CELEBRITY
ปอกหมดเปลือกกับสุดยอดความปลิ้นปล้อนใน Spider Man - Far From Homeเจาะลึกการโกหกแห่งมาร์เวลที่จะสอนทุกคนถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลังการโกหกของปีศาจร้าย |
***บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนเพื่อเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล***
เนื้อหาสำคัญ
- การโกหกปลิ้นปล้อนของตัวละครหลักที่บทสรุปเป็นบทเรียนให้กับทุกคน
- แง่คิดสะท้อนถึงรากฐานการกระทำซึ่งส่งผลต่อสังคม
- การวิเคราะห์สภาพสังคมที่กรอบให้เกิดมูลของเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น
________________________________________
โลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้ทุกรูปแบบแม้กระทั่ง “การโกหก” คำลวงหลอกสร้างภาพถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณและมันจะอยู่คู่มวลมนุษยชาติไปจนกว่าโลกจะสูญสิ้นอย่างแน่นอน คำโกหกคือบรรทัดฐานที่เล่นระหว่างคำว่า “เชื่อ” และ “ไม่เชื่อ” Spider Man: Far From Home ภาพยนตร์จากค่ายมาร์เวลกำลังจะกลายเป็นบทเรียนสอนคนที่มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทั่วทั้งโลก
การผจญภัยของ Peter Parker ในเวนิส / ภาพ: Courtesy of MARVEL
เล่าภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนว่านี่คือภาพยนตร์ในเส้นไทม์ไลน์จักรวาลมาร์เวล ในวันที่ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ หรือสไปเดอร์ แมน (รับบทโดย ทอม ฮอลแลนด์) ต้องร่วมทริปหน้าร้อนกับโรงเรียนของเขา แต่ทว่าลางร้ายที่ต้องเจออุปสรรคมันกำลังจะเป็นจริง เรื่องราวการผจญภัยในทริปวิทยาศาสตร์ครั้งนี้กลายเป็นความหายนะ แท้จริงแล้วหายนะที่ว่าไม่ใช่บ้านเมืองถล่ม ผู้คนเสียชีวิต แต่มันคือหายนะทางจิตใจและความคิดที่ถูกย่อยสลายป่นปี้กลายเป็นความผิดหวังของมนุษย์ที่มีต่อซูเปอร์ฮีโร่
Quentin Beck (Mysterio) กำลังต่อสู้กับอสูรการธาตุน้ำ / ภาพ: Courtesy of MARVEL
ปีศาจดิน น้ำ ลม ไฟ ปรากฏขึ้นในเส้นเรื่องของสไปเดอร์แมนภาคนี้และดูเหมือนว่ามันคืออสูรร้ายที่พร้อมกวาดล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า ปีเตอร์เด็กหนุ่มจากสหรัฐฯ มาเที่ยวยุโรปด้วยความตื่นเต้นกลับต้องเผชิญเรื่องไม่คาดฝัน (ถึงแม้จะมีลางตั้งแต่นิคต้องการพบเขา) เหตุการณ์แรกมันเริ่มที่เวนิสและแน่นอนเขาแบกมันไม่ไหว การปรากฏตัวขึ้นมาเป็นวีรบุรุษกอบกู้โลกของเควนติน เบ็คหรือมิสเตริโอ ทำให้เขาคือคาแรกเตอร์ในดวงใจใครหลายคนทั้งตัวละครในเรื่องเองหรือแม้แต่แฟนๆ มาร์เวลนอกจอ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการโกหกที่ตอกหน้าทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งสไปดี้
WATCH
อสูรการธาตุน้ำที่ปรากฏตัวขึ้น ณ กรุงเวนิส / ภาพ: Courtesy of MARVEL
ตัวร้ายถล่มเมืองตั้งแต่เวนิส ปรากไปจนถึงลอนดอนทำผู้คนหวาดผวา แต่ทว่ามีมิสเตริโอเข้ามากอบกู้สถานการณ์ไว้ได้ทุกครั้ง เขากลายเป็นฮีโร่ผู้เสียสละ ทุ่มทุนถึงขั้นเอาตัวเข้าแลกจนเกือบไม่รอดแต่สุดท้ายก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด เส้นเรื่องนี้เหมือนละครบทใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ สไปเดอร์แมนเชื่อใจ จนมอบแว่นตาอีดิธ อุปกรณ์สุดล้ำที่โทนี่ สตาร์กเลือกผู้รับไว้ แล้วทั้งหมดนี้มันจะแปลกได้อย่างไรในเมื่อเควนตินหรือมิสเตริโอคือยอดมนุษย์ที่ทั้งเก่งและดี แต่บางครั้งเราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า “เขาเก่งและดี” หรือ “ดูเก่งและดี” กันแน่
กองทัพโดรนสร้างภาพลวงตาปีศาจร้ายถล่มสะพานใจกลางกรุงลอนดอน / ภาพ: Courtesy of MARVEL
บทสรุปถูกเฉลยว่าแท้จริงแล้วมันคือเรื่องสมมติ ใครว่าปีศาจมันมีจริง มันก็แค่กองทัพโดรนผู้สร้างภาพเสมือนราวกับหนัง 4 มิตินั่นเอง แล้วเขาทำเช่นนี้ทำไม...เมื่อคุณต้องการอะไรบางอย่างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ภาพจำของมิสเตริโอคือฮีโร่หนุ่มผู้แข็งแกร่งสามารถปราบปีศาจร้ายได้อย่างเด็ดขาด เขาหลอกได้แม้กระทั่งนิค ฟิวรี่ ทุกคนพร้อมจะเชื่อคนที่มีเรื่องราวเบื้องหลังอันยอดเยี่ยมเช่นนี้ ภาพจำการปราบภัยพิบัติของมนุษย์ติดเป็นตราบุญให้กับบุคคลผู้นี้ไปแล้วเรียบร้อย เขาสร้างสิ่งที่ต้องการให้ทุกคนมองได้สำเร็จ!
ทำไมต้องโกหก
Quentin Beck (Mysterio) ขณะปล่อยพลังสู้กับอสูรร้ายในภาพโฮโลแกรม / ภาพ: Courtesy of MARVEL
คำโกหกในที่นี้หมายถึงโกหกตัวเอง เขาไม่ใช่ฮีโร่เขาแค่ “สร้างภาพ” ให้กลายเป็นฮีโร่ก็เท่านั้น ภายใต้หน้ากากอันใสสะอาดคือตัวตนอันโสมมของเควนติน เบ็ค ชายผู้เจ็บแค้นจากการกระทำของโทนี่ สตาร์ก ความหลอกลวง ปลิ้นปล้อนของเขามันประสบความสำเร็จจนถูกยกมาเทียบกับโทนี่ผู้เคยสร้างบาดแผลไว้ในใจเขา และประกาศศักดาว่าเขาเองก็ไม่ธรรมดา แม้จะเป็นแบบหลอกๆ ก็ตาม การโกหกสร้างภาพว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันง่ายกว่าลงมือทำจริงเสมอ
การสร้างเครดิตผ่านคำโกหกคือกุญแจหลักของเควนตินที่ทำให้เขามายืนในจุดที่เขาคิดว่าเหมาะสมที่สุด มันก็เหมือนมนุษย์เรานี่ล่ะบางครั้งก็พยายามที่จะสร้างเรื่องราวขึ้นมายกระดับตนเอง ใช่มันอาจจะมีมูลความเป็นจริงอยู่บ้างแต่สุดท้ายการเสริมเติมแต่งมันทำให้เรื่องราวดูพิเศษและแน่นอนภาพลักษณ์รวมถึงชื่อเสียงก็วิ่งเข้าหาตามกันไป คนธรรมดากลายเป็นคนพิเศษผ่านการกระทำที่ไม่มีจริง กลิ่นอันหอมหวานของการโกหกสามารถดึงมนุษย์ผู้หลงใหลไปได้เสมอ
วิถีทางความหลอกลวง
กลุ่มเพื่อนร่วมทริปของ Peter Parker กำลังฟังชมข่าวการกู้โลกอันหลอกลวงของ Quentin Beck และตั้งชื่อให้ว่า Mysterio / ภาพ: Courtesy of MARVEL
องค์ประกอบการสร้างเรื่องราวมันมีอยู่หลายขั้นตอนแต่แน่นอนมันต้องมีผู้คิดริเริ่มสร้างแผนการ อุปกรณ์ และเป้าหมายของการโกหก ในเรื่องนี้มิสเตริโอคือคนต้นคิดโดยมีทีมคอยสนับสนุน และอุปกรณ์คือเหล่าโดรนเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สามารถสร้างภาพเสมือนพร้อมเอฟเฟกต์ตระการตา สุดท้ายเป้าหมายการโกหกคือการยกระดับตัวเองขึ้นเทียบเท่าซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ วิถีทางสร้างขึ้นจากภาพเล็กน้อยและมันค่อยๆ ใหญ่ขึ้นดุจกับการเพิ่มเลเวลของตัวละครจากการต่อสู้ครั้งย่อยๆ มาสู่บอสไฟต์ ณ กรุงลอนดอน
