CELEBRITY

สุดยอด 9 โมเมนต์ลืมไม่ลงแห่งประวัติศาสตร์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส

ใครจะไปลืมเหตุการณ์เหล่านั้นได้!

ในบรรดาเวทีนางงามกว่าร้อยกว่าพันเวทีปฏิเสธไม่ได้ว่าเวทีประกวดที่ได้ชื่อว่าทรงเกียรติและเป็นที่ปรารถนาของสาวงามทั่วโลกสูงสุดคือเวที “มิสยูนิเวิร์ส” หรือ “นางงามจักรวาล” ตลอดเวลากว่า 66 ปี เวทีมิสยูนิเวิร์สมีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่คนทั้งโลกไม่อาจลืมบ้าง นี่คือ 9 โมเมนต์ลืมไม่ลงที่บอกเล่าจากปากของคุณเชรี่-ไอศวรรฎา ศิริลักษณ์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้นางงามจักรวาล และกูรูเรื่องนางงามที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนคลั่งนางงาม” ตัวจริง!

 

1. นางงามจักรวาลคนแรกและคนเดียวที่สละมงกุฎ!

มิสยูนิเวิร์สปี 2002 นางงามจากประเทศรัสเซียอย่าง Oxana Fedorova ปฏิบัติภารกิจในฐานะนางงามจักรวาลได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ด้วยความกดดันและปัญหารอบตัวต่างๆ ที่เธอมีในเวลานั้นทำให้ Oxana ตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งก่อนจะครบวาระ 1 ปี เธอคือนางงามจักรวาลคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ขอสละมงกุฎ หลังจากนั้นกองประกวดจึงแต่งตั้ง Justine Pasek นางงามรองอันดับ 1 จากประเทศปานามาขึ้นเป็นมิสยูนิเวิร์สแทน จึงทำให้มีนางงามจักรวาลในปีนั้นถึง 2 คน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการประกวดนางงามเกิดขึ้นมาแล้ว 66 ครั้ง แต่มีนางงามจักรวาลรวมทั้งสิ้น 67 คน

 

 

Oxana Fedorova มิสยูนิเวิร์สปี 2002 ชาวรัสเซียที่สละมงกุฎให้กับ Justine Pasek นางงามรองอันดับ 1 จากประเทศปานามา 

 

2. ชาติเดียวที่สามารถครองมงกุฎได้ถึง 2 ปีซ้อน

ย้อนไปที่การประกวดนางงามจักรวาลในปี 2008 นางงามจากประเทศเวเนซุเอลา Dayana Mendoza คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลไปครอง ถัดมาในปี 2009 ผู้เข้าประกวด Stefanía Fernández จากประเทศเดียวกันคว้ามงกุฎไปครองอีกครั้งในปีติดๆ กัน ซึ่งในประวัติศาสตร์การประกวดไม่เคยมีชาติใดที่สามารถครองมงกุฎถึง 2 ปีซ้อน

 

 

(ซ้าย) Stefanía Fernández นางงามจักรวาลปี 2009 , (ขวา) Dayana Mendoza นางงามจักรวาลปี 2008 ทั้งคู่เป็นนางงามจากเวเนซุเอลาที่ได้ตำแหน่ง 2 ปีซ้อน

 

3. นางงามจักรวาลคนเดียวที่ไม่ได้มาอำลาตำแหน่ง

ในช่วงการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 1972 จัดขึ้นที่เกาะเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นการจัดการประกวดนอกสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและมีข่าวการขู่ลอบวางระเบิดแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้การประกวดนางงามในปีนั้นเป็นไปด้วยความรัดกุม ส่งผลให้นางงามปีก่อนอย่าง Georgina Rizk นางงามจักรวาลจากเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศัตรูรอบด้านไม่สามารถเดินทางมาอำลาตำแหน่งตามธรรมเนียมปฏิบัติได้ ด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัย

 

4. ประกาศผลผิดครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

รอบสุดท้ายของการประกวดนางงามจักรวาลปี 2015 สตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรผู้ดำเนินรายการประกวดในปีนั้นประกาศผู้ครองมงกุฎมิสยูนิเวิร์สให้เป็นของโคลัมเบีย จากนั้นจึงมีการประกาศต่อว่าเป็นการผิดพลาดเนื่องจากแท้จริงแล้วมิสฟิลิปปินส์คือผู้ครองมงกุฎตัวจริง ทำให้ Pia Wurtzbach นางงามจักรวาลในปีนั้นพลาดโมเมนต์สำคัญที่เรียกกันว่า Crowning Moment ในวินาทีคว้าชัย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อสร้างกระแสให้กับกองประกวดเท่านั้น เนื่องจากปี 2015 เป็นปีแรกที่ William Morris Endeavor เข้ามารับกิจการมิสยูนิเวิร์สต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้อำนวยการกองประกวดคนก่อนที่ขายกิจการเพื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว

 

Pia Wurtzbach นางงามจักรวาลปี 2015 จากประเทศฟิลิปปินส์ / ภาพ: Miss Universe

 

