CELEBRITY

คุยกับมุทิตา และปรินท์ สารสิน คู่รักที่หลงใหลในความวินเทจอย่างสุดขั้ว

เมื่อจิตวิญญาณ 2 ดวงผูกสมัครรักใคร่กันและรักในทุกสิ่งวินเทจ โซลเมตอย่างมุทิตา (ผักกาด) และ ปรินท์ สารสินมิได้กักขังตัวเองไว้ในโลกเก่า แต่ดำดิ่งสู่โลกวินเทจด้วยนิยามสดใหม่และเป็นปัจจุบันที่พ้นไปจากการโหยหาอดีต

เมื่อจิตวิญญาณ 2 ดวงผูกสมัครรักใคร่กันและรักในทุกสิ่งวินเทจ โซลเมตอย่างมุทิตา (ผักกาด) และ ปรินท์ สารสินมิได้กักขังตัวเองไว้ในโลกเก่า แต่ดำดิ่งสู่โลกวินเทจด้วยนิยามสดใหม่และเป็นปัจจุบันที่พ้นไปจากการโหยหาอดีต

 

ปรินท์: ความชอบวินเทจเริ่มมาตั้งแต่เด็ก การได้ใกล้ชิดกับญาติผู้ใหญ่ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือของดีและของจริง อย่างคุณยายผมใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ พูดภาษาฝรั่งเศสได้เหมือนคนฝรั่งเศสพูด ท่านเป็นผู้หญิงที่เท่มาก คล้ายกับเป็นโรลโมเดลของเรา ทั้งการฟังเพลง ดูหนัง สไตล์การตกแต่งบ้าน จนถึงวิธีการแต่งตัว ทุกอย่างไปในทิศทางของวินเทจแบบไม่ได้จงใจ เรามองว่าของที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่น่าสนใจ แต่ความยูนีกของมันก็น้อยลง จริตเราเลยไปทางวินเทจมากกว่า

 

มุทิตา: เราไม่ใช่คนเทรนดี้ เราเลือกในสิ่งที่คิดว่ามันจะอยู่ไปได้ตลอด ไม่มีอะไรฉาบฉวย เคยบอกปรินท์ว่าถ้าเขาจะซื้ออะไรให้ อยากได้จดหมายเขียนด้วยลายมือมากกว่ากระเป๋าคอลเล็กชั่นใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะมีแต่ของเก่า เราผสมผสานของใหม่ด้วย แต่ทุกชิ้นจะมีเรื่องราวน่าสนใจเสมอ ยกตัวอย่างสร้อยมุกที่ใส่วันนี้เป็นของใหม่จาก Camrose & Kross เป็นแบรนด์เดียวที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสร้อยมุกแบบที่ Jackie Kennedy เคยใส่ หรือแว่นกันแดดก็เป็นของใหม่จากแบรนด์ Oliver Goldsmith ที่ Audrey Hepburn ใส่ในหนังเรื่อง Breakfast at Tiffany’s ปรินท์รู้ว่าเราชอบออเดรย์มาก แอบถามว่าเรามีแว่นแบบนี้หรือยัง เขาชอบหาซื้อเครื่องประดับตามร้านวินเทจหรือดีวีดีหนังเก่าเรื่องที่เราชอบมาให้

 

ปรินท์: ผักกาดไม่มีคอมพิวเตอร์ เคยมีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

