CELEBRITY

Swing Out, Sisters!

Swing Out, Sisters!

เลื้อยขึ้นไปตามขั้นบันไดแคบๆ ข้างร้านเทเลอร์แห่งหนึ่งในย่านสีลม เหมือนเดินตามอลิซเข้าไปในโพรงกระต่ายเมื่อบันไดวนทอดยาวขึ้นไปสู่ห้องโถงกว้าง มวลอากาศถูกดูดกลืนไว้ด้วยแสงไฟสีเหลือง สะท้อนผนังสีน้ำตาลแดง คายบรรยากาศสีวินเทจอวลอล ผนังด้านหนึ่งกรุกระจกสูงจากพื้นจรดเพดาน เงาของชายหญิงหลายคู่เหวี่ยงตัววนไปรอบๆ รองเท้ากระทบพื้นไม้ดังกึกก้องเป็นจังหวะรัวเร็ว ทุกอย่างรอบตัวหมุนวน สวิงและสวิงราวกับจะเต้นรำเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้

    ภาพประจำเช่นนี้จะเกิดขึ้นใหม่ทุกวันพฤหัสและวันเสาร์ เมื่อหนุ่มสาวหลากหลายเชื้อชาติมารวมตัวกันที่ The Hop คลับของคนรักการเต้นรำแนวสวิงแห่งแรกในเมืองไทยที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาแรงกล้าของชายหนุ่มผู้มีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเต้นสวิง “ผมเห็นคนแจกใบปลิวที่มหาวิทยาลัย เราเป็นคนแสวงหากิจกรรมทุกอย่างที่ขวางหน้าอยู่แล้ว ปรากฏว่าใบปลิวแผ่นหนึ่งเป็นของชมรมเต้นสวิง” โอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์ เล่าย้อนไปสมัยยังเป็นนักศึกษาปีหนึ่งวัย 18 ปีในฟิลาเดลเฟีย “ส่วนตัวชอบดนตรีและการออกกำลังกาย พอมาเจอการเต้นสวิงที่ผสมผสานสองสิ่งนี้รู้สึกว่าใช่มากๆ” รักแรกเต้นของโอ๊ตฝังใจจำจนแม้เมื่อกลับมาทำธุรกิจด้านเกษตรของครอบครัวที่เมืองไทยแล้ว แขนขาและหัวใจยังโหยหาถึงการเต้นอันเป็นที่รักเสมอ 

    “ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ แค่มีคนอยากเต้นกับเราก็พอ” โอ๊ตพูดถึงการลุกขึ้นมาก่อตั้งกลุ่มเต้นรำแนวสวิงในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน “เริ่มจาก 10 คนแรกที่ใช่ คนที่มาจอยคือเพื่อนของเพื่อนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เราเข้าใจกัน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เราผ่านมาตั้งแต่ไปเต้นบนลานกิจกรรมแบบที่คนไปเต้นแอโรบิกกัน ไปจนถึงเต้นกันที่บาร์แห่งหนึ่ง เลยคิดว่าเราควรสร้างที่ของเราเองดีกว่า จึงเป็นที่มาของ The Hop ที่สีลมตรงนี้ เดินเข้ามาแล้วรู้สึกเป็นบ้านของเราเองที่ปล่อยความครีเอทีฟ ความบ้า ความแปลกใหม่ได้เต็มที่” 

    หนึ่งในสมาชิกคนแรกๆ ที่ยังไม่หายจากกันไปไหนและกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการตอกเสาเข็มสร้าง The Hop จนถึงวันนี้คือโน้ต-ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ หญิงสาวนักวิชาการด้านอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ผู้มีอาชีพหลักสุดล้ำแต่ชอบกลายร่างเป็นสาววินเทจบนฟลอร์เต้นรำในยามว่าง “การไปเรียนที่ลอนดอนสอนเราเรื่องการเห็นคุณค่าของของเก่าควบคู่กับการใช้ชีวิตในยุคใหม่ ถ้าให้ทุกคนใส่ชุดวินเทจไปเดินที่ลอนดอนก็บอกไม่ถูกว่าเป็น ค.ศ. ไหน เพราะด้านหน้าตึกอาคารที่นั่นยังเป็นของเก่า แต่ข้างในรีโนเวตแบบโมเดิร์น แล้วตัวเราชอบไปเดินช็อปปิ้งเดินตลาดวินเทจ เป็นสาเหตุให้ไปเจอการเต้นสวิง เป็นคัลเจอร์ที่น่ารัก มีคนแก่และคนหนุ่มสาวแต่งตัววินเทจแล้วมาเต้นรำกัน ที่ต่างประเทศจะมีคอมมิวนิตี้แบบนี้เยอะ แต่ในเมืองไทยไม่มี โอ๊ตอยากเต้นสวิงแต่ไม่มีใครเต้นด้วย ก็คงต้องสร้างขึ้นมาเองแล้วแหละ”

