FASHION
'Androgynous' นิยามความก้ำกึ่งทางเพศ ที่จะเปลี่ยนบรรทัดฐานแฟชั่นของโลกยุคใหม่!Androgynous Fashion คือการตีความความสวยงามให้กว้างขึ้นโดยไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง |
เนื้อหาสำคัญ
- เหล่าแฟชั่นแบรนด์ทำไมถึงหยิบยกประเด็นมาเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ Louis Vuitton, Gucci, Thom Browne และอีกหลายต่อหลายแบรนด์สร้างบรรทัดฐานความสวยงามตามโลกยุคใหม่
- เพศจะต้องไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางแฟชั่นและสิ่งควรเป็นอีกต่อไป ความลื่นไหลทางเพศจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่หยุดนิ่ง
- นางแบบและเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดังผู้ตีกรอบเรื่องเพศจนแตกกระจาย พวกเขามีวิที่เล่นกับแง่มุมของสังคมยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ จนตอนนี้กลายเป็นต้นแบบของวิธีคิดของมนุษย์ในวงกว้าง
___________________________________________________________________
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศและแฟชั่นเป็นความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ในปัจจุบันความลื่นไหลทางเพศถูกพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น “ชาย-หญิง” ไม่ใช่บรรทัดฐานความปกติเดียวของสังคมอีกต่อไป ยังมีการแสดงออกทางเพศ ความรู้สึกนึกคิด และวิถีทางเลือกด้านเพศอีกมากมายในปัจจุบัน หลากหลายมากจนไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดบรรทัดฐานนิยามใดๆ ให้มนุษย์ การชี้ตัดสินว่าใครเป็นอะไรไม่ใช่สิ่งพึงกระทำโดยเฉพาะในปี 2020 แบบนี้ แฟชั่นก็เช่นกัน ถึงแม้คำว่าเฟมินีนและแมสคิวลีนยังคงเอกลักษณ์ไว้ได้ แต่มันกลับไม่ใช่ตัวกำหนดความงดงามหลักอีกต่อไป เป็นเพียงกลิ่นอายของเสื้อผ้าเท่านั้น วันนี้โว้กจะเปิดโลกแห่งแฟชั่นที่ประตูความหลากหลายทางเพศกำลังถูกเปิดให้กว้างขึ้น
การแต่งตัวแบบสมความเป็นหญิงสมัยก่อน สมัยที่เพศยังเป็นตัวกำหนดทิศทางแฟชั่นอย่างมาก / ภาพ: GLAMOUR DAZE
“มันไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่มันคือความปกติที่ควรเกิดขึ้น” ผู้เขียนขอใช้วลีนี้นิยามแฟชั่นกับความหลากหลายทางเพศให้ชัดเจนขึ้น เพราะแท้จริงแล้วแฟชั่นที่สรรสร้างมาโดยไม่มีกรอบเรื่องเพศมาจำกัดหลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นแค่กระแสนิยมชั่วขณะ แต่เปล่าเลยมันกำลังจะกลายเป็นความปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแรงผลักดันจากคนทั่วไปที่เริ่มเข้าอกเข้าใจเรื่องเพศอันหลากหลายในสังคมทั่วโลกได้มากขึ้น อาจจะจริงที่โครงสร้างร่างกายซึ่งยึดโยงเกี่ยวกับเพศส่งผลต่อเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่มันไม่จริงทั้งหมด เพราะสุดท้ายการเลือกสรรสิ่งเหมาะกับตัวเองเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน “เหมาะ” เป็นเพียงคำอัตวิสัยที่คนนิยามขึ้นมา ไม่ได้มีความเป็นประจักษ์หรือความจริงสัมบูรณ์ขนาดบังคับใครให้ปฏิบัติตามได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
Louis Vuitton คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ที่มีฉากหลังเป็น Sophie Xeon กรีดกรายพร้อมเสียงร้องทรงพลัง / ภาพ: Andrea Adriani - Vogue Runway