มุทิตา: มีโทรศัพท์ไว้เช็กอีเมลและกูเกิลบางอย่าง ปรินท์เพิ่งแนะนำให้ดู Netflix ถือว่าเป็นโลกใหม่มาก แต่ส่วนตัวชอบดูหนังเก่าจากดีวีดี บอกซ์เซตผลงานของออเดรย์ เฮปเบิร์น มีเกือบครบทุกเรื่อง ตอนแต่งงานก็นึกถึงเพลง Think Pink จากหนังเรื่อง Funny Face ที่ออเดรย์เล่น หยิบสีชมพูในหนังมาเป็นธีมงานทันที ออเดรย์เป็นนักแสดงที่เราชอบที่สุดแล้ว เป็นผู้หญิงสวยสง่า พูดได้ 5 ภาษา แต่สูบบุหรี่วันละ 2-3 ซอง ดื่มเหล้า เคยแท้งลูก เคยมี Affair ชีวิตมีขึ้นมีลงและมีความเป็นมนุษย์มาก เขามีอิทธิพลกับเราในด้านความเป็นตัวของตัวเอง และถ้าจะมองในแง่ที่เขาเป็นสไตล์ไอคอน เขาก็ไม่เคยให้เสื้อผ้ามากลบตัวตน เราสนใจในแง่นั้นมากกว่า

 

ปรินท์: เรา 2 คนมีทริปตามรอยวินเทจด้วยกันเยอะมาก เคยไปอเมริกาตามหาแม่น้ำในเพลง Moon River จากหนัง Breakfast at Tiffany’s ล่าสุดก็เพิ่งไปฮันนีมูนกันที่ปารีส 2 อาทิตย์ ตามรอย Ernest Hemingway นิดๆ คือไปนั่งคาเฟ่ที่นักคิด นักเขียนยุค Lost Generation ช่วงยุค 1920 ชอบมานั่งคุยกัน อยากรู้ว่าอะไรสร้างแรงบันดาลใจให้คนเหล่านี้ สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ซึ่งเมื่อเราไปนั่งในที่ที่เขาเคยอยู่แล้วก็เข้าใจ ไลฟ์สไตล์คนฝรั่งเศสเดินช้า นั่งคาเฟ่ คุยกัน เป็นไปได้ที่คนยุคนั้นมีเวลาถกเถียงและพัฒนาทางความคิดหลายๆ อย่างขึ้นมา

 

 

มุทิตา: ไม่แน่ว่าเราอาจเหยียบอิฐก้อนเดียวกับออเดรย์หรืออาจนั่งที่เดียวกับ F. Scott Fitzgerald ก็ได้

ปรินท์: เมสเสจที่ได้จากตรงนั้นเหมือนหนังเรื่อง Midnight in Paris ของ Woody Allen การที่เราได้ไปอยู่ตรงนั้นก็เพื่อจะรับรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างผลงาน ทำให้เราหยิบความเป็นมาสเตอร์ในด้านต่างๆ กลับมามองโลกยุคปัจจุบันด้วยสายตาที่สดใหม่และอยากสร้างสรรค์อะไรบางอย่างในยุคสมัยของเราในแบบของเรา เพราะวันนี้จะให้เราแต่งตัวหรือทำทุกอย่างเหมือนคนในยุคนั้นก็ไม่ใช่และเป็นไม่ได้ด้วย ข้อดีของการศึกษาประวัติศาสตร์ก็คือเราจะทำอะไรอย่างมีที่มาที่ไปมากขึ้น มีความลึกของการคิดมากกว่าจะไปเห็นรูปหรือเสิร์ชอินเทอร์เน็ตแล้วก๊อบปี้มาใช้ตรงๆ

 

 

มุทิตา: ไม่ใช่ว่าไม่สนใจเทรนด์ใหม่ๆ แต่เราแฮปปี้ในแบบที่เราชอบ ซึ่งมันค่อนข้างเจาะจงมากจนไม่ได้คิดว่าสิ่งอื่นจะมีผลกับความชอบของเรา อย่างเรื่องเพลงนี่ชัดมาก ถ้าได้ยินเพลงยุคนี้เราก็ไม่รู้แล้วนะว่าเป็นเพลงของใคร ไม่รู้จักศิลปินใหม่ๆ เพราะเรามีซีดีที่เลือกเฉพาะเพลงเก่าที่เราชอบ เพลงใหม่สุดของเราคือ Madonna กับ Abba ช่วงยุค 1980 แต่อีกด้านหนึ่งของปรินท์นอกจากเป็นนักธุรกิจยังเป็นนักดนตรีด้วย ฟังเพลงหลากหลาย ชอบดูหนังหลายแนว หนังซูเปอร์ฮีโร่นี่ชอบมาก เราก็ดูตาม แต่ดูจบภาคนี้ก็ลืมว่าภาคที่แล้วเรื่องเป็นอย่างไร