      ยุค 1920 มีชาร์ลส์ตันเป็นการเต้นรำที่ปลดปล่อยจิตวิญญาณเสรีของหญิงและชาย ซึ่งใช้ศิลปะการเต้นรำเพื่อต่อต้านความขัดแย้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หากการเต้นสวิงในยุคถัดมาเป็นวัฒนธรรมรองของสังคมโดยรวม แต่เป็นวัฒนธรรมหลักของคนผิวสีในอเมริกา “สวิงไม่ใช่การเต้นเพื่อต่อต้านสังคมใดๆ เป็นแต่เพียงการสร้างความสุขอย่างหนึ่ง แต่เพราะสวิงทำให้ในยุค 1930-1940 คนผิวดำกับคนผิวขาวที่แบ่งแยกกัน ขนาดนั่งรถเมล์ยังต้องแยกให้คนดำไปนั่งข้างหลัง มาจับมือเต้นรำด้วยกันได้ เป็นความแตกต่างที่ไม่แบ่งแยกกันอีกต่อไป” 

      ภาพชายหญิงจับคู่เต้นรำกัน เบื้องหลังชุดสูทและเดรสวินเทจของพวกเขาคือภูมิหลังที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน บางคนเป็นนักวิชาการ เป็นจิตรกร ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บ้างเป็นคนไทย เป็นชาวเกาหลี หรือไม่ก็เป็นนักเต้นรำจากฝรั่งเศส แต่ในความไม่เหมือนกันเลยเหล่านี้ แข้งขาของพวกเขาขยับเป็นสเตปเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงเมื่อได้ยินเพลงสวิง “การเต้นรำก็เหมือนสำเนียงการพูด แต่ละประเทศแต่ละกลุ่มมีสำเนียงที่ต่างออกไปขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนสร้างคลับขึ้นมา ในเมื่อโอ๊ตเป็นคนร่าเริงที่ดึงเพื่อนร่าเริงให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นกลุ่มเต้นสวิงในเมืองไทยจะเป็นแนวเฮฮาและพลังสูงมาก” โน้ต พีอาร์จำเป็นของกลุ่มเล่า 

    “การเต้นสวิงเป็นมากกว่าการเต้นรำ คือเป็นวัฒนธรรมด้วย” สุไลมาน สวาเลห์ หนึ่งในนักเรียนที่ก้าวขึ้นมาเป็นครูผู้อุทิศตนสอนเต้นสวิงประกาศ “คอมมิวนิตี้ของคนเต้นสวิงจะเปิดใจกว้างมาก ไม่ว่าแบ็กกราวด์จะเป็นอย่างไร ฐานะ การศึกษา ศาสนา เชื้อชาติ อายุ ไม่มีขีดจำกัดอะไรเลย และเป็นแบบนี้ทั่วโลก เหมือนที่คนสนใจเต้นสวิงมาเมืองไทยก็จะเสิร์ชหาว่ามีคลับเต้นที่ไหน เวลาเราไปต่างประเทศก็เช่นกัน ที่เกาหลีใต้มีคลับเต้นสวิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคนเต้นเป็นหมื่นๆ หรือที่สวีเดนจัดแคมป์เต้นสวิงทุกปี ถึงขนาดปิดเมืองให้คนมาเต้นสวิงกัน 24 ชั่วโมง เต้นกันตามท้องถนน ในร้านอาหาร เต้นกันทุกที่ ชาวเมืองจะย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ปล่อยบ้านให้เช่า สร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นได้อีก” โน้ตที่เคยไปแคมป์เต้นสวิงที่สวีเดนอันลือลั่นนี้มาแล้วเสริมอย่างปลื้มปริ่มว่า “มีวันที่เต้นๆ อยู่ แล้วจู่ๆ ก็ไม่เห็นว่ารอบตัวเป็นเมือง แต่เห็นเป็นสวนดอกไม้ เหมือนในหนัง The Sound of Music เรามีความสุขได้ขนาดนั้น”  

