FASHION
สงครามแฟชั่น! มหากาพย์ดราม่ากว่าแอนนา วินทัวร์จะได้เป็น บ.ก. โว้กตำนานจากเรื่องจริงเหล่านี้ไม่ใช่แค่สีสันรสแซ่บ แต่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและความศรัทธาอย่างแรงกล้าของเหล่าบรรณาธิการที่อยากจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโว้ก |
ตำนานคือเรื่องเล่าที่อาจจะไม่มีมูลความจริง แต่ตำนานที่สร้างสีสันให้โว้กนั้นล้วนมาจากพื้นฐานความจริงแต่อยู่ในรูปของเรื่องเล่าไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์ แม้จะมาจากหนังสือที่เขียนโดยอดีตบรรณาธิการโว้ก อาทิ เอ็ดน่า วูลแมน เชส, ดีอาน่า วรีแลนด์, เกรซ มิราเบลลา หรือแม้แต่ Carmel Snow บรรณาธิการฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ผู้จุดสงครามที่ขมขื่นระหว่างนิตยสาร 2 ฉบับนี้
ตำนานจากเรื่องจริงเหล่านี้ไม่ใช่แค่สีสันรสแซ่บ แต่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและความศรัทธาอย่างแรงกล้าของเหล่าบรรณาธิการที่อยากจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโว้ก มีผู้กล่าวว่าประวัติศาสตร์มักจะย้อนรอยเดิมเสมอ ในช่วง 125 ปีของโว้กก็มีปฐมบทแห่งความขมขื่นที่ไม่อาจลืมเลือน เมื่อโว้กได้กลายเป็นผู้นำนิตยสารแฟชั่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ขณะที่ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ซึ่งเกิดก่อนในวงการเน้นหนักไปทางด้านบทความต่างๆ รวมทั้งเรื่องสั้นโดยนักเขียนชั้นนำ ทำให้ William Randolph Hearst ผู้ก่อตั้งเครือสิ่งพิมพ์มีความคิดว่า ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ต้องกลับมาเป็นผู้นำเรื่องแฟชั่น และมองไปยังคาร์เมล สโนว์ซึ่งเป็นมือขวาของเอ็ดน่าที่โว้ก คาร์เมล สโนว์เขียนไว้ในหนังสือที่เธอเขียนในภายหลังว่าเธอได้รับคำสัญญาว่าจะได้เป็นบรรณาธิการโว้กอเมริกาหลังการลงจากตำแหน่งของเอ็ดน่า ซึ่งตอนนั้นกุมบังเหียนโว้กทั้งในอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี แต่ไม่มีวี่แววเลยว่าเอ็ดน่าที่เปรียบเหมือนแม่ทูนหัวของเธอในวงการนิตยสารจะลงจากตำแหน่งเมื่อไร ดังนั้นเมื่อเธอลาคลอดและระหว่างพักฟื้นได้ข้อเสนอจากสำนักพิมพ์เฮิสต์ให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารฮาร์เปอร์ส บาซาร์ เธอจึงตัดสินใจอำลาบ้านที่อบอุ่นหลังเก่า