5. นางงามจักรวาลกลางพฤษภาทมิฬ

ในเดือนพฤษภาคมปี 1992 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประกวดนางงามจักรวาลเป็นครั้งแรก แต่การประกวดในครั้งนั้นดันไปคาบเกี่ยวกับช่วงเหตุการณ์ชุลมุนทางการเมืองอย่างพฤษภาทมิฬพอดีเป๊ะ ในขณะที่ถนนราชดำเนินเต็มไปด้วยขบวนประท้วงและความรุนแรง เมื่อตัดภาพไปที่ด้านในของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เหล่าสาวงามกำลังประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบสุดท้ายกันอย่างเข้มข้น ซึ่งเมื่อสื่อต่างๆ ไปจ่อไมค์ถามนางงามทั้งหลายพวกเธอก็ได้แต่ตอบว่า “I don’t know”

 

6. เหตุการณ์การฟ้องร้องเปลี่ยนมงกุฎ

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาบริษัทผู้ผลิตเพชรยักษ์ใหญ่อย่าง D.I.C หรือ Diamonds International Corporation ขอเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ผู้ทำมงกุฎให้กับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหลายคนจะจำได้ดีจากมงกุฎอันโด่งดังของ Pia Wurtzbach เมื่อครั้งประกาศผลผิดในปี 2015 เป็นมงกุฎที่มีมูลค่ามหาศาลราวๆ 300,000 เหรียญ หรือราวๆ 10 ล้านบาท

 

(ซ้าย) มงกุฏนางงามจักรวาลจากบริษัทผลิตเพชร D.I.C ที่ใช้ในปี 2015 , (ขวา) มงกุฏไข่มุกจากบริษัท Mikimoto ที่ใช้ในปี 2017

 

ตามกฏของกองประกวดเมื่อนางงามจักรวาลดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีและพ้นตำแหน่งแล้ว นางงามจะต้องคืนมงกุฎให้กับกองประกวดเก็บรักษาไว้ และบริษัทผู้ผลิตมงกุฎจะต้องผลิตมงกุฎขนาดจำลองให้กับนางงามเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ความขัดแย้งระหว่าง D.I.C และกองประกวดเกิดขึ้นเมื่อ D.I.C ไม่ยอมผลิตมงกุฎขนาดจำลองให้กับนางงาม ส่งผลให้นางงามในปี 2014-2016 ไม่มีมงกุฎจำลองเก็บไว้ชื่นชม กองประกวดมิสยูนิเวิร์สจึงยื่นฟ้องขอเลิกใช้มงกุฎของ  D.I.C อย่างถาวร และหากคุณสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในปี 2017 กองประกวดกลับมาใช้มงกุฎของ Mikimoto ซึ่งเป็นมงกุฎไข่มุกที่มีมูลค่าถึง 250,000 เหรียญ สวมให้กับมิสยูนิเวิร์สจากแอฟริกาใต้แล้ว ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่กองประกวดลงทุนยื่นฟ้องสปอนเซอร์

 

 

(ซ้าย) มงกุฎนางงามจักรวาลจากบริษัทผลิตเพชร D.I.C ที่ใช้ในปี 2015 , (ขวา) มงกุฎไข่มุกจากบริษัท Mikimoto ที่ใช้ในปี 2017 / ภาพ: Miss Universe

 

7. นางงามจักรวาลผิวสีคนแรกของโลก

ย้อนไปที่การประกวดนางงามปี 1977 Janelle Commissiong เป็นนางงามผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส  ในยุคที่สังคมยังปิดกั้นเรื่องสีผิว เชื้อชาติ และเพศ การครองมงกุฎของเธอจึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางของสาวผิวสีทั่วโลกบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

 

 

Janelle Commissiong เป็นนางงามผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี 1977

 

8. นางงามจักรวาลผิวสี 2 ปีซ้อน

หลังจากที่ Wendy Fitzwilliam นางงามจักรวาลผิวสีจาก Trinidad & Tobago ครองมงกุฎในปี 1998 ทั่วโลกกำลังหลงเชื่อว่าคงอีกนานกว่าเราจะได้นางงามจักรวาลผิวสีอีกคน แต่กองประกวดได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ชมทั่วโลกเมื่อนางงามผิวสีคนก่อนสวมมงกุฎให้กับนางงามจักรวาลคนใหม่อย่าง Mpule Kwelagobe จาก Botswana ซึ่งเป็นนางงามผิวสีเช่นกัน

 

9. ไฟดับตอนประกาศผล

เมื่อครั้งประกวดนางงามจักรวาลปี 1972 ที่เปอร์โตริโก้ สัญญาณการถ่ายทอดเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงเวลาของการประกาศผล 5 คนสุดท้ายไฟฟ้าเกิดดับทำให้สัญญาณภาพขัดข้อง เมื่อตัดภาพกลับมาอีกทีนางงามจักรวาลในปีนั้นคือ Kerry Anne Wells ก็ครองมงกุฎและเดินโบกมือตามประเพณีเป็นที่เรียบร้อย แต่ภายหลังมีข่าวว่าสำนักข่าวของฮ่องกงสามารถบันทึกเทปเอาไว้ได้ จึงมีภาพออกมาให้ชมในหลายปีให้หลัง

 

เรื่อง: เชรี่-ไอศวรรฎา ศิริลักษณ์

สัมภาษณ์: ปภัสรา นัฏสถาพร

ภาพ: Miss Universe

 

WATCH