CELEBRITY
เปรียบดั่งแพนโทน... ถอดรหัสแฟชั่นราชินีอังกฤษ! ทำไมควีนฯ ต้องสวมชุดสีสันสดใสถึงเพียงนี้9 นัยแฝงในแฟชั่นของราชินีอังกฤษ |
หลังจากนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย ได้นำเสนอบทความพิเศษสุดเกี่ยวกับความหมายแฝงเร้นบนผ้าคลุมหน้าเจ้าสาว เมแกน มาร์เคิล ซึ่งโยงใยไปถึงกลยุทธ์ทางการเมืองผ่านเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ของราชินีอังกฤษ และมีเสียงเรียกร้องให้บอกเล่าอย่างเต็มอิ่มเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอรื้อฟื้นข้อมูลจากเมื่อครั้งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการสำคัญคือ Fashioning a Reign: 90 Years of Style from the Queen’s Wardrobe ณ พระราชวังบักกิงแฮมอย่างทางเป็นทางการ และคัดสรรประเด็นที่สนใจอีกครั้งมาบอกเล่ากันอีกครั้ง
ชิ้นงานจากทุกทศวรรษตลอดช่วงชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บันทึกเรื่องราวระหว่างฝีเข็ม อีกทั้งยังพิสูจน์แล้วว่าฉลองพระองค์แห่งราชินีนั้นเป็นมากกว่าความงดงาม หากมากนัยแฝงและอิ่มไปด้วยความหมายทางการทูตและการเมือง เรื่อยไปจนถึงประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอังกฤษ โว้กเผย 9 นัยแฝงระดับชาติซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในอาภรณ์อันงดงามของกษัตรีผู้ได้ชื่อว่าถูกจับภาพมากที่สุดในโลก
นิทรรศการ Fashioning a Reign: 90 Years of Style from the Queen’s Wardrobe จัดแสดงฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระราชวังบักกิงแฮม
1. โครงทรงของฉลองพระองค์ภายหลังการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ได้รับการตีความใหม่โดย นอร์มแมน ฮาร์ตเนลล์ ให้แตกต่างจากของพระราชมารดาของพระองค์และทรงอำนาจสมฐานะกษัตริย์ โดยเพิ่มความคมชัดและโครงแข็งในชิ้นงานมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ควีนมัมยังทรงนิยมอาภรณ์สไตล์พลิ้วไหว สีสันอ่อนหวาน ตกแต่งรายละเอียดแนวเสื้อผ้าละคร ซึ่งเหมาะสมกับบทบาทของ “แม่...ผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง”
2. สีของฉลองพระองค์เองมักปรากฏเป็นโทนสีโล้นที่สดสว่างและเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่ายจากระยะไกล โดยมากผู้คนมักเข้าใจผิดว่าฉลองพระองค์มีรูปแบบคล้ายเดิมตลอดมา แต่แท้จริงแล้วนั่นคือโค้ตกลางวันซึ่งทรงสวมทับฉลองพระองค์จริงด้านในไว้เสมอ โดยวัสดุผ้าซึ่งพระองค์ทรงเลือกใช้บ่อยครั้งมาจากคลังส่วนพระองค์เองที่ย้อนรอยสะสมไปได้ถึงปี 1961
สีของฉลองพระองค์มักปรากฏเป็นโทนสีโล้นที่สดสว่างและเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่ายจากระยะไกล
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมโค้ตกลางวันทับฉลองพระองค์จริงด้านในไว้เสมอ
3. พระมาลาหรือหมวกของพระองค์นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อจำลองการสวมมงกุฎและเพิ่มความสูงให้กับพระองค์ และเพื่อให้ราษฎรผู้มาเฝ้ารับเสด็จสังเกตเห็นพระองค์ได้อย่างง่ายดาย ลักษณะของพระมาลาจึงได้รับการออกแบบให้เปิดพระพักตร์อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 100 พรรษาของควีนมัม (สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี) ปีกพระมาลาของพระองค์กลับถูกกดลงจนเกิดเงาคาดพระพักตร์เพื่อ “ฉายแสง” ให้กับพระราชมารดาแทน
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวมหมวกเพื่อจำลองการสวมมงกุฎและเพิ่มความสูงให้กับพระองค์
พระมาลาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากนิทรรศการ Fashioning a Reign: 90 Years of Style from the Queen’s Wardrobe ณ พระราชวังบักกิงแฮม
พระมาลาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากนิทรรศการ Fashioning a Reign: 90 Years of Style from the Queen’s Wardrobe ณ พระราชวังบักกิงแฮม
4. แนวพระศอหรือช่วงคอเสื้อได้รับการปรับจังหวะให้ทรงขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับแนวกระโปรงที่มักได้รับการถ่วงไว้ด้วยเทคนิคการตัดเย็บนานาเพื่อให้ “เห็นหัวเข่าให้น้อยที่สุด” หรือแม้ในยุคที่ชายกระโปรงของพระองค์ได้รับการปรับเลื่อนขึ้น (เล็กน้อย) ตามกระแสมินิสเกิร์ตครองเมืองในทศวรรษ 1960 ดีไซเนอร์ ฮาร์ดี เอมิส ก็เคยอธิบายไว้เพียงสั้นๆ ว่า “สั้นได้ที่สุดเท่านี้”
ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากนิทรรศการ Fashioning a Reign: 90 Years of Style from the Queen’s Wardrobe ณ พระราชวังบักกิงแฮม
WATCH