นี่คือจุดเริ่มของสงครามเก้าอี้ดนตรีซึ่งมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างคนที่ทำงานให้กับโว้กกับฮาร์เปอร์ส บาซาร์ โดยมีคำพูดที่เอ็ดน่ากล่าวกับคาร์เมลเมื่อขอร้องให้เธออย่าออกจากโว้กว่า “ถ้าไปทำงานให้ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ แล้วอย่าหวังว่าจะได้กลับมาที่โว้กอีก” เป็นเหมือนบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ประจำวงการ อย่างไรก็ตามในยุคบุกเบิกนั้น เอ็ดเวิร์ด สไตเคน ช่างภาพโว้กก็ถูกดึงตัวไปฮาร์เปอร์ส บาซาร์ แต่กลับพบว่าสไตล์การใช้แสงในสตูดิโอของเขาล้าสมัยในยุคที่ฮาร์เปอร์ส บาซาร์นิยมถ่ายภาพนางแบบกับแสงธรรมชาติ พอกลับมาทำงานให้โว้กอีกครั้งการณ์กลับกลายเป็นว่าสไตล์ของเขาดูเป็นฮาร์เปอร์ส บาซาร์ จนเกินไปอีก ช่วงท้ายของชีวิตการเป็นช่างภาพของเขาจึงเป๋ไปด้วยเหตุฉะนี้
นิตยสารโว้กฉบับเดือนเมษายน ปี 1915 โดย Edna Woolman Chase บรรณาธิการบริหารในช่วงปี 1914 - 1952 / ภาพ: VOGUE US
การเอาคืนโดยโว้กเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกเกือบ 30 ปีให้หลัง เมื่อคาร์เมลถูกขอร้องให้เกษียณ เธอเลือกหลานสาวของเธอ Nancy White จากนิตยสาร Good Housekeeping มาเป็นบรรณาธิการฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ทำให้ดีอาน่า วรีแลนด์ผู้หมายมั่นว่าเธอคู่ควรกับตำแหน่งนี้ต้องอกหัก แต่เธอก็ข่มใจทำงานภายใต้การนำของแนนซี่ แต่ก็อดกัดเล็กกัดน้อยไม่ได้ว่า “เราต้องการ ‘อาร์ทิสต์’ แต่ที่เขาส่งมา ให้เราคือ ‘ช่างทาสีบ้าน’” แนนซี่ผู้รู้ข้อด้อยของตัวเองดีจึงปล่อยให้ Henry Wolf ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์กับช่างภาพ Richard Avedon ทำงานอย่างอิสระเต็มที่ เมื่อบริษัทกองเด นาสต์ยื่นตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่แห่งโว้กให้กับมิสซิสวรีแลนด์ เธอจึงไม่รั้งรอ
ในช่วงที่เธอทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการโว้ก (1963-1971) เธอทำให้โว้กกลับมาเป็นผู้นำของนิตยสารแฟชั่นด้วยการใช้ช่างภาพรุ่นใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็นริชาร์ด อะเวดอนที่คุ้นกันมาตั้งแต่เล่มก่อน รวมถึง David Bailey หรือแม้แต่ Cecil Beaton นอกจากนี้ยังนำเสนอบุคคลน่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคม โว้กในยุคของเธอนำเสนอภาพของ Mick Jagger ก่อนที่เขาจะดังและบอกว่าเป็นผู้ชายที่มีริมฝีปากเจ้าเสน่ห์ หรือนักบัลเลต์ Rudolf Nureyev ซึ่งยอมให้ริชาร์ด อะเวดอนถ่ายภาพโชว์กล้ามเนื้อเปลือยเปล่าของเขาลงในโว้ก ดีอาน่าทำให้โลกรู้จัก The Twig & The Tree นางแบบฮอตประจำยุค 1960 จากอังกฤษนาม Twiggy และ Penelope Tree รวมถึง The Shrimp อย่าง Jean Shrimpton ในห้องทำงานฉาบผนังสีแดงของดีอาน่าปรากฏภาพขาวดำของเหล่า Beautiful people ของเธอแปะไว้ในสไตล์ Mood board เธอให้ช่างภาพ Henry Clarke เดินทางไปถ่ายแฟชั่นที่อินเดียและถ่ายภาพมหารานีผู้ได้รับการยกย่องเรื่องความงาม พระราชินีแห่งสิกขิม และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในยุค Jet age หรือสมัยแห่งการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ต อีกทั้งโว้กยังพาผู้อ่านไปเยือนอียิปต์ ตุรกี สเปน ฯลฯ ผ่านเซตแฟชั่นนานา