 

ปรินท์: การได้เจอผักกาดน่าจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด ของการที่เราชอบอะไรแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องวินเทจนะครับ เพราะเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าชอบอะไร เพราะอะไร แต่การได้มาเจอผักกาดทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะเราสนใจเรื่องเดียวกัน ผมยังทึ่งเสมอในความรู้เรื่องราวเก่าๆ ที่เขามี โดยเฉพาะเรื่องหนังเก่า เวลาเราคุยกันจะฟุ้งลงไปลึกมาก เหมือนย้อนไทม์แมชีนด้วยบทสนทนา

 

มุทิตา: เป็นคนชอบเสพอะไรซ้ำๆ หนังเรื่อง Gone with the Wind ที่ยาวเกือบ 4 ชั่วโมง ผักกาดดูเกิน 8 รอบ และด้วยความที่เสพมีเดียเก่าเยอะทำให้หลายอย่างไม่ใหม่สำหรับเรา หนังยุคนี้บางเรื่องสนุกมาก แต่เรารู้ทันทีว่าเอาพลอตมาจากหนังเก่า ซึ่งเราเคยชินกับงานของมาสเตอร์จนไม่ตื่นเต้นกับงานยุคใหม่มากนัก แต่เราเคารพความหลากหลาย เพราะคนเราชอบอะไรไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

 

ปรินท์: ถ้าถามว่าของวินเทจที่เรามีชิ้นไหนมีคุณค่าทางจิตใจที่สุดตอบยากมาก ไม่มีของชิ้นไหนที่มีค่ามากไปกว่าความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ ถ้าจะให้อยู่คนเดียวกับกองสมบัติแอนทีก วินเทจ หรือของเก่าหายากมันไม่มีความหมายครับ แต่การได้อยู่กับคนที่เราสามารถแชร์เรื่องราวต่างๆ ได้นั่นคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดแล้ว เพราะท้ายที่สุดตัวสิ่งของเองไม่มีความหมายเลยมันเป็นเหมือนเครื่องมือให้เราได้เอนจอยคุณค่าบางอย่างเมื่อเรารู้ว่าของชิ้นนั้นมีความหมายต่อเจ้าของเก่าอย่างไร อย่าง The House on Sathorn นี่ก็เช่นกัน ผมไม่ได้มองว่าคุณค่าอยู่ที่บ้านหลังนี้สร้างในยุคสมัยไหน แต่ให้คุณค่าว่าคนที่อยู่ในบ้านหลังนี้ซึ่งอดีตคือสถานทูตรัสเซียเขาเคยมีชีวิตอย่างไร ในห้องที่เรานั่งอยู่นี้เคยใช้ร่างสัญญาสำคัญอะไรมาก่อนหรือเปล่า เราทั้งคู่หลงใหลวินเทจส่วนหนึ่งก็เพราะความหายากของมัน ถ้าเปรียบเป็นคนก็เหมือนบางคนที่เรารู้จักที่อาจมีโอกาสได้คุยกันน้อยลงไปทุกวัน หรือวันดีคืนดีอาจไม่ได้คุยกันอีกแล้ว เช่นเดียวกับของวินเทจ โอกาสที่เราจะได้เจอของชิ้นนั้นและได้เข้าใจความหมายของมันน้อยมากและอาจน้อยลงไปทุกที ฉะนั้นหากว่าเราได้เจอก็ถือว่าเป็นโชคชะตาจริงๆ

 

เรื่องและสัมภาษณ์: กวีภัช โชคประวิณ

แต่งหน้า: รัตนโชติ โพธิ์ขำ

ทำผม: หฤษฎ์ ปัญญาอ้าย

สถานที่: The House on Sathorn

WATCH