CELEBRITY
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับมือทองที่นำเสนอ BNK48 ขึ้นจอเงินใน Girls Don't Cry
|
ถ้าคิดว่ารู้จักพวกเธอแล้ว แน่ใจแล้วหรือว่าลึกพอ ถ้ายังไม่รู้จัก แนะนำว่าไม่อยากให้พลาด BNK48: Girls Don’t Cry ปรากฏการณ์วงไอดอลไทยสไตล์ญี่ปุ่นซึ่ง ได้ปรากฏตัวในทุกสื่อ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี และได้นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์มากำกับสารคดีเรื่องแรกของวง
โจทย์ของสารคดีเรื่องนี้คือ “ทำให้มันสนุก”
เราอยู่ในยุคที่น้อง Live เกือบทุกวัน มีบทสัมภาษณ์ให้อ่านทุกสัปดาห์ ออกทุกรายการ เลยตัดสินใจว่างั้นคุยกับน้องในฐานะที่เขาเป็นน้องคนหนึ่ง ใช้วิธีเข้าไปอยู่กับเขาเวลามีซ้อมและตามงานต่างๆ ทำให้เขาเชื่อให้ได้ว่าเราไม่ได้มาเอาอะไรจากเขา ให้รู้สึกเหมือนเรามาเรียนรู้กันและกัน ตามสังเกตการณ์ชีวิตเขาอยู่ 6 เดือนช่วงที่เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย กำลังดังพีกพอดี ซึ่งพอเราใช้ชีวิตในไทม์ไลน์เดียวกับเขา เราจะเข้าใจมากๆ ว่าเขาเหนื่อยขนาดไหน นี่ขนาดผมไม่ได้เต้นนะ
อีกพาร์ตคือแยกสัมภาษณ์แบบฮาร์ดทอล์ก นั่งคุยกันยาวๆ ทีละคน คนละ 2-3 ชั่วโมง ไม่เคยมีที่ไหนได้สัมภาษณ์น้องครบ 26 คนมาก่อน เราลิสต์คำถามไปคร่าวๆ แต่เน้นฟังเป็นหลักว่าเขามีเรื่องอะไรพิเศษ ผมเชื่อว่าทุกคนมีจุดที่เขารู้ดีกว่าเพื่อนแม้ว่าเขาจะอยู่หลังสุด อยู่ข้างๆ หรืออยู่ตรงกลาง ซึ่งเวลาเราไปนั่งคุยกับเขาจริงๆ ในพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวมากๆ ห้องเล็ก คนน้อย กล้องจับหน้าใกล้มากจนผมได้เห็นการไหลของน้ำตาทุกรูปแบบ บางคนน้ำตาไหลพร้อมกัน 3 หยดได้ด้วย พอผ่านไปสักชั่วโมงเขาจะลืมว่ามีกล้องถ่ายอยู่ เริ่มพูดเรื่องที่อยากพูดออกมาเอง ซึ่งผมบอกน้องไว้แต่แรกว่าจะเล่าหรือไม่เล่าอะไรก็ได้ มันควรเป็นพื้นที่ที่เขาได้ตัดสินใจเอง หน้าที่ของผมคือทำให้เขาได้เป็นตัวเองมากที่สุดและอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดในหนัง
ไม่มีหนังเรื่องไหนจะวัยรุ่นได้ขนาดนี้แล้ว
มีวัยรุ่นเต็มไปหมด ทำให้เราได้ศึกษามนุษย์ 26 แบบ น้องบางคนอายุ 15 แต่คุยกับเราเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไม่รู้ว่าเขาโตอยู่แล้วหรือสิ่งที่เจอมา 1 ปีทำให้โต เราเลยรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีคำว่าอายุ แล้วแต่ว่าใครพกประสบการณ์ใส่กระเป๋ามามากน้อยแค่ไหน หลายๆ เรื่องเป็นเหตุการณ์พิเศษที่ไม่มีวันได้เจอกับตัวหรอกถ้าเราไม่ได้เป็นเขา เช่น เราไม่เคยรู้ว่าความดังแบบซูเปอร์มหาชนที่แค่ 6 เดือนก็ดังระดับชาติเป็นอย่างไร หรือสถานการณ์ที่น้องเจอก็แตกต่างจากรายการแนว Star Search อื่นๆ ถ้าเป็น The Star ก็เข้าบ้านแข่งขันกัน 2 เดือนแล้วประกาศผลที่ 1, 2, 3จบแล้วทุกคนแยกย้าย แต่ BNK เมื่อประกาศผลเสร็จ ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจอย่างไร ทุกคนต้องอยู่ด้วยกันต่อไปอีกเป็นปีๆ แล้วน้องอายุแค่ 14…ขณะที่อีกหลายๆ เรื่องก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เราเจอ ไม่ว่าจะเรื่องสอบติด-ไม่ติด หรือในออฟฟิศมีพี่เบอร์ 1 แล้วคุณอาจจะเป็นเบอร์สุดท้ายก็ได้