ในช่วงกระแสบุปผาชนกำลังมาแรงแถวต้นยุค 1970 เธอก็บัญชาการให้ช่างภาพ Arnaud de Rosnay นำนางแบบ Lauren Hutton บินไปถ่ายแฟชั่นถึงบาหลี ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือตัวอย่างคร่าวๆ ซึ่งโว้กได้บัญญัติบรรทัดฐานของงานแฟชั่นและภาพถ่ายแฟชั่นจนแม้แต่คนแฟชั่นในยุคปัจจุบันยังยึดผลงานจากโว้กในช่วงนั้นเป็นแนวทางเสมือนงานครู แต่คงไม่มีการทุ่มทุนให้กับเซตแฟชั่นครั้งไหนยิ่งใหญ่กว่า The Great Fur Caravan ในปี 1966 ที่ดีอาน่าให้ช่างภาพริชาร์ด อะเวดอนพานางแบบ Veruschka ไปถ่ายแฟชั่นเฟอร์ที่ญี่ปุ่น โดยมีบรรณาธิการแฟชั่น Polly Mellen ที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่โว้กไม่นานเดินทางไปด้วย (พอลลีกลัวว่าคนอื่นๆ ในโว้กจะไม่พอใจที่เธอได้ทำงานใหญ่เช่นนี้ ดีอาน่าจึงสอนเธออย่างตรงไปตรงมาว่า “เราไม่ได้มาหาเพื่อนในนี้ ดังนั้น จงลงมือทำงานของเธอซะ”) พอลลีเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกระเป๋าเดินทาง 15 ใบ ขึ้นไปทางเหนือของโตเกียวที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน ถิ่นที่ที่นางแบบสาวเวรุชก้าถ่ายทอดความเป็นผู้หญิงในสไตล์โว้กผู้หาญกล้าและชอบผจญภัย ว่ากันว่าความฝันและแฟนตาซี 26 หน้าของโว้กปักษ์แรกประจำเดือนตุลาคม 1966 ใช้งบประมาณสร้างแฟชั่นเซตนั้นสูงถึง 1 ล้านเหรียญ เทียบเป็นเงินยุคนี้คือราว 7 ล้านเหรียญ (228 ล้านบาท) ซึ่งคงไม่มีการทุ่มทุนเช่นนี้อีกแล้ว...ไม่ว่าจะในนิตยสารเล่มไหน
ภายหลังที่เกรซ มิราเบลลาได้เป็นบรรณาธิการโว้กแทนดีอาน่า เธอได้เปลี่ยนโว้กให้เหมาะกับยุคสมัยของผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้นในจังหวะที่กระแสเฟมินิสม์กำลังกรุ่นแรง แถมยังเปลี่ยนโว้กให้เซ็กซี่ขึ้นด้วยภาพแฟชั่นโดยช่างภาพ Helmut Newton และตีพิมพ์ภาพนางแบบ 5 คนในชุดว่ายน้ำที่ถ่ายในเซาน่าของนิวยอร์ก นางแบบคนหนึ่งนั่งกับพื้น มือของเธอดูเหมือนพาดลงไปตรงหว่างขาทำให้โว้กโดนวิจารณ์ว่าทำลายภาพลักษณ์สตรี แต่ปัจจุบันภาพที่ถ่ายโดย Deborah Turbeville รูปนี้ถือเป็นผลงานคลาสสิกของวงการแฟชั่น
แอนนา วินทัวร์ สาวลอนดอนเปรี้ยวเก๋ในแวดวงสังคมนิวยอร์กที่มานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้เครือกองเด นาสต์ในปี 1985 / ภาพ: VOGUE US
ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ความสำเร็จของนิตยสารแอลในอเมริกาทำให้ผู้บริหารโว้กเริ่มหวาดหวั่น แม้ยอดคนอ่านหรือยอดโฆษณาจะไม่ได้ใกล้เคียงโว้ก แต่ก็ถือว่ามาแรงมากจนประธานของกองเด นาสต์ต้องมองหาสิ่งที่มาเติมเต็มผู้หญิงแบบโว้กซึ่งเหมือนจะสูงวัยขึ้นตามอายุนิตยสาร และแอนนา วินทัวร์ สาวลอนดอนผู้เปรี้ยวเก๋ในแวดวงสังคมนิวยอร์กคือตัวเลือกแรก เธอทำงานกับฮาร์เปอร์ส บาซาร์ได้พักหนึ่งก็ถูกไล่ออกด้วยเหตุผลว่าเธอ “ไม่เข้าใจแฟชั่นของผู้หญิงอเมริกัน” จากนั้นจึงข้ามฟากไปเป็นบรรณาธิการแฟชั่นให้นิตยสาร New York ซึ่งเธอนำเสนอภาพถ่ายแฟชั่นที่อิงชั้นเชิงทางศิลปะ ความเก๋ของเธอบวกกับความกลัวว่าทางแอลจะคว้าเธอไปร่วมงานด้วยทำให้เครือกองเด นาสต์ตั้งตำแหน่งที่ไม่เคยมีในโว้กมาก่อนคือ “ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์” เพื่อเธอโดยเฉพาะในปี 1985
ตอนที่เกรซซึ่งเป็นบรรณาธิการในขณะนั้นถามแอนนาว่าอยากจะทำหน้าที่อะไรในโว้ก แอนนาตอบเพียงสั้นๆ ว่า “หน้าที่ของคุณ” เมื่อโว้กอังกฤษต้องการบรรณาธิการคนใหม่ แอนนาจึงถูกส่งตัวไปยังกรุงลอนดอน ตอนนั้นเธอเพิ่งคลอดลูกชายและการต้องอยู่ คนละประเทศกับสามีทำให้เธอยิ่งอยากกลับไปทำงานที่นิวยอร์ก ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เธอเป็นบรรณาธิการโว้กอังกฤษ สื่อมวลชนที่นั่น ให้สมญาเธอว่า “นิวเคลียร์วินทัวร์” เพราะเธอรื้อรูปแบบของโว้กอังกฤษใหม่หมด รวมถึงวิธีการถ่ายแฟชั่นที่ต้องให้เมสเซนเจอร์นำโพลารอยด์ของทุกรูปมาให้เธอดูก่อนแล้วถึงจะตัดสินใจว่าจะถ่ายชอตนั้นหรือไม่ และแล้วกองเด นาสต์ที่อเมริกาก็มีทางออกโดยโยกแอนนากลับมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร House & Garden ที่เธอเปลี่ยนชื่อเป็น HG และนำแฟชั่นสุมใส่ในนิตยสารอายุร่วมร้อยปีนี้ที่มีคู่แข่งเป็น Architectural Digest นิตยสารซึ่งเพิ่งเกิดได้ไม่ถึง 20 ปี จนคนอ่านและผู้ลงโฆษณาของ HG ตั้งตัวไม่ทันกันเลยทีเดียว
โว้กเล่มแรกของแอนนา วินทัวร์ ในฐานะบรรณาธิการบริหาร / ภาพ: VOGUE US
เทคนิคพลิกโฉมนิตยสารนี้เองคือบทพิสูจน์ให้กองเด นาสต์เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่แอนนาจะได้เป็นบรรณาธิการโว้ก ตามความหมายมาดของเธอเสียที ความฉุกละหุกของการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการโว้กจากเกรซมาเป็นแอนนาก่อให้เกิดเรื่องซุบซิบตามมาว่าทำแบบไม่มีสไตล์ แม้แต่เกรซเองยังพูดว่า “ไม่คิดเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความโก้เก๋และมีสไตล์เช่นโว้ก” เพราะขณะที่เธอไปออกกองถ่ายในช่วงวันหยุด เพื่อนของเธอก็โทรศัพท์มาถามว่ากำลังดูทีวีอยู่หรือเปล่า เขาประกาศว่าโว้ก เปลี่ยนตัวบรรณาธิการเป็นแอนนา วินทัวร์แล้ว