    วาดฝันไว้ไหมว่าชุมชนเต้นสวิงในเมืองไทยจะยิ่งใหญ่จริงจังถึงขนาดปิดเมืองเต้นรำหรือมีสมาชิกเรือนหมื่น “การเต้นสวิงก็เหมือนการเผยแผ่ศาสนาหรือกิจกรรม ทำไมเกาหลีใต้ถึงมีชุมชนเต้นสวิงใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีการสอนในมหาวิทยาลัย มีชมรมเต้นให้คนเข้ามาจอยกันได้ง่าย คิมยงจิ ครูคนหนึ่งของเราที่ The Hop ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้เล่าว่าคนที่เต้นสวิงเป็น วันหนึ่งเป็นดาราได้เต้นสวิงออกสื่อ คนเลยแห่มาเต้นตามกันเยอะมาก เกิดเป็นความนิยมกระแสหลักขึ้นมาได้  แต่เอาเข้าจริงพอกลายเป็นชมรมที่ใหญ่ขนาดนั้นก็แลกมาด้วยอะไรบางอย่าง เช่น มีโซนคนเต้นเก่งกับโซนคนเต้นไม่เก่ง บางคนใส่ชุดวอร์มมาถึงก็เต้นเลย ไม่ทักทายกัน เต้นเสร็จกลับบ้าน เมื่อเราเห็นตัวอย่างแล้วจะเลือกว่าอยากเป็นแบบไหน” 

    “เรื่องขนาดของชมรมไม่ได้เป็นประเด็นหลักมากไปกว่าเรื่องคุณภาพของวัฒนธรรมนะ” โอ๊ตแกนหลักของกลุ่มเต้นสวิงในเมืองไทยว่า “คุณภาพ คุณค่า และศิลปะที่เราพยายามจะสืบทอดและถ่ายทอด มันได้อย่างที่เราต้องการไหมต่างหากคือสิ่งที่เราแคร์ เพราะตอนนี้เราได้เห็นภาพที่ฝันไว้แล้ว เปิดสตูดิโอเข้ามาแล้วมีคนเต้นรำอย่างมีความสุข บรรยากาศแบบนี้สิที่เราคิดว่ามันใช่ ไม่ใช่คลาสสอนเต้นแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน ซึ่งสิ่งที่สร้างยากก็คือวัฒนธรรมนี่แหละ สอนสเตปแป๊บเดียวก็ทำตามกันได้ ถามว่าวัฒนธรรมที่เราอยากจะสร้างคือแบบไหน ส่วนใหญ่คนที่มารวมตัวกันที่นี่ก็ไม่ค่อยจะเป็นคนธรรมดานัก (หัวเราะ) เป็นที่ที่มีคนไม่ธรรมดาหรือคนที่มีมุมมองแตกต่าง หรืออย่างน้อยมีบุคลิกที่เราเรียนรู้จากเขาได้ แล้วเราเอาความแตกต่างของแต่ละคนมารวมกันได้โดยมีการเต้นเป็นจุดศูนย์กลาง” 

    พวกเขามองว่าสตูดิโอ The Hop เป็นเหมือนห้องรับแขกที่เปิดประตูต้อนรับตลอดเวลา แขกที่ผ่านเข้ามาล้วนมองหาความสุข ประสบการณ์แตกต่าง ไปจนถึงการมีสังคมใหม่ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งมา ห้องรับแขกแห่งนี้มีนักเต้นสวิงเดินผ่านเข้ามาบนฟลอร์เต้นรำแล้วมากกว่า 2,000 คน ทั้งยังเคยนำการเต้นสวิงออกไปจัดอีเวนต์เต้นรำกลางแจ้ง ครั้งแรกที่สวนสันติชัยปราการ เพราะเป็นภาพฝันที่พวกเขาอยากใส่ชุดวินเทจไปเต้นรำในสวนริมแม่น้ำ แม้จะจัดงานด้วยความไม่รู้และแม้จะเหนื่อยกับอุปสรรค “แต่พอเสร็จงาน ทุกคนหันมาคุยกันว่า ‘ครั้งต่อไปจัดงานที่ไหนดี’” เป็นเหตุให้นักเต้นขนกำลังพลไปเต้นรำที่จังหวัดนครปฐม ในบรรยากาศกลางถนนพรอเมอนาด มีแนวต้นไม้ร่มรื่นและฉากหลังเป็นพระปฐมเจดีย์สีทองอร่ามองค์มหึมา “เราไม่ได้โปรโมตอะไรมาก แต่พอวันงานมีคนขับรถตามมาจากกรุงเทพฯและหลายๆ ที่เยอะมาก” คนจัดงานเล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม “เคยแอบรู้สึกเหนื่อย อยากกลับมาเป็นคนเต้นเฉยๆ แต่ทุกครั้งหลังจากงานเลิกแล้วกลับมานั่งเช็กฟีดแบ็ก ทุกคนเขียนว่าแฮปปี้มากกับงาน งานแบบนี้มีด้วยเหรอ อยากให้จัดอีก มีแรงฮึดขึ้นมาทันที แต่การจะขยายคลับเต้นสวิงออกไปต้องอาศัยคนในพื้นที่นั้นๆ ที่เขาไปอยู่แล้วสร้างมันขึ้นมา อย่างตอนนี้เราพยายามจะช่วยเชียงใหม่สร้างคลับเต้นสวิง แต่ต้องใช้เวลาสร้างกว่าทุกคนจะเต้นเป็น กว่าทุกคนจะช่วยกันสอนได้ กว่ากระแสจะจุดติด ต้องมีตัวตั้งตัวตีในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะมองว่าเป็นการเสียสละก็ไม่เชิง เพราะทุกคนได้อะไรจากมัน ถ้ามาแล้วไม่ได้อะไรก็คงไม่กลับมาอีก” 

