CELEBRITY

เบื้องหลังสุดโหดของการแสดงคาบูกิ! ภายใต้ฉากหน้าอันสวยงามคือความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส

เมื่อพูดถึงการแสดงแล้ว พวกเขาเหมือนถูกฉุดดึงเข้าไปสู่โลกแห่งความฝันอันไร้จุดสิ้นสุด

ภายใต้สีหน้าที่เรียบเฉยไม่แสดงความรู้สึกใดๆ ยิ่งดูบ้าใบ้เมื่ออยู่ใต้แป้งฝุ่นสีขาวที่พอกทุกอณูเนื้อของใบหน้า นี่คือความรู้สึกของคนตะวันตกเมื่อแรกเห็นภาพนักแสดงคาบุกิของญี่ปุ่น แต่เมื่อพูดถึงการแสดงแล้ว พวกเขาเหมือนถูกฉุดดึงเข้าไปสู่โลกแห่งความฝันอันไร้จุดสิ้นสุด ทั้งเครื่องแต่งกายที่หรูหราอลังการ การแต่งหน้าที่บอกบทบาท รวมทั้งการแสดงที่ล้นเกินจริง (อากาโกโตะ) ทำให้นักแสดงคนเดียวกันสามารถเป็นได้ทั้งพระเอก นางเอก โจร ยักษ์ นักบวช ฯลฯ

 

บทความนี้เริ่มที่ความหนาวเย็นของหิมะที่ตกหนักแบบผิดวิสัยในกรุงโตเกียวซึ่งไม่มีหิมะตกมาหลายปีแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้แถวรอซื้อตั๋ว “มะคุมิ” (ตั๋วชมการแสดงตอนเดียว) ที่ “คาบุกิซะ” หรือโรงละครซึ่งเล่นคาบุกิย่านกินซ่าสั้นลงแม้จะต้องรออยู่ด้านนอกตัวอาคารท่ามกลางหิมะโปรยปรายและส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่น เพราะการแสดงเรื่องต่อไปคือ “คันจินโจ ต่อจาก “โคโจ” หรือการประกาศหน้าม่านครั้งสำคัญรับปีใหม่นี้

 

 

 

การประกาศหน้าม่านในครั้งนี้สำคัญนักเพราะเป็นพิธีเปลี่ยนชื่อใหม่หรือ “ชูเม” สำหรับนักแสดงคาบุกิ 3 คนที่เป็นสายเลือดเดียวกันคือ ปู่มัตซึโมโตะ โคชิโร ที่ 11 (ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติของญี่ปุ่น) กับชื่อใหม่คือ มัตซึโมโตะ ฮะคุโอที่ 2 ส่วนลูกคือ อิจิคาวะ โสะเมะโกโร ที่ 7 (นักแสดงคาบุกิผู้โด่งดังของยุคนี้ เคยเปิดเวทีแสดงคาบุกิกลางสระน้ำพุของโรงแรม Bellagio ที่ลาสเวกัส) กับชื่อใหม่ มัตซึโมโตะ โคชิโร ที่ 10 และหลาน มัตซึโมโตะ คินทาโร กับชื่อใหม่ อิจิคาวะ โสะเมะโกโร ที่ 8 หลังพิธีชูเม (ขายบัตรมะคุมิให้เข้าชมด้วย) ก็จะแสดงเรื่อง คันจินโจ ที่พ่อคือมัตซึโมโตะ โคชิโร ที่ 10 แสดงเป็นพระเบนเค และบุตรชายคืออิจิคาวะ โสะเมะโกโร ที่ 8 แสดงเป็นโยชิสุเนะ แฟนคลับคาบุกิจึงไม่ยั่นกับการยืนตากหิมะเพื่อรอซื้อบัตรมะคุมิเพราะบัตรรอบเต็มขายหมดเกลี้ยงนานแล้ว

 