โว้กปกแรกภายใต้การนำของแอนนาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น Michaela Bercu นางแบบชาวอิสราเอลสวมจั๊มเปอร์ปักลายรูปไม้กางเขนด้านหน้าจากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ของ Christian Lacroix กับกางเกงยีนส์ฟอกแนวสตรีตจาก Guess บรรณาธิการแฟชั่นคือ Carlyne Cerf de Dudzeele ที่ขึ้นชื่อเรื่องการโหมกระหน่ำเครื่องประดับและการมิกซ์แฟชั่น เข้าทางแอนนาผู้เชื่อว่าแฟชั่นต่างสายพันธุ์สามารถสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันได้ เช่นดียวกับหญิงสาวตามท้องถนนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์ได้
แอนนายังนำคนดังมาขึ้นปกโว้กด้วยไม่ว่าจะเป็น Ivana Trump หรือแม้แต่ Madonna ซึ่งโดนวิจารณ์เช่นกันว่าเหตุใดจึงนำนักร้องเพลงป๊อปมาขึ้นปกในยุคที่ปกโว้กเป็นนางแบบเสียส่วนใหญ่ แต่แอนนาก็ยังคงเดินหน้าใช้โว้กเป็นบรรทัดฐานของวัฒนธรรมใหม่ อะไรที่จะเป็นเทรนด์ในสังคม โว้กต้องไม่พลาดที่จะนำเสนอ 3 ทศวรรษที่เธอดำรงตำแหน่งบรรณาธิการประจำโว้ก แอนนาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโว้กไม่ใช่แค่นิตยสารแฟชั่น หากมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสังคมด้วย เคยมีคนว่าคนดังสายอินสตาแกรม Kim Kardashian ไม่มีวันได้ลงแม้แต่ในคอลัมน์ของโว้ก แต่ในที่สุดเธอก็ปรากฏกายในชุดแต่งงานขึ้นปกคู่กับสามี Kanye West หรือนางแบบจากครอบครัวเดียวกันกับคิม Kendall Jenner และเพื่อนซี้ Gigi Hadid ที่มียอดติดตามในอินสตาแกรมมหาศาลก็ได้ลงปกโว้กฉบับสำคัญๆ เช่นกัน รายแรกได้เป็นปกโว้กอเมริกาฉบับเดือนกันยายนปี 2016 ต่อด้วยมีนาคม 2017 ส่วนรายหลังลงปกโว้กนานาชาติถี่ถึง 16 ปกในปี 2017 เพียงปีเดียว
(ซ้าย) โว้กอเมริกา ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 1989 ปกมาดอนน่า / ช่างภาพ: Patrick Demarchelier (ขวา) โว้กอเมริกา ฉบับเดือนเมษายน 2014 / ช่างภาพ: Annie Leibovitz
ปัจจุบันแอนนา วินทัวร์ดำรงตำแหน่ง Artistic Director ของบริษัทกองเด นาสต์ในอเมริกาอีกตำแหน่ง และเพิ่งจะมีส่วนในการพลิกโฉม Architectural Digest ให้เป็น AD ไม่นับรวม Condé Nast Traveler หรือแม้แต่ Bon Appétit ที่ปรับรูปโฉมทั้งนิตยสารและเว็บไซต์ให้เหมาะกับกลุ่มคนอ่านร่วมสมัย แถมยังสามารถแบ่งเวลาไปขุนสร้างงานช้างอย่างเมตกาล่าเพื่อระดมทุนให้กับพิพิธภัณฑ์ Metropolitan ในมหานครนิวยอร์กจนได้ชื่อว่าเป็น “งานออสการ์ของโลกแฟชั่น” นอกเหนือไปจากโครงการ CFDA/Vogue Fashion Fund ซึ่งสนับสนุนนักออกแบบหน้าใหม่ทุกปี!
เรื่อง: เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา
Managing Editor: สธน ตันตราภรณ์
WATCH