ในธุรกิจบันเทิงความเปรี้ยงปร้างแบบนี้มีทุกปี บางปีเป็น Gangnam Style บางปีคือ ขอใจเธอแลกเบอร์โทร ปีนี้คือ BNK ทั้งตัวเจ้าของค่ายและตัวน้องๆ เองก็เข้าใจวัฏจักรของความดัง แต่บางทีคนเราก็เป็นแบบนี้ รู้ว่าปลายทางคืออะไรแต่ก็อยากเข้าไปซึ่งก็แล้วแต่คนว่าเขามองมันเป็นอะไร เห็นเป็นสะพานหรือสวนสนุกหรือเห็นเป็นสิ่งที่ได้มาแล้วจบอยู่แค่นี้ ผมคิดว่าน้องมองว่ามันคือความชอบ เป็นโอกาสและเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรสักอย่าง
มันคือเรื่องทางใจล้วนๆ
คนที่ซื้อกระเป๋าทุกรุ่น คนที่สะสมพระเครื่อง คนที่ตามดูหนังของผู้กำกับที่ชอบ หรือคนที่รักแฟนมากๆ คุณไม่ต่างจากโอตะที่รักไอดอลของเขาเลย คนเรามีสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจกันคนละอย่างและแสดงออกต่างกันแค่นั้นเอง แต่ไม่ว่าเราจะยึดเหนี่ยวอะไร สุดท้ายเราต้องทำเอง ไม่มีหรอกที่ว่าแค่แตะสิ่งนี้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง อย่างงานจับมือที่ให้แฟนๆ จับมือไอดอลคนละ 8 วินาที ถ้าทำแล้วรู้สึกดีขึ้นก็ทำไปเถอะ เหมือนมีคนมาตบไหล่ว่ามันไม่แย่ขนาดนั้นหรอก ผมว่าทุกคนมีความกลัวและมองหาความหวังอะไรสักอย่าง ซึ่งไอดอลคือความหวังที่มองเห็นและจับต้องได้ ไม่ใช่ความหวังลมๆ แล้งๆ
ทำไมคนไทยอยากเป็นแต่นักร้อง
เราเป็นประเทศร้องเล่นเต้นรำอยู่แล้ว วงไอดอลหรือรายการประกวดร้องเพลงเป็นอะไรที่ง่ายที่สุดในการเข้าถึงคนหมู่มาก แล้วสปอตไลต์แค่ไปลงตรงนี้ เลยทำให้เราเห็นสิ่งนี้เยอะกว่าสิ่งอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งอื่นมีจำนวนน้อยกว่าสิ่งนี้ ผมว่าไม่ใช่ยุคที่ต้องมานั่งถกเถียงแล้วว่าสปอตไลต์ควรต้องไปอยู่ที่ไหน มันคือยุคที่เราสร้างสปอตไลต์ได้เองด้วยซ้ำ เด็กที่ไปแข่งอีสปอร์ตส์ก็ไม่ต้องรอรายการ eSports Live มาทำข่าว เขาก็ไปแข่งของเขาแล้วก็ชนะ มีชื่อเสียงในวงการของเขาไป ผมคิดว่ายุคนี้คือยุคของซับคัลเจอร์ ทุกกลุ่มหาวิธีสร้างจักรวาลของตัวเองได้ โดยไม่ต้องสนใจด้วยว่าเมนสตรีมจะสนใจหรือเปล่า ซึ่งถ้าเราไม่สนใจสิ่งนี้ เราก็ไปดูอย่างอื่น อย่าใช้กรอบความคิดว่าเราต้อง ‘ดูทีวี’ อย่าลืมว่ามีอีก 1,000 แชนเนลให้ดู
คุณค่าคืออะไรก็ได้ แล้วแต่ชอบ
เราโตมากับยุคกามิกาเซ่ ผมก็ฟังได้ ชอบด้วยซ้ำ ซึ่งพอเริ่มฟังวงนี้ก็ฟังวงอื่นๆ ต่อไป ทำให้เรารู้ว่าเพลงไอดอลมีหลายแบบมาก มีทั้งวงเด็กผู้หญิง 4 คนร้องเพลงเฮฟวี่เมทัลแล้วเพลงดันเพราะด้วย บางวงเป็นเพลงป๊อปแต่เร็วมาก เหมือนกินยาบ้า ร้องทันได้ไง ถ้าสิ่งเหล่านี้คอนเนกต์กับคุณได้ คุณจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นเพลงเต้นแป๊วๆ แล้วจบกันไป คุณจะเห็นดีเทลของมันเพลงวงนี้สไตล์เพลงไม่เหมือนกับวงนั้น ภาพข้างนอกก็ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ชอบแล้วมองแบบเหมารวมก็จะเห็นแค่ผู้หญิงเต้นเพลงเร็วๆ พร้อมกัน 10 กว่าคน ต้องลองเปิดใจแล้วจะเห็นความหลากหลายเยอะมาก เราควรมีโอกาสได้ดูได้ฟังอะไรเยอะๆ ครับ หรือไม่คงต้องฟังไอ้ที่เขาว่าดีไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะคลิกกับสิ่งนั้นนี่
WATCH
WATCH