ตอนนี้กำลังจะเปิดเรื่องราวส่วนนี้ด้วย “Androgynous Runways” หรือโชว์ที่หยิบเอาคอนเซปต์ของการความก้ำกึ่งระหว่าง 2 เพศมาใช้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เริ่มกับด้วยโชว์แสดงพลังของความลื่นไหลทางเพศอย่าง Louis Vuitton คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ที่ผู้นำทัพอย่าง Nicolas Ghesquière รังสรรค์ออกมาได้หมดจดทั้งเสื้อผ้าเซตติ้ง ไฮไลต์สำคัญอย่างฉากหลัง Sophie Xeon นักร้องทรานส์เจนเดอร์บนจอขนาดยักษ์ขับร้องเพลง It’s Okay to Cry และเหล่านางแบบก็เดินออกมาจากหัวใจของเธอพร้อมกับเสื้อผ้าที่ผสมผสานความลงตัวโดยไม่จำกัดกรอบด้านเพศจนเกินพอดี ความไร้เพศแบบนี้จึงเปรียบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่เป็นความปกติสากล มิได้ผิดแปลกจากบรรทัดฐาน ซึ่งสธน ตันตราภรณ์ Managing Editor เคยกล่าวไว้ในสกู๊ปฉบับเต็มของโชว์นี้ว่า “นิโกลาส์อาจมองความไร้เพศแบบแอนโดรจีนีว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรได้รับการปลดปล่อยออกมาอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรถูกเหยียบย่ำหรือปกปิดเอาไว้” (อ่านสกู๊ปฉบับเต็มของเรื่องนี้ ที่นี่)
WATCH
ลุคบางส่วนจาก Gucci คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่ไม่จำกัดกรอบเรื่องเพศใดๆ / ภาพ: Filippo Fior - Vogue Runway
แบรนด์ต่อมาที่เราไม่พูดถึงไม่ได้จริงๆ คือ Gucci ด้วยคอนเซปต์ภายใต้แนวคิดของ Alessandro Michele ที่จัดจ้านเรื่องความขบถและความเจนจัดด้านสังคมวิทยา ทำให้แต่ละคอลเล็กชั่นที่เขารังสรรค์มักมีกิมมิกสะท้อนประเด็นของสังคมอยู่เสมอ ทั้งเรื่องตัวตน เพศ การตีความสภาพสังคม ความผิดแปลกบรรทัดฐาน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเรื่องเพศนั้นเห็นชัดที่สุดในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่ชุดแต่ละชิ้นแทบบ่งบอกไม่ได้ว่าผู้สวมใส่เป็นเพศใด และนั่นคือความตั้งใจให้ความกลางทางเพศเป็นจุดหมายสำคัญในการพัฒนาแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือรสนิยมแบบใดก็สามารถเสพและมีส่วนร่วมในเรื่องแฟชั่นได้อย่างไร้ขีดจำกัด ดีไซเนอร์มาดติสท์คนนี้เผยความเป็นกลางทางเพศเพื่อสนับสนุนความลื่นไหลในประเด็นนี้ในแบบที่ว่า “แฟชั่นกับความหลากหลายทางเพศไม่ใช่แค่ให้หญิงสวมของชายหรือชายสวมของหญิงเท่านั้น!” สิ่งนี้เห็นได้ชัดจริงๆ ในแทบทุกโชว์ของกุชชี่ตั้งแต่อเลสซานโดรเข้ามานำทัพ
นายแบบเดินลุคฟินาเล่ให้ Thom Browne คอลเล็กชั่นฝั่งสุภาพบุรุษประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2018 ซึ่งชุดนี้คือชุดบ่าวสาวรวมร่างกัน / ภาพ: Yannis Vlamos - Vogue Runway
แต่การที่แฟชั่นคือกระบอกเสียงใหญ่อีกกระบอกหนึ่งในการป่าวประกาศข้อความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนโลกใบนี้ทำให้บางครั้งการเป็นกลางจนเกินไปอาจโดนกลืนกินและจุดกระแสเพื่อให้คนตระหนักในประเด็นต่างๆ ไม่ได้ดีพอ เพราะฉะนั้นหลายแบรนด์เลือกสนับสนุนการเปิดกว้างทางเพศทั้งความก้ำกึ่งระหว่างเพศรวมไปถึงการไม่ระบุเพศในแวดวงแฟชั่นผ่านวิธีการเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น Thom Browne คอลเล็กชั่นฤดูใบผลิ/ฤดูร้อน 2018 เคยนำเสนอชุดแต่งงานครึ่งซีกระหว่างเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว สิ่งนี้ถึงแม้อาจใส่ไม่ได้จริงในชีวิตทั่วไป แต่แบรนด์ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และจุดนี้ก็สามารถต่อยอดส่งข้อความการตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยไม่ปิดกั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่าทางแห่งความขบถจัดจ้าน ผสมผสานกับเสื้อผ้าและการสไตลิ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องระบุเพศของชุดและผู้สวมใส่ / ภาพ: Filippo Fior - Vogue Runway
