากัด เพราะถุงเท้าจะทำหน้าที่สร้างกำแพงกั้นระหว่างผิวหนังและรองเท้า ซึ่งช่วยป้องกันการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดแผลและอาการระคายเคือง แต่ถ้าหากต้องการใส่รองเท้าโดยไม่อยากเผยให้เห็นถุงเท้า เช่น รองเท้าคัชชู หรือรองเท้าส้นสูง ปัจจุบันก็มีถุงเท้า Low Cut ที่เนื้อผ้าบางเบา ซึ่งมักมีปุ่มยางหรือซิลิโคนที่พื้นเท้าเพื่อให้ยึดเกาะกับพื้นรองเท้าได้ดี ไม่ลื่นหลุดได้ง่าย และยังคงคลุมนิ้วเท้าและส้นเท้าเอาไว้ไม่ให้รองเท้ากัดอีกด้วย
WATCH