ไฮไลต์ที่นักแสดง 3 รุ่นสายเลือดเดียวจะอยู่บนเวทีเดียวกันนั้นเป็นโปรแกรมการแสดงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นงานใหญ่มาก เนื่องจากมีแฟนคลับตัวยงของมัตซึโมโตะ โคชิโร ที่ 10 หรือชื่อเดิม อิจิคาวะ โสะเมะโกโร ที่ 7 เสนอออกทุนสร้างฉากของการประกาศหน้าม่านหรือพิธีชูเม เขาจึงไปขอให้คุซามะ ยาโยอิ ศิลปินเอกของญี่ปุ่นในปัจจุบันวาดม่านโรงละครในพิธีชูเมเดือนกุมภาพันธ์ให้

 

 

 

คาบุกิเป็นการแสดงที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการแสดงของไมโกะชื่อ อิซูโม โนะ คูโอนิ เธอดัดแปลงการร่ายรำเพื่อถวายเทพเจ้าของศาสนาชินโตมาเปิดการแสดงที่ริมฝั่งแม่น้ำของเกียวโต การแสดงของเธอเป็นที่กล่าวขวัญจนได้ไปแสดงให้พระจักรพรรดิชมและได้มีการก่อตั้งคณะละครแบบเธอขึ้นมาโดยนักแสดงเป็นหญิงล้วนทั้งหมด ต่อมาคณะละครหญิงไปพัวพันกับข่าวฉาวว่ามีการขายบริการทางเพศแฝง ในที่สุดจึงมีการสั่งให้เลิกการแสดงคาบุกิ

 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการความบันเทิงรูปแบบร้อง เต้น เล่นละครกลับมีมาก จึงเกิดคณะละครคาบุกิชายล้วนขึ้นมา โดยนักแสดงต้องเล่นได้ทั้งบทผู้หญิงและผู้ชาย คนที่แสดงบทผู้หญิงได้เก่งก็จะได้รับความนิยมมาก แต่ในที่สุดก็เจอปัญหาเดิมคือมีการกล่าวหาว่ามีการขายบริการทางเพศของนักแสดงจนมีการสั่งห้ามการแสดงอีกครั้ง ซึ่งเหตุหนึ่งอาจมาจากการแสดงคาบุกินิยมนำเอาเหตุบ้านการเมืองในช่วงนั้นๆ มาดัดแปลงเป็นละคร และมีบทพูดที่เสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองด้วยก็เป็นได้ หนึ่งในบทละครคาบุกิที่สร้างมาจากการเมืองอื้อฉาวคือ ชูชินคุระ” ซึ่งแม้แต่ฮอลลีวู้ดยังนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 47 Ronin โดยพลอตเรื่องมาจากเหตุการณ์จริงต้นศตวรรษที่ 18 ที่ซามูไรไร้นายหรือโรนิน 47 คนได้ช่วยกันล้างแค้นแทนนาย เป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจผิดกฎหมายแต่ได้ใจคนทั่วไป เหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำมาแต่งเป็นบทสำหรับแสดงหุ่นกระบอกก่อน จากนั้นในปีเดียวกันจึงมีการแสดงในรูปแบบละครคาบุกิและได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 300 ปี

 

 

 

เมื่อชมคาบุกิเรื่อง คันจินโจ จบก็รู้สึกประทับใจมากแม้จะดูจากมุม Bird’s eye view จากชั้นบนสุดยืนอยู่หลังสุดเพราะตั๋วราคา 400 บาท ในขณะที่ราคาชั้นล่างคือเกือบ 6,000 บาทสำหรับที่นั่งเฟิสต์คลาส และแพงที่สุดคือชั้นบอกซ์ซึ่งเต็มตลอดเพราะผู้อุปถัมภ์คาบุกิมีเยอะมาก และถึงแม้ว่าจะไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น แต่ก็สามารถเพลิดเพลินกับการชมคาบุกิได้เพราะนี่คือการแสดงที่มาพร้อมลีลาเครื่องแต่งกายและเสียงประกอบต่างๆ ยิ่งกับบทละครคาบุกิคลาสสิกที่เป็นของโบราณนั้น คนญี่ปุ่นในปัจจุบันเองก็อาจฟังไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดการแสดง “ซูเปอร์คาบุกิ” ที่ใช้ภาษาปัจจุบันในการนำเสนอเรื่องราวคลาสสิกต่างๆ และได้รับความนิยมมากเช่นกัน แตกต่างจากงานคลาสสิกอายุ 300 ปีที่แทบไม่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดใดๆ

 

การแสดงคาบุกิในปัจจุบันนี้เป็นแนวทางที่เรียกว่า “อะราโกโตะ” ผู้ให้กำเนิดแนวทางนี้คือ อิจิคาวะ ดันจูโร ที่ 1 เขามีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เป็นผู้วางรากฐานการแสดงที่ดูเกินจริงทั้งท่าทางและการพูด ดัดแปลงมาจากการแสดงหุ่นกระบอกผสมผสานการร่ายรำของคาบุกิ การหยุดเพื่อวางท่วงท่า รวมทั้งการแต่งหน้าที่ยังใช้กันมาจวบจนปัจจุบัน

 

 

 

การหยุดโพสหรือการแสดงท่าทางที่โอเวอร์เกินจริงแล้วหยุดเปรียบเสมือนเทคนิคการซูมหรือเรียกสายตาผู้ชมทุกคู่ให้มาจับที่นักแสดงคนนั้น ความพิเศษของเวทีคาบุกิคือจะมีทางเดินเข้าออกของนักแสดงที่เป็นแคตวอล์กยาวเรียกว่า “ฮานามิชิ” ปลายทางเข้าออกของทางเดินนี้จะอยู่ด้านหลังผู้ชม แต่เสียงรูดม่านที่เป็นห่วงเหล็ก (จะรูดม่านแรงๆ เพื่อให้มีเสียงดัง) ทำให้คนดูต้องหันกลับไปดูว่าตัวละครใดจะเดินออกมาบนฮานามิชิ ซึ่งการจะเดินออกมาหรือร่ายรำออกมาก็แล้วแต่ เมื่อถึงจุดต่อเชื่อมระหว่างเวทีใหญ่กับฮานามิชิจะมีการหยุดโพส ซึ่งเป็นท่าบังคับที่เราเห็นทั่วไปในภาพพิมพ์ “อูกิโยเอะ” หรือภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น (ปัจจุบันมีการถ่ายภาพ แต่ภาพมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เข้มงวดมาก) ซึ่งคาบุกิกับอูกิโยเอะนี้เกี่ยวข้องกันแบบแยกไม่ออก ในยุคสมัยที่ไม่มีภาพถ่าย อูกิโยเอะก็คือโปสเตอร์สำหรับโปรโมตการแสดงคาบุกินั่นเอง แม้จนทุกวันนี้เรายังใช้ภาพอูกิโยเอะเพื่อศึกษาเรื่องราวของคาบุกิ เพราะศิลปินที่ทำภาพพิมพ์จะถอดรายละเอียดทุกอย่างออกมาเหมือนจริง

 

การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ของผู้เขียนได้ชมการแสดงของอิจิคาวะ เอบิโซ ที่ 11 ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าชายแห่งวงการคาบุกิ หลายคนคุ้นหน้าเขาจากภาพยนตร์และซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ แต่คุ้นมากที่สุดจากโฆษณาต่างๆ แม้แต่เครื่องดื่มชาเขียว จนแฟนคาบุกิเริ่มเป็นห่วงว่าเขาจะหย่อนฝีมือเพราะไปหลงใหลวงการอื่น

 

 

 

