CELEBRITY
เคยสงสัยไหมว่าทำไมภาพยนตร์ดิสนีย์ถึงกวาดรายได้ถล่มทลายทุกครั้งที่เข้าฉาย
|
ความยอดเยี่ยมของการ์ตูนจากค่าย Disney เป็นที่เรื่องลือกันมาอย่างหนาหูเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความน่ารักของตัวละคร เนื้อเรื่อง เพลง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ปัจจัยอะไรกันทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องสำคัญในวงการภาพยนตร์และการ์ตูนแอนิเมชั่น สร้างกี่เรื่องกี่ครั้งก็ประสบความสำเร็จแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมีไขคำตอบผ่านปรากฏการณ์ภาพยนตร์ของเครือดิสนีย์กันว่า ความสำเร็จที่ไม่มีสูตรสำเร็จแต่มีรากฐานของกลุ่มลูกค้าที่คอยสนับสนุนอยู่เสมอนั้นลึกลับซับซ้อนเพียงใด
ภาพ: Courtesy of Disney
จากการายงานของฝั่งฮอลลีวู้ดรายงานว่า “Frozen 2” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของค่ายทำรายได้ไปกว่า 123.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,750 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในช่วงสัปดาห์วันขอบคุณพระเจ้า โค่นแชมป์เก่าอย่าง “The Hunger Game: Catching Fire” ที่ทำรายได้ไป 109.9 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,325 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2013 ได้สำเร็จ ตัวเลขระดับเกือบ 4,000 ล้านถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่วงการบันเทิงทั่วโลกต้องจดจำ และไม่ใช่แค่นั้น เพราะภาพยนตร์ฝีมือการกำกับของ Chris Buck และ Jennifer Lee ยังพาดิสนีย์กวาดรายได้รวมในปีนี้ทะลุ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 97,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นค่ายที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 แซงทั้ง Warner Bros. และ Universal
ภาพ: Courtesy of Disney
“หนังภาคต่อมักล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่” คำสบประมาทเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับดิสนีย์ ตัวเลขฟ้องอยู่แล้วว่าทีมงานสามารถผลักดันให้ภาคต่อทำรายได้ทะยานสูงขึ้นกว่าเดิมอีก นั่นเป็นเพราะการผูกโยงเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ปกติล้วนมีการย่อยหรือขยาย ผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อกระจายภาคออกไป หรือแม้แต่การประสบความสำเร็จแล้วจึงคิดสร้างต่อภายหลังซึ่งมักเป็นหายนะอยู่เสมอ และเหตุผลสำคัญของเนื้อเรื่องที่เกี่ยวโยงกันเกินไปทำให้เสียเปรียