CELEBRITY

ความลับสุดสะพรึงที่ซ่อนอยู่ในการ์ตูน “Beauty and the Beast” ของดิสนีย์

รวบรวมนัยแฝงและรายละเอียดมากมายซึ่งซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนในผลงานสุดคลาสสิก

“โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ละครเพลงยอดฮิตฉบับปี 1994 ของดิสนีย์ ความงดงามของหนังและการแสดงของเหล่าดาราดังอาจทำให้คุณต้องหวนนึกย้อนไปถึงการ์ตูนเรื่องโปรดเมื่อครั้งวัยเยาว์  โว้กจึงสบโอกาสรวบรวมนัยแฝงและรายละเอียดมากมายซึ่งซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนในผลงานสุดคลาสสิก...แล้วคุณจะรู้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ลึกซึ้งกว่าที่คิดเป็นไหนๆ คลิกอ่านได้เลยที่แกลอรี่!



1. นิสัยโปรดปรานการอ่านหนังสือของเบลล์สะท้อนถึงความเฉลียวฉลาดรอบรู้ อีกทั้งยังบุ้ยใบ้ถึงคติพจน์ของเทพนิยายเรื่องนี้อย่าง “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก"

2. ตรงด้านล่างของศิลปะบนกระจกแก้วในบทโหมโรงเปิดเรื่องปรากฏภาษาละตินเขียนว่า “vincit qui se vincit” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “ชนะใครก็ไม่เท่าชนะใจตนเอง” ที่สะท้อนถึงโจทย์ที่เจ้าชายอสูรต้องตีให้แตกตลอดเทพนิยาย

3. หนังสือที่เบลล์นั่งอ่านตรงบ่อน้ำพุในบทเพลงแรกของการ์ตูนคือ “เจ้าหญิงนิทรา” เพราะเธออธิบายถึงการพบกันของหญิงสาวกับเจ้าชายรูปงามผู้ปลอมตัวมาและ “กว่าจะรู้ว่าเป็นเขา ก็ต้องปาเข้าไปจนบทที่สาม” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินเรื่องของเจ้าหญิงนิทราฉบับดิสนีย์ และผิดกับที่หลายๆ คนเชื่อว่าเป็นเรื่องของโฉมงามกับเจ้าชายอสูรเอง

4. Hidden Mickeys คือธรรมเนียมในการสร้างสรรค์การ์ตูนของดิสนีย์ที่ทีมงานจะซ่อนซิลูเอตสามวงกลมของตัวละครมิกกี้เม้าส์ไว้ตามจุดต่างๆ เช่น บนยอดกึ่งกลางชั้นหนังสือในห้องสมุดของปราสาทอสูร

5. นอกจาก Hidden Mickeys แล้ว ทีมงานยังแฝงอารมณ์ขันด้วยการใส่ภาพเขียน “Girl with a Pearl Earring” และ “Laughing Cavalier” ของจิตรกรเอกชาวดัตช์ Johannes Vermeer และ Frans Hals ตามลำดับไว้ตามโถงทางเดินในปราสาทด้วย

6. สีมีความสำคัญอย่างมากกับตัวละคร ชุดสีฟ้าของเบลล์ได้รับการออกแบบให้แตกต่างจากสีเสื้อผ้าของสมาชิกทุกคนในหมู่บ้าในฉากเปิดเรื่อง และโทนสีฟ้านี้เองที่สอดรับกับชุดสีน้ำเงินและนัยน์ตาสีครามของเจ้าชายอสูร

7. ชุดเปิดตัวสีฟ้า-ขาวของเบลล์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสื้อผ้าของโดโรธีในภาพยนตร์ “The Wizard of Oz” หรือ “พ่อมดแห่งออซ” จากปี 1939 อีกทั้งเธอยังเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์รายแรกที่มีเรือนผมสีน้ำตาล

8. เมื่อโทนสีฟ้าสะท้อนถึงความดีและพลังอุตสาหะ สีแดงบนเสื้อผ้าของตัวโกงอย่างแกสตองจึงสื่อสารถึงความชั่วร้าย อำมหิต และถ้าสังเกตให้ดี ผ้าคลุมของเจ้าชายอสูรในช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ก็เป็นสีแดงเช่นกัน ก่อนจะค่อยๆ กลายไปเป็นสีน้ำเงินอย่างแนบเนียนเมื่อตัวละครได้รู้จักกับความดี

9. แม้ลักษณะของเจ้าชายอสูรจะเป็นส่วนผสมของสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่แผงคอของสิงโต เคราและส่วนหัวของควายป่า คิ้วของลิงกอริลล่า เขี้ยวของหมูป่า ลำตัวของหมี ช่วงขาและหางของหมาป่า หากดวงตานั้นเป็นของมนุษย์ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้นางเอกของเราจดจำเขาได้เมื่อกลายร่างแล้วในฉากสุดท้าย

10. ทีมนักสร้างการ์ตูนจงใจสร้างรูปปั้นมากมายในปราสาทเพื่อสะท้อนถึงภาคต่างๆ ของเจ้าชายอสูรก่อนที่เบลล์จะปรากฏตัวขึ้น

11. แม้ว่าจะไม่ปรากฏชื่อจริงของเจ้าชายอสูรในฉบับการ์ตูน แต่เป็นอันแน่ชัดจาก Beauty and the Beast ฉบับละครเพลงบรอดเวย์ว่าพระนามของพระองค์คือ “เจ้าชายอดัม”

12. เนิ่นนานก่อนการมาถึงของทั้งราชินีเอลซ่าและเจ้าหญิงแอนนาแห่ง Frozen เบลล์ได้ชื่อว่าเป็นตัวละครหญิงงามผู้มีอายุมากที่สุดในหมู่เจ้าหญิงวัยรุ่นทั้งหมด แถมยังได้ชื่อว่าเป็น “สาวยุค 1990s” อีกด้วย

13. ผู้ชมมีสิทธิ์จะรู้สึกคุ้นๆ กับภาพเต้นรำในฉากจบของภาพยนตร์การ์ตูน เพราะทีมนักวาดใช้แพตเทิร์นภาพเดิมของการเต้นรำในการ์ตูน เจ้าหญิงนิทรา ฉบับปี 1959 มาปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน

14. โปสเตอร์ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้มีด้วยกันหลายเวอร์ชั่น แต่ละเวอร์ชั่นสื่อสารถึงกลุ่มผู้ชมแตกต่างกันไป ผลงานทางด้านซ้ายมือเจาะกลุ่มผู้ชมวัยเยาว์ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจถึงความสอดคล้องกับรายละเอียดในหนัง เช่น สีเสื้อผ้าของเบลล์ที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ชิ้นงานทางด้านขวามือเลือกเจาะกลุ่มคู่รักวัยหนุ่มสาวให้พากันไปออกเดตด้วยการชมภาพยนตร์การ์ตูนโรแมนติกเรื่องนี้

WATCH