    สตูดิโอกว้างขวางแห่งนี้ในวันเปิดทำการจะมีนักเต้นแน่นเต็มฟลอร์ ดังกว่าเสียงเพลงคือเสียงหัวเราะ จากความเปิ่นอายของผู้มาใหม่ เจือคำให้กำลังใจของผู้มาเป็นประจำ สลับกับเสียงกระตุ้นของครูฝึกที่ล้วนเคยเป็นนักเรียนระดับบีกินเนอร์มาก่อน “บางวันเลิกคลาสมีคนส่งลิงก์มาบอกว่าคนที่ยูเต้นด้วยเมื่อคืนเป็นแชมป์โลก บางวันมีศิลปินคนโปรดของเราเดินเข้ามา เคยเต้นอยู่ดีๆ ปาล์มมี่เดินเข้ามาจับมือแล้วบอกว่าช่วยสอนเต้นหน่อย หรือสเตฟานีกับเจย์ซีที่มาถ่ายรูปด้วยวันนี้เป็นแชมป์เต้นสวิงที่เก่งมากของฝรั่งเศส เคยไปแข่งเต้นที่เกาหลีใต้แล้วชนะได้ที่หนึ่งของเอเชีย ทั้งๆ ที่เต้นด้วยกันอยู่ทุกวันแต่ไม่เคยรู้ มันมหัศจรรย์มากเลยนะ การที่เรามาอยู่ในคลับเล็กๆ เป็นภาพที่ไม่เคยมีในเมืองไทย ภาพของคนที่เลิกงานแล้วไปโผล่ในคลับที่มีแต่คนเต้นรำมากหน้าหลายตาเวียนกันมา รู้สึกว่าที่นี่เปิดโลกกว้างมากๆ เหมือนเราเป็นห้องรับแขก เปิดประตูเข้าไปเจอโลกอินเตอร์เนชั่นแนลในห้องเล็กๆ นี้” ดร.มาลียาเล่าอย่างออกรส

    “สวิงมีรากเหง้ายาวนานเกือบร้อยปี มันต้องมีอะไรดีจริงถึงได้อยู่มานานขนาดนี้” โอ๊ตเปิดประเด็นใหม่ที่นำไปสู่บทสรุปของสวิงอันสวยงาม “สังเกตสิว่าเพลงป๊อปเดี๋ยวนี้ออกมาไม่นานคนก็ลืมแล้ว แต่เพลงสวิงยังอยู่ มันมีความเป็นตำนานในตัวเอง ผมคิดว่าเพราะสวิงเป็นดนตรีที่ทำให้คนมีความสุข เข้าใจง่าย จังหวะชัดเจน ส่วนการเต้นสวิงแม้จะมีสเตปของมัน แต่ก็เปิดให้อิมโพรไวส์ได้เอง ต่อให้คุณไม่มีพื้นฐานการเต้นอะไรเลย แต่ความฟรีสไตล์ของมันคือเสน่ห์ ตัวเราเป็นผู้สร้างสวิงในแบบของตัวเองขึ้นมาได้ ช่วยเติมรสชาติให้สวิงน่าสนใจขึ้นไปอีก ทำให้สวิงไม่เคยตาย

    “สวิงยังเป็นภาษาสากลที่ไม่ว่าคุณจะไปเต้นที่ไหนในโลกก็สื่อสารกันเข้าใจ อีกกี่ร้อยปีผู้คนก็โหยหามนุษยสัมพันธ์เสมอ สังเกตดูจะเห็นว่าที่นี่ไม่มีใครเล่นมือถือ ถ้าไม่เต้น ทุกคนก็สบตาคุยกัน เหมือนได้เรียนศาสตร์มนุษย์ ได้เติมพลังชีวิต อยากชวนให้ทุกคนออกจากคอมฟอร์ตโซนมาหาสีสันใหม่ๆ ในชีวิต” โอ๊ตกล่าวทิ้งท้าย   

WATCH

คีย์เวิร์ด: vogue thailand Inspiration Swing Dance Culture