อิจิคาวะ เอบิโซเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเด็กๆ เขาถูกพ่อคือ อิจิคาวะ ดันจูโร ที่ 12 ซึ่งเป็นนักแสดงคาบุกิแถวหน้าบังคับให้ซ้อมการแสดงเป็นร้อยครั้งต่อวัน ร่างกายเขาปวดร้าวไปหมดแต่ก็ต้องทำ เพราะเขาคือสายเลือดโดยตรงของดันจูโรที่ 7 ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์วงการละครคาบุกิและเกี่ยวข้องกับดันจูโรที่ 1 ผู้ทำให้ละครคาบุกิญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ เขาเป็นทายาทที่ควรภาคภูมิใจกับความเข้มข้นของสายเลือดคาบุกิที่สืบทอดมาหลายร้อยปี แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนตรวนที่จำกัดอิสรภาพของเขา เช่นเดียวกับนักแสดงคาบุกิส่วนใหญ่ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลูกชายเป็นนักแสดงคาบุกิ ลูกสาวก็ต้องเป็นภรรยานักแสดงคาบุกิ นี่เหมือนกฎที่ตราไว้ ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นใดได้ ไม่แปลกที่จะมีความขบถในตัวของคนในครอบครัวนักแสดงคาบุกิที่เติบโตมาแบบไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ ว่าโตขึ้นจะทำอาชีพอะไร อิจิคาวะ เอบิโซเกือบจะทำให้พ่อของเขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อถึงวันแสดงคาบุกิเรื่อง คันจินโจ (เรื่องนี้นิยมให้นักแสดงสายเลือดเดียวกันแสดงด้วยกัน) เขาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แม่ของเขาเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ยังน้ำตาคลอเพราะพ่อเกือบจะต้องตัดเขาจากสายตระกูลการแสดง

 

อย่างไรก็ดี โชคยังเข้าข้างวงการคาบุกิเพราะเขากลับมาทันแสดงและดูเหมือนว่าพลังของการแสดงของตระกูลอิจิคาวะจะมารวมที่ตัวเขาทั้งหมด ไม่ว่าเสน่ห์หรือฝีไม้ลายมือรวมทั้งรูปโฉม ในอดีตบรรพบุรุษของเขาคืออิจิคาวะ ดันจูโร ที่ 8 ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงคาบุกิในบทหนุ่มรูปงามที่มีชื่อเสียงที่สุดของศตวรรษที่ 19 คนดูคลั่งไคล้เขามาก ครั้งหนึ่งเขารับบทที่ต้องลงไปแช่ในถังน้ำ เมื่อจบการแสดงโรงละครนำน้ำในถังนั้นมาตวงขายให้แฟนๆ นำกลับไปเก็บเป็นที่ระลึกได้ แต่ความเด่นและดังทำให้เขาเป็นที่อิจฉาของนักแสดงคนอื่นๆ เมื่อไปเปิดการแสดงที่โอซะกะในปี 1854 มีคนพบเขานอนเสียชีวิตในห้องพักโดยข้อมือมีรอยมีดกรีดลึก การตายของเขาเป็นข่าวครึกโครมแต่ก็หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้อันเป็นปกติของวงการคาบุกิไม่ว่ายุคสมัยไหน คือคนดูควรจะเห็นแค่ภาพสวยงามยามแสดงเท่านั้น ว่ากันว่าเขาเครียดเพราะมีหนี้สินมากมายจากการที่เขากับพ่อใช้ชีวิตอย่างหรูหรา พ่อและน้องชายของเขาก็เป็นนักแสดงคาบุกิที่มีชื่อเสียงมากมาอีกยาวนาน

 

 

 

อิจิคาวะ เอบิโซ ที่ 11 ก็มีข่าวที่ทำให้แฟนๆ ใจหายใจคว่ำเพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาททำให้เขาเกือบเสียโฉมและกล้ามเนื้อบนใบหน้าอาจทำงานได้ไม่เหมือนเดิม ทำให้เขาไม่สามารถทำท่าการมองแบบ “นิรามิ” ที่เป็นเอกลักษณ์ของตระกูลนี้ได้อีก นั่นหมายถึงการจบชีวิตนักแสดงคาบุกิ หลังจากออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาขอโทษประชาชนพร้อมกับนัยน์ตาข้างซ้ายที่มีเลือดคั่งอย่างเห็นได้ชัด เขาก็หายไปจากวงการร่วม 2 ปี จากนั้นก็กลับมาใหม่กลายเป็นขวัญใจคนดูคาบุกิได้เช่นเดิม