หรือความจัดจ้านแบบ Maison Margiela ในหลายๆ คอลเล็กชั่นที่นำเสนอความแปลกใหม่ให้กับวงการแฟชั่นเสมอ ภายใต้การกุมบังเหียนของ John Galliano รับประกันได้ว่าจะเห็นความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรูล้นในโชว์ทุกโชว์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลเล็กชั่นที่เหล่านางแบบนายแบบเผยโฉมเสื้อผ้าก้ำกึ่งระหว่างเพศโดยใช้สัญญะด้านเพศทางแฟชั่น เช่นเสื้อสูท กางเกงเลกกิ้งแนบเนื้อ และรายละเอียดการตัดเย็บเข้าช่วยในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์เกี่ยวกับท่าทางของแบบซึ่งมักจะปรากฏตัวด้วยความมีเอกลักษณ์ และที่สำคัญมันไม่ได้ดูว่าเป็นท่าแบบเฟมินีนหรือแมสคิวลีน เพราะท่าทางในโชว์ของห้องเสื้อมาจีร์ล่าในยุคนี้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่โดยไม่มีขีดจำเรื่องเพศมากรอบ
Harry Styles ในลุคร่วมงาน Met Gala ปี 2019 / ภาพ: Fashionista
เมื่อพูดถึงแบรนด์กับรันเวย์สุดจัดจ้านไปแล้ว สิ่งที่เพศกับแฟชั่นขนาดไม่ได้คือไอคอนคนสำคัญ สไตล์ไอคอนคือผู้นำกระแสได้อย่างชัดเจนที่สุด สมัยก่อนหากใครเป็นสไตล์อินฟลูเอนเซอร์ฝั่งผู้ชายก็จะต้องมีลุคแมสคิวลีน แต่งตัวแบบตามบรรทัดฐานเรื่องเพศ “แมน” คำนิยามสั้นๆ ที่ทำให้กรอบของแฟชั่นติดอยู่ในกรอบเดิมๆ และไม่เปิดกว้างพอให้กับความลื่นไหลของเพศเข้ามีบทบาทเท่าที่ควร แต่ตอนนี้ต่างออกไปเพราะเราดูอย่าง Harry Styles กับสไตล์อันจัดจ้าน ผสมความเฟมินีน แมสคิวลีน ศิลปะ รวมถึงการไม่ระบุเพศหรือกรอบนิยามให้กับเสื้อผ้าที่ตนเองสวมใส่ “ทำไมแต่งตัวแบบนี้แล้วต้องเป็นเกย์ เป็นนู่น เป็นนี่” คำถามที่หลายคนอาจคาใจ แต่ถ้าไม่ยัดเยียดกรอบเพศให้กับแฟชั่นสไตล์ของใครที่น่าสนใจก็น่าสนใจอยู่วันยังค่ำ ต้องเริ่มตระหนักกันแล้วว่าเรายังต้องยึดติดกับกรอบเพศแบบเดิมๆ กันอยู่อีกเหรอ
นิยามความแฟชั่นของ Cara Delevingne ที่ไม่จำกัดกรอบเรื่องเพศ / ภาพ: Evening Standard
ในอีกแง่หนึ่งเพศไม่ใช่แค่การสวมเสื้อผ้าสลับเพศอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า แต่ยังหมายถึงคาแรกเตอร์ของปัจเจกบุคคล การไม่เหมารวมคือสิ่งพึงกระทำ เกย์ก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งโลก เลสเบี้ยนก็ไม่ และกลุ่มเพศไหนในกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน อีกหนึ่งคนที่ทำให้โลกแห่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์สัมผัสความจัดจ้านก็คือ Cara Delevingne เธอมักสร้างแรงบันดาลใจและประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างมั่นคงเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องแฟชั่น ความรัก รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิต กรอบเรื่องเพศไม่เคยหยุดยั้งเธอได้ คาร่าบุคคลมากเสน่ห์คือหัวใจสำคัญของการสร้างความตระหนักให้คนเข้าใจและไม่ปิดกั้นความลื่นไหลทางเพศ
ชุดสุดอลังการของ Billy Porter กับความลื่นไหลทางเพศที่ไม่มีข้อจำกัด / ภาพ: Pittsburgh City Paper
พอพูดถึงเรื่องไอคอนอีกคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้กำแพงเรื่องเพศกรอบจำกัดลุคพรมแดงสุดอลังการในทุกงานตลาด 2-3 ปีมานี้ก็คือ Billy Porter เขามักปรากฏตัวบนพรมแดงในฐานะแขกคนสำคัญที่สามารถได้ซีนจากช่างภาพไปเต็มๆ ความอลังการของในแบบไม่มีใครเหมือน ข้อจำกัดเรื่องเพศไม่ใช่ปัญหา ความลื่นไหลนี้พาบิลลี่พบเจอกับสไตล์ที่ใช่ ความฝันที่ชอบๆ ทุกๆ ครั้งที่เขาเดินพรมแดงไม่ว่างานใดก็แล้วแต่ เขามักมีกิมมิกเล็กๆ สะท้อนถึงเรื่องเพศเสมอไล่ตั้งแต่การเลือกประเภท ซิลูเอต สี ไปจนถึงการคอมพลีตลุคด้วยแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ ต้องยอมรับว่าเขาสร้างบรรทัดฐานความอิสระให้กับแฟชั่นแบบไร้เพศได้อย่างน่าสนใจ
Lady J, Kiddy Smile และ Cody Fern กับชุดที่ไม่ต้องสรรหาคำนิยามเรื่องเพศทั้งกับชุดและผู้สวมใส่ / ภาพ: Pinterest - Yahoo - Vogue US
ต่อกันด้วยเหล่าเซเลบริตี้เดินพรมแดงงานยักษ์ใหญ่ทั่วทั้งโลก ช่วงหลังๆ เรามักเห็นการแหวกเดรสโค้ดอย่าง “Black Tie” ออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่นั่นยังไม่ลึกล้ำพอ เพราะไม่ใช่แค่แหวกธรรมดาเพราะเหล่าดารานักแสดงเริ่มสวมใส่ชุดเพื่อบ่งบอกตัวตนของตัวเองอย่างถึที่สุด ลองดู Cody Fern กับลุครองเท้า Tabi Boots หรือจะเป็น Kiddy Smile กับความจัดจ้าน ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปีก่อน Tilda Swinton เองก็คือมักมาในลุคที่หลายคนต้องจดจำ แมสคิวลีนบ้าง เฟมินีนบ้าง เธอเลือกโดยไม่ระบุเพศแค่แสดงตัวตนของเธออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่ที่น่าสงสารเห็นจะเป็น Lady J สาวข้ามเพศผู้เคยระบายความอัดอั้นตันใจในการหาชุดเดินพรมแดงมาแล้ว (อ่านสกู๊ปของ Lady J แบบเต็มๆ ได้ ที่นี่)
Mimi Tao, Harlow Monroe และ Teddy Quinlivan / ภาพ: Instagram
ปิดท้ายกันด้วยเหล่าไม้แขวนเคลื่อนที่บนรันเวย์ ตอนนี้โลกเปิดกว้างแบบสุดๆ สมัยก่อนการจะมีแบบในโชว์เป็นเพศอื่นที่ไม่ใช่หญิงหรือชายแทบจะไม่เป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้ชื่อของ Teddy Quinlivan, Mimi Tao, Harlow Monroe และคนอื่นๆ อีกมากมายคือสาวข้ามเพศผู้เอาชนะกรอบเกณฑ์เดิมมาได้สำเร็จ ถือเป็นผู้จุดไฟความหวังให้กับสังคมยุคใหม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินได้จากภายนอก ข้อจำกัดไม่ควรถูกนำมาตีกรอบให้คนเหล่านั้นรู้สึกอึดอัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลป์แบบนี้ สุดท้ายเพศไม่ใช่ความจริงขั้วตรงข้ามแบบชายหรือหญิงเท่านั้น แต่คือความเป็นปัจเจกของแต่ละคน แฟชั่นยุคนี้แสดงพลังแล้วว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับสิทธิตรงนี้มากขึ้นพียงใด ตอนนี้มันไม่ใช่กระแส แต่มันจะกลายเป็นความปกติของสังคม ถึงตอนนั้นทุกคนจะมองกันโดยไม่ต้องตัดสินหรือนิยามให้ใครเป็นอะไรแบบใดทั้งสิ้น เพราะทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์เสพความสวยงามไม่ต่างกัน และนี่คือทิศทางแฟชั่นที่จะวิ่งนำเพื่อเป็นต้นแบบอันชัดเจนให้กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อความลื่นไหลทางเพศที่ไม่มีจุดสิ้นสุด...
WATCH