CELEBRITY
Ghost in the Shell จากหนังมังงะ สู่การถูกดัดแปลงบทโดยฮอลลีวู้ดที่น่าฉงนGhost in the Shell จากหนังมังงะ สู่การถูกดัดแปลงบทโดยฮอลลีวู้ดที่น่าฉงน |
เมื่อ Scarlett Johansson บู๊ล้างผลาญได้ใจใน The Avengers และ Lucy ไม่แปลกใจที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่จะเลือกให้เธอมารับบทผู้พันสาวแห่งหน่วยพิเศษที่ 9 ในยุคสมัยที่มนุษย์แปลงจิตวิญญาณให้กลายเป็นดิจิทัลเชื่อมโยงกันได้ทั้งโลก อันเป็นที่มาของชื่อ ผีในเปลือก และตำรวจไซบอร์กสาวมีชื่อว่า Major Motoko Kusanagi ซึ่งทีมผู้สร้างจับสการ์เลตต์เปลี่ยนโฉมโดยอ้างอิงจากภาพในมังงะ ได้ออกมาเป็นสาวผมบ๊อบเทสุดเปรี้ยวเดินตัวล่อนจ้อนอยู่ในเมืองที่ชัดเจนว่าเป็นญี่ปุ่น องค์กรร้ายในหนังก็มีชื่อญี่ปุ่นจ๋าว่า Hanka Robotic ภาพนี้มีอะไรทะแม่งๆ ไหม? สการ์เลตต์ โจแฮนส์สันแสดงเป็นตัวละครชื่อโมโตะโกะงั้นรึ ค่ายหนังแก้ปัญหาคนขี้สงสัยง่ายๆ ด้วยการเรียกชื่อตัวละครสั้นๆ เพียง The Major อีกทั้ง Max Landis นักเขียนบทฮอลลีวู้ดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับหนังแก้ต่างผ่าน vlog ของตนเองว่า “สการ์เลตต์เป็นนักแสดงคนเดียวที่ทำให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้” เพราะนักแสดงญี่ปุ่นอย่างริงโกะ คิคุจิ หรือทาโอะ โอกาโมะโตะ บารมีดาราไม่พอจะทำให้หนังคืนทุนได้เท่าสการ์เลตต์แน่ๆ
Jon Tsuei ผู้สร้างมังงะเรื่องนี้บอกถึงความจำเป็นที่ Ghost in the Shell ต้องใช้นักแสดงญี่ปุ่นว่าเป็นเรื่องราวของมังงะไม่ใช่เรื่องสากล หากแต่สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตัวมังงะตีพิมพ์ในปี 1989 ในยุคที่ญี่ปุ่นผู้แพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผงาดขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกด้วยไอเท็มสุดฮอตอย่างวิดีโอเกม วอล์กแมน จนถึงรถยนต์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงผูกโยงกันอย่างมีเอกลักษณ์ยิ่ง “คุณทำให้มันกลายเป็นตะวันตกได้ แต่หากไม่มีธีมเหล่านี้แล้วก็ไม่ใช่ Ghost in the Shell” ผู้สร้างเขียนอธิบายไว้ในทวิตเตอร์อย่างชัดเจน
Ghost in the Shell เป็นเหมือนคอลเล็กชั่นจิตสำนึกของชาวญี่ปุ่นซึ่งกักเก็บทั้งความหวาดผวาและความหวังต่ออดีตและอนาคตของชาติ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การเรียกร้องอยากจะเห็นหน้าเหลืองๆ ของนักแสดงหญิงชาวญี่ปุ่นในหนังฮอลลีวู้ด อีกทั้งไม่ใช่การแก้ปัญหาง่ายๆ ว่าก็ไม่ต้องให้นางเอกมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่การ “ดัดแปลงบท” หรือทำให้เรื่องเข้าใจง่ายเพื่อเข้าถึงผู้ชมกระแสหลักโดยไม่ระวัง ทางหนึ่งก็ปิดโอกาสให้โลกได้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมอันหลากหลาย แย่ไปกว่านั้นคือลบล้างประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชาตินั้นๆ
ปักชานวุก ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่ทำหนังดิบเถื่อนขั้นฮาร์ดคอร์อย่าง Oldboy ทำหนัง The Handmaiden ในฉากหลังย้อนหลังยุคที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ความเก๋คือหนังดัดแปลงจากนิยายยุควิกตอเรียเรื่อง Fingersmith ของ Sarah Waters ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์พิลึกพิลั่นของเด็กสาวลูกกำพร้า 2 คน นางหนึ่งเป็นโจรล้วงกระเป๋า อีกหนึ่งคือหลานสาวที่ลุงใช้ให้อ่านนิยายอีโรติกให้ฟัง แม้จะปรับเปลี่ยนบริบทผิดไปคนละโลก แต่ผู้ประพันธ์นิยายบอกว่าดูหนังไป 3 รอบเพราะชอบมากตรงที่ผู้กำกับใช้ปลาหมึกเข้ามาอยู่ในหนังเพื่อเป็นตัวแทนของศิลปะอนาจารโดยที่ความเป็นเมโลดราม่าของนิยายยังอยู่ครบ การมีจินตนาการให้มากและเปลี่ยนบริบทโดยยังเคารพแก่นตามบทประพันธ์ สมควรจะเป็นมาตรฐานใหม่ในหนังทุกเรื่องได้แล้วไหม
สุภักดิภา พูลทรัพย์
WATCH