 

แต่เหมือนเงาแห่งโชคร้ายยังคงทาบทับชีวิตเขาอยู่ พ่อของเขาเสียชีวิตเนื่องจากปอดติดเชื้อหลังจากรักษาโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตได้แล้ว หลังจากนั้นไม่ถึงปีภรรยาซึ่งเคยเป็นผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียงก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทรวงอก เธอกล้าเปิดเผยอาการเจ็บป่วยของเธอโดยเขียนลงบล็อกส่วนตัวนานเกือบ 2 ปีในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยเรื่องแบบนี้ มีคนติดตามบล็อกเธอมากมายจนนิตยสาร Time จัดอันดับให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของปีที่แล้ว อิจิคาวะ เอบิโซบอกว่าเขาร้องไห้มากที่สุดในวันที่ภรรยาเสียชีวิต เหลือเพียงลูกน้อยวัยกำลังน่ารัก 2 คนให้ดูต่างหน้า

 

 

 

ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากการชมการแสดงคาบุกิที่โรงชินบาชิเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานอกจากได้ดูอิจิคาวะ เอบิโซทำท่านิรามิที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าในช่วงปีใหม่ถ้ามีนักแสดงคาบุกิจ้องแบบนิรามิจะทำให้ปีนั้นไม่เป็นหวัดทั้งปี เหตุจริงๆ คือจองตั๋วการแสดงยำใหญ่นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นรอบเย็นทางเว็บไม่ได้เพราะเต็มหมด อันเนื่องมาจากอิจิคาวะ เอบิโซมีชื่อเสียงเรื่องสร้างสรรค์การแสดงแบบใหม่ๆ รวมทั้งโปรดักชั่นที่ “ตำแหลก” คือเกินคุ้มค่าบัตรเข้าชมแน่ๆ แต่รอบการแสดงตอนเช้าคือการแสดงคาบุกิเรื่องคลาสสิกต่างๆ ซึ่งนอกจากการประกาศหน้าม่านโดยอิจิคาวะ เอบิโซและการทำท่านิรามิในการแสดงนี้ เขาคนเดียวยังต้องรับบทมากถึง 6 ตัวละคร ได้แก่ หญิงแก่ พระ ชายชาวเรือ แม่ทัพชิโนสุเกะ หญิงคนรักชื่อชิซึกะ โกเซ็น และปิศาจแมงมุม

 

ละครเรื่องแรกของรอบเช้า เขารับบทเป็นโชกุนผู้ออกมายืนเท่ในตอนจบเท่านั้น ถือเป็นการปรากฏตัวให้ผู้ชมเห็นครั้งแรกของวัน ทั้งโรงละครส่งเสียงพึมพำชื่นชมความสง่างามของเขาและใครที่เคยสงสัยว่าอิจิคาวะ ดันจูโร ที่ 8 ที่ว่าหล่อจนตวงน้ำแช่ขายได้จะหล่อสักแค่ไหนกันเชียวก็ขอให้ดูนักแสดงรุ่นโหลนของเขาคนนี้ ถึงตอนประกาศหน้าม่านเขาคำนับคนดูอย่างนอบน้อมและพูดเสียงสูงต่ำไพเราะจนคนทั้งโรงมีทั้งหัวเราะและอึ้งซาบซึ้งกับคำพูดของเขา ส่วนคนฟังภาษาญี่ปุ่นไม่รู้เรื่องก็นั่งเงียบๆ ไป จากนั้นเขาจึงทำท่านิรามิของคนในตระกูลที่ทำกันมา 300 กว่าปีเป็นการอวยพรปีใหม่

 

 

 