เมื่อเข้ามาอยู่ในวิถีแล้วก็ต้องเดินหน้าตามวิถีต่อไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีวันหยุด มันคือความหลอกลวงแบบไม่มีสิ้นสุด ทำได้ครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปก็จะตามมาแบบไม่ต้องสงสัย “เด็กน้อยเริ่มโกหกเมื่อไหร่ ไม่มีทางจะกลับเป็นคนใสสะอาดด้านนี้อีกต่อไป เมื่อเปิดโลกแห่งความลวงหลอก เชื้อการหลอกลวงจะติดอยู่กับเด็กน้อยตลอดไป เพียงแต่ว่ามันจะเยอะหรือน้อยเท่านั้นเอง”
สังคมแห่งหน้ากากของการแต่งแต้ม
จริงๆ แล้ว Spider Man ก็เป็นหน้ากากที่ถูกแต่งแต้มมาแล้วเช่นกันเพราะคนอยากเห็นไอ้แมงมุมในบทบาทฮีโร่เสมอ Peter Parker ในยามมีภัยไม่เคยได้เป็นคนปกติ / ภาพ: Courtesy of MARVEL
เรารู้กันอยู่แล้วว่าการเข้าสังคมเหมือนการสวมหน้ากากเข้าหากัน ทุกคนมีกำแพง เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าเราไม่สามารถแสดงตัวตนของเราได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์กับผู้อื่น ถ้าเปรียบคงเหมือนรูปทรงของหน้ากากบางคนใส่หน้ากากโปร่งแสงมองเห็นเนื้อใน บางคนใส่หน้ากากทึบทั้งหน้า บางคนใส่หน้ากากเปิดส่วนปากแสดงตัวตนแค่บางส่วน นั่นล่ะการโกหกและสร้างภาพคือองค์ประกอบหลักของสังคมโดยเฉพาะสังคมสมัยนี้ไปแล้ว ลองนึกภาพดูสิสุดท้ายเรามักได้ยินหรือเห็นการนำเสนอด้านดีและสิ่งที่พวกเขาอยากให้เราเห็นอยู่เสมอ ในวันนี้สังคมเองก็ให้คุณค่ากับบุคคลผู้มีภาพลักษณ์ดีมาก่อน แทบไม่สนเลยด้วยซ้ำว่าเนื้อแท้จะเป็นแบบไหน ในยุคที่นำเสนอตัวตนกันผ่านโซเชียลมีเดีย หน้ากากอันโตที่ครอบเราอยู่ในชั้นแรกต้องดูดีจริงไหมล่ะ...
ปีศาจร้ายภายใต้หน้ากากอันสวยหรู
การจับมือกับ Spider Man สร้างความสมจริงให้หน้ากากของ Quentin Beck (Mysterio) / ภาพ: Courtesy of MARVEL
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครดีไม่ดีในเมื่อใครๆ ก็ใส่หน้ากาก คำตอบก็คือไม่มีทางรู้จนกว่าหน้ากากจะหลุดออกไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม บทบาทฮีโร่คือหน้ากากที่เควนตินพยายามสร้างขึ้นมาตลอด การสาดสีความดีมันก็ย่อมเลอะเทอะอยู่บ้าง ถ้าสงสัยให้ลองมองกลับไปที่ภาพยนตร์การแสร้งว่าตนเป็นคนดีต้องเดือดร้อนผู้อื่นเท่าไหร่ (สาดสีเลอะ) แต่สุดท้ายคนก็คิดว่าคนๆ นี้เป็นคนดีของสังคม ในโลกความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น เราว่าจ้างให้คนมาทำร้ายคนๆ หนึ่งและเข้าไปช่วยเหลือ เราสร้างสถานการณ์อันตรายและอ้างเข้าไปยับยั้ง ทั้งหมดคือหน้ากากของคนดีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าภายใต้หน้ากากนั้นคือปีศาจร้ายที่พร้อมหาประโยชน์เข้าตัวอยู่เสมอ ยิ่งหน้ากากสวยเท่าไหร่ผู้คนยิ่งชื่นชมและเข้าหา นอกจากนี้ยังมิวายหาสิ่งดีๆ ให้เหมือนกับที่ปีเตอร์มอบแว่นอีดิธให้กับเควนติน กว่าจะรู้ตัวอำนาจความยิ่งใหญ่ก็ตกไปอยู่ในมือผู้แอบอ้างความชอบธรรมเสียแล้ว
แล้วทำไมคนถึงไม่เอะใจอะไรเลย
Spider Man ไม่ได้เอะใจ Quentin Beck (Mysterio) แม้แต่น้อย / ภาพ: Courtesy of MARVEL
คนเรามักจะเชื่อคนดีเสมอ เครดิตทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมไว้ดิบดี วันหนึ่งเรารู้เบื้องหลังของนักบุญคนหนึ่งต่อให้ตะโกนจนคอพังก็ไม่มีใครเชื่อเพราะหน้ากากที่พวกเขาสร้างมันยอดเยี่ยมเกินกว่าจะถูกดึงออกและทำลาย สื่อก็สำคัญคนเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าดีแค่ไหน พวกเขาจะเลวได้อย่างไรกัน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า “ความจริงบนโลกนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติที่มีคนเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้นเอง” ผู้คนเชื่อความจริงของมิสเตริโอ ฮีโร่หัวใสพลังสีเขียว และนั่นล่ะคือความจริงที่เขาสร้างขึ้น มันคือความจริงในแบบของเขาและถ้าออกแบบมันมาดีพอจริงๆ (มันดีซะยิ่งกว่าดีพอ) มันจะกลายเป็นความจริงของสังคมไปโดยปริยาย “เควนติน เบ็คหรือมิสเตริโอคือสุดยอดซูเปอร์ฮีโร่ผู้ปกป้องมวลมนุษยชาติ” และถ้าวันหนึ่งเราตระหนักถึงเรื่องนี้แบบสไปดี้ เราก็ต้องสู้กับภาพลวงตา สังคมตราหน้าว่าตัวเราสู้กับคนดี...กลายเป็นกระจกที่สะท้อนเราให้เจ็บตัวเสียยิ่งขึ้น มันเหมือนเรากำลังสู้กับมายาคติในจิตใจ ภาพจำของผู้อื่นที่ถูกหล่อหลอมและสุดท้ายมันก็แทบจะไปไม่ถึงตัวผู้มีพลังในการสร้างภาพนั้น ไม่แม้แต่จะได้สัมผัสไรผมด้วยซ้ำไป
บทสรุป
และแล้วเขาก็หลอกทุกคนแม้กระทั่งตัวเอง / ภาพ: Courtesy of MARVEL
เรากำลังวิ่งหาความจริงที่มีความเชื่อเป็นบรรทัดฐานมากเกินไป คำว่า “ดี” เป็นนามธรรมมันไม่สามารถจับต้องได้ เช่นเดียวกับความดีและสีสันของหน้ากากมนุษย์มันเป็นรูปธรรมจอมปลอมที่ถูกสร้างผ่านกรอบความคิดแบบนามธรรม ฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าคนผลิตความจริงขึ้นมาเองในแบบที่คนอยากจะเชื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง เควนตินคือตัวอย่างสำคัญ ผู้คนชอบเรื่องราวความเป็นฮีโร่มาจัดการปัญหาอันใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่เหล่าพลเมืองในภาพยนตร์สไปเดอร์แมนภาคนี้ แต่หมายถึงเหล่าผู้ชมภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในความเป็นจริงทั่วโลกด้วย จึงต้องสร้างภาพเป็นฮีโร่ เควนตินในคราบมิสเตริโอคือบทพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วความจริงเป็นสิ่งไม่มีจริง มันสำคัญแค่ว่าอะไรทำให้คนเชื่อได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง อ่านบทความนี้จบลองคิดทบทวนดูว่าเรากำลังเชื่อหน้ากากจนกลายเป็นเครื่องมือของใครสักคนอยู่หรือเปล่า โลกเสมือนแบบโดรนโฮโลแกรมมันไม่ใช่ความล้ำหน้ามากนักหรอก เพราะทุกวันนี้เราก็มีภูมิปัญญา “การสร้างภาพ” ในแบบฉบับของตัวเองอยู่แล้วจริงไหม...
WATCH