5. ฉลองพระองค์สุ่มบานแขนสั้นซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมเพื่อขึ้นครองราชย์ในราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 แอบแฝงสัญลักษณ์ประจำประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพผ่านลายปักงดงามแนบเนียน ซึ่งทรงมีพระราชดำริและรับสั่งแก่ดีไซเนอร์คุ่บุญนาม นอร์แมน ฮาร์ตเนลล์ ด้วยพระองค์เอง กล่าวคือ กุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษ, ไม้หนามแห่งสกอตแลนด์, กระเทียมต้นแห่งเวลส์, ใบโคลเวอร์แห่งไอร์แลนด์, ใบเมเปิลแห่งแคนาดา, กระถินแห่งออสเตรเลีย, เฟิร์นเงินแห่งนิวซีแลนด์, โพรเทียแห่งอัฟริกาใต้, ดอกบัวแห่งอินเดียกับศรีลังกา และ รวงข้าวสาลี ปุยฝ้ายและปอแห่งปากีสถาน
ภาพวาดฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมเพื่อขึ้นครองราชย์ในราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 โดยนอร์แมน ฮาร์ตเนลล์
6. ฉลองพระองค์ผ้าไหมสีงาช้างในพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 กับเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก (หรือดยุกแห่งเอดินบะระในเวลาต่อมา) ปรากฏสัญลักษณ์รูปดาวบนชายผ้าคลุมยาวร่วม 15 ฟุต ที่แฝงนัยถึงการเกิดใหม่และความก้าวหน้าของชาติหลังภาวะสงครามซึ่งทั่วโลกต้องเผชิญ ชิ้นงานเองยังเปรียบได้กับเครื่องหมายของต้นแบบผู้เคารพกติกาสังคม เนื่องจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธในขณะนั้นทรงทำตามนโยบายของรัฐบาลอังกฤษด้วยการจ่ายค่าชุดแต่งงานทั้งหมดด้วยคูปองสงครามที่พระองค์สะสมไว้
ฉลองพระองค์ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
7. รูปแบบของฉลองพระองค์ล้วนเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ทางการเมืองการทูตแทบทั้งสิ้นเนื่องจากพระองค์ทรงใช้ชิ้นงานเป็นเส้นด้ายร้อยต่อวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน ผ่านการออกแบบอาภรณ์ซึ่งขึ้นตรงกับฝีมือของกูตูริเยร์ชาวเมืองผู้ดีเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือฉลองพระองค์สีชมพูสดในการเสด็จเยือนประเทศอินเดียเมื่อปี 1961 (สอดคล้องกับคำคมระดับตำนานของ ดีอาน่า วรีแลนด์ อดีตบรรณาธิการโว้กฉบับอเมริกาที่ว่า “สีชมพูคือกรมท่าของอินเดีย”) เรื่อยไปจนถึงฉลองพระองค์ยามทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสภาสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1999 ซึ่งชิ้นงานโค้ตผ่าหน้าสีม่วงเข้มชัดเจนว่ามาจากสีของดอกธิสเซิล สัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ ในขณะที่ฉลองพระองค์สีเหลืองสดฝีมือ ฮาร์ดี เอมิส ซึ่งทรงสวมขณะเสด็จเยือนกรุงอาบูดาบีเมื่อปี 1979 นั้นห่มคลุมราวเครื่องแต่งกายสตรีอาหรับ
ฉลองพระองค์ยามทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสภาสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1999
8. ฉลองพระองค์สีโอลด์โรสที่พระองค์ทรงสวมเพื่อเสด็จร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ได้รับการคำนวณด้านสีมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้คล้ายกันกับโทนสีของห่วงทั้ง 5 ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละทวีปหรือแม้แต่สัมพันธ์กับสีของชาติใดเป็นพิเศษ ฉลองพระองค์อัดกลีบและประดับลูกไม้นี้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกัน 2 ชุด (ให้พระองค์สวมเพื่อถ่ายคลิปวีดิโอร่วมกับ แดเนียล เครก ในบท เจมส์ บอนด์ พร้อมกันกับให้สตันต์แมนสวมเพื่อโรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์) โดยที่ช่างตัดเย็บไม่มีใครทราบด้วยซ้ำว่าผู้สวมคือใครและสั่งตัดทีเดียวพร้อมกัน 2 ชุดไปเพื่ออะไร
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถ่ายคลิปวีดิโอร่วมกับ แดเนียล เครก ในบท เจมส์ บอนด์
ฉลองพระองค์สีโอลด์โรสที่พระองค์ทรงสวมเพื่อเสด็จร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2012 ณ กรุงลอนดอน
9. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นอีกหนึ่งสตรีผู้มองการณ์ไกลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสนับสนุนบุคลากรสายแฟชั่นเลือดใหม่ ดังเช่นเมื่อครั้งจัดการประกวดออกแบบเสื้อคลุมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 1952 ก่อนจะได้ผู้ชนะเป็น แมเรียน โฟเอล นักศึกษาปี 2 วัย 21 ปีจากวิทยาลัย Royal College of Art ซึ่งท้ายที่สุดฉลองพระองค์เสื้อคลุมที่เธอออกแบบได้รับการตัดเย็บโดยช่างฝีมือประจำราชสำนัก และยังคงได้รับการเพียรใช้ในราชพิธีมาจนถึงทุกวันนี้
ผลงานจากการประกวดออกแบบเสื้อคลุมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 1952 ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2ให้การสนับสนุน
เรื่อง: สธน ตันตราภรณ์
ภาพ: สธน ตันตราภรณ์, อินสตาแกรม
WATCH