ไฮไลต์ของรอบเช้าคือการแสดงเรื่อง คามาคุระ ฮาจิมันกู ชิซึกะ โนะ โฮระคุไม” เป็นเรื่องพระที่ได้ฟังชาวบ้านเล่าว่ามีเรื่องราวแปลกๆ เกิดขึ้นที่วัด เมื่อพระไปเจรจากับผีในร่างหญิงชรา (อิจิคาวะ เอบิโซแสดงบทนี้) นางจึงบอกว่าเคยเป็นนางรำในราชสำนัก จากนั้นจึงมีผียายแก่และสารพัดผีออกมาจนถึงพระบรรณารักษ์ (อิจิคาวะ เอบิโซแสดงอีก) ที่ถือม้วนคัมภีร์ใหญ่มาก เมื่อพระรูปนี้วิ่งไปด้านปลายของฮานามิชิที่มีประตูก็มีผู้ชายถือร่มบังหน้าตัวเองวิ่งออกมา ตอนที่สวนกันพระก็คลี่ม้วนคัมภีร์ออกห่อชายคนนั้นในเวลา 3 วินาทีที่สวนกัน ชายถือร่มวิ่งไปยืนบนเวทีใหญ่ เมื่อวางร่มลงกลับกลายเป็นอิจิคาวะ เอบิโซในบทชายแจวเรือในแม่น้ำแห่งความตายผู้มีรอยสักเต็มตัวจากการสวมเสื้อที่คล้ายบอดี้สูทอันเป็นการสร้างรอยสักของนักแสดงคาบุกิที่ไม่มีการสักจริงๆ คงไม่ต้องบอกว่าคนดูปรบมือกันเกรียวกราวขนาดไหน

 

จากนั้นเป็นฉากพลอดรักกันของชิซึกะ โกเซ็นและแม่ทัพชิโนสุเกะในสวนที่มีต้นซากุระใหญ่ อิจิคาวะ เอบิโซแสดง 2 บทนี้เอง ตอนใดที่นักแสดงหันหน้ามาทางคนดูจะเป็นอิจิคาวะ เอบิโซเสมอ โดยมีนักแสดงที่เล่นคนละบทหันหลังให้คนดู ลองคิดดูว่าเขาต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและแต่งหน้าเร็วขนาดไหนยามแสดงสลับไปมาหลายครั้งในบทบาทของตัวละครหลักทั้งคู่ในฉากเดียวกัน 

 

 

 

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก อิจิคาวะ เอบิโซเคยแสดงบทที่ท้าทายกว่านี้มาแล้ว ครั้งนั้นพ่อของเขาตั้งใจจะแสดงเองแต่สุขภาพไม่อำนวย เขาจึงต้องขึ้นเวทีเพื่อแสดง 10 บทในเรื่องเดียวและมีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทั้งหมด 45 ครั้ง เรื่องนี้เขียนขึ้นครั้งแรกให้ดันจูโรที่ 7 แสดงในชื่อเรื่องที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ความงดงามของใบไม้ฤดูใบไม้ร่วงและหยาดเหงื่อบนใบหน้าของนักแสดงนำ” แต่บทได้สูญหายไป อิจิคาวะ เอ็นโนะสุเกะ ที่ 3 จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างงานแสดง “ดาเตะ โนะ จูยะคุ” ขึ้นและถือเฉพาะคนในสายอิจิคาวะเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์แสดงได้ อิจิคาวะ เอ็นโนะสุเกะที่ 3 ถือเป็นเจ้าแห่ง “จูโนริ” หรือ “เคเร็น” คือเทคนิคกลลวงบนเวทีที่นักแสดงคาบุกิสายคลาสสิกมักดูแคลนว่าไม่ได้จูงใจคนดูด้วยลีลาการแสดงหรือการร่ายรำ แต่สำหรับคนดูคาบุกิรุ่นปัจจุบันมากมายกลับอยากดูการแสดงสไตล์นี้มากกว่า ความสำคัญของการแสดงแบบนี้ไม่ใช่แค่นักแสดงเก่ง แต่ทีมงานเบื้องหลังทั้งหมดจะต้องแม่นและพลาดไม่ได้ทุกขั้นตอน บนเวทีอาจมีนักแสดงเพียง 10 กว่าชีวิต แต่คนเบื้องหลังอาจมีถึงร้อย

 

นอกเหนือจากที่เล่ามาแล้ว การมาญี่ปุ่นในเดือนมกราคมนั้นคอละครควรหาโอกาสไปชมศิลปินแห่งชาติ บันโดะ ทามาซาบุโร ร่ายรำสักครั้งหนึ่งในชีวิต เขาคือที่สุดของอนนะกาตะหรือนักแสดงชายผู้สวมบทบาทเป็นหญิง และครั้งนี้เหมือนเป็นการประกาศทายาททางการแสดงคือ นากามุระ คาซึทาโร อนนะกาตะรุ่นใหม่ซึ่งเก่งกาจที่สุด แม้เขาไม่ได้มีโครงหน้ายาวคมสันที่แต่งเป็นผู้หญิงแล้วสวยละมุนแบบบันโดะ ทามาซาบุโร แต่ยามแสดงลีลากลับพลิ้วไหวกลมกลืนดูเป็นสตรีที่บอบบาง และครั้งนี้บันโดะ ทามาซาบุโร ได้มอบการแสดงระดับตำนานของเขาคือบทนางนกกระเรียนจากเรื่อง ซากิ มูสึเมะ แก่นากามุระ คาซึทาโร

 

 

 

นอกจากลีลาที่ต้องทำให้คนดูเชื่อว่าเป็นนกกระเรียน เป็นหญิงสาวชาวบ้าน เป็นหญิงสาวในเมือง และเป็นหญิงที่พ่ายรักจนกลับมาตายแบบนกกระเรียนแล้ว การเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแบบฉับไวที่เรียกกันว่า “ฮายะคาวาริ” นั้นยังสร้างความน่าทึ่งและตื่นตะลึงให้กับคนดูอีกด้วย เพราะแค่สะบัดพรึบเดียวก็กลายเป็นกิโมโนอีกชุด โดยเมื่อนักแสดงนั่งลงไปอยู่หลังร่มที่ใช้ประกอบการแสดง ผู้ช่วยบนเวทีจะรีบดึงเชือกที่ตรึงเป็นไส้ไก่ของชายกิโมโนออก ในขณะเดียวกันนักแสดงจะดึงด้ายที่ตรึงตามแขนเสื้อและปก เสียงดังปึดๆ ชั่วเวลาไม่ถึงนาทีเมื่อนักแสดงลุกขึ้น กิโมโนก็เปลี่ยนเป็นอีกชุด ขอให้นึกถึงการกลึงชุดโขนบนตัวนักแสดง แต่ของเรากลึงให้ชุดแนบตัว แต่กิโมโนของบทนางนกกระเรียนต้องเปลี่ยนถึง 3 ชุดและจบที่ชุดสีขาวคล้ายชุดแรก เพียงแต่ปรากฏรอยขาดให้เห็นสีแดงของผ้าด้านในสุด เหมือนเธอบาดเจ็บจากการกรีดจนเห็นรอยเลือดก่อนจะสิ้นใจในที่สุด

 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพศชายครองเวทีคาบุกิมาจนบัดนี้ก็คือเครื่องแต่งตัวที่มีน้ำหนักมากต้องสวมทับกันหลายชุดหลายชั้น บางชุดนั้นโอบิของนักแสดงบทผู้ชายใหญ่ขนาดต้องใช้คน 5 คนช่วยกันมัดและใช้เท้ายันลำตัวนักแสดงคนละด้านเพื่อดึงให้โอบิตึง บันโดะ ทามาซาบุโรในบทนางคณิกาชั้นสูงได้แสดงให้เห็นภาพความฟูฟ่าเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นในอดีต ภาพผู้หญิงญี่ปุ่นที่ชาวยุโรปและศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ในศตวรรษที่ 19 เห็นจากภาพพิมพ์อูกิโยเอะส่วนใหญ่จะเป็นภาพนางคณิกา เช่น ภาพวาดของ Vincent van Gogh ก็วาดจากภาพพิมพ์โออิรัน เบื้องหลังของศิลปะการแสดงของคาบุกิอันสวยงามนั้นคือความเจ็บปวดทรมานของเหล่านักแสดง เพราะต้องฝึกฝนอย่างหนัก ต้องมีการทดสอบประจำปีสำหรับนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ต้องมีร่างกายที่ยืดหยุ่นมากๆ แม้จะสูงวัยก็ตาม ท่าทางที่ดูเหมือนการโพสธรรมดาจริงๆ แล้วต้องเกร็งกล้ามเนื้อทั้งร่าง อนนะกาตะจะมีท่าดัดตัวแบบกุ้งเมื่อเธอตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกบีบบังคับ หรือแม้แต่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำต่อฆาตรกรหรือผู้ข่มเหง อนนะกาตะที่เก่งๆ จะทำท่านั่งดัดตัวไปด้านหลังจนศีรษะแทบจะจรดพื้น ซึ่งเป็นการฝืนร่างและเจ็บปวดอย่างสาหัส

 

 

 

เกือบ 400 ปีที่การแสดงคาบุกิได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน ด้วยกฎที่เข้มงวดของการสืบสายตระกูล การอุปถัมภ์เด็กๆ ที่มีแววและรับมาอยู่ในสายสกุลคาบุกิของตนก็มีมาก ชื่อและสกุลของเด็กรายนั้นตามสายเลือดก็ยังใช้อยู่ แต่ชื่อและสกุลตามการแสดงจะเปลี่ยนตามสายสกุลทางคาบุกิ อย่างชื่อดันจูโรจะเป็นทางคาบุกิแบบอิจิคาวะ ที่นับความเข้มข้นทางสายเลือดโดยตรงก็สืบไปได้ถึงดันจูโร ที่ 7 (ปลายศตวรรษที่ 18) แต่หากนับสายเลือดแบบห่างๆ ก็ไปไกลถึงดันจูโร ที่ 1

 

อย่างไรก็ตาม เกือบ 400 ปีในสายสกุลคาบุกิเดียวกันอาจไม่ได้มีดาวเด่นทุกช่วงอายุ แต่ตระกูลอิจิคาวะได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับต้นๆ เสมอ ในรุ่นปัจจุบันมีอิจิคาวะ เอบิโซ ที่ 11 ที่นอกจากสายเลือดแล้วยังมีพรสวรรค์รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ที่จะสืบทอดคาบุกิต่อไป เขามีความคิดเป็นของตัวเองและวางตัวเป็นบุคคลสาธารณะตามป้ายโฆษณา แตกต่างจากนักแสดงคาบุกิรุ่นก่อนที่มักเก็บตัว เขาไม่ต้องการให้เกิดช่องว่างระหว่างคาบุกิกับคนรุ่นใหม่ แถมยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำผลงานออกไปแสดงตามชนบทเพราะคนที่อยู่ห่างไกลจะไม่เข้ามาชมคาบุกิแม้การคมนาคมจะสะดวกแค่ไหนก็ตาม เขากับพ่อเคยไปเปิดการแสดงที่โรงอุปรากรใหญ่ในกรุงปารีสและลอนดอนด้วยซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง

 

การเป็นหัวหอกของตระกูลอิจิคาวะและตระกูลนักแสดงคาบุกิอื่นๆ ในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่แสดงคาบุกิให้ดีที่สุด แต่ต้องมองไปถึงอนาคตด้วยว่าจะทำอย่างไรให้คาบุกิเป็นศิลปะที่อยู่ในยุคสมัยไปอีกนานเท่านาน ดังที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำมาตลอด 4 ศตวรรษ

 

เรื่อง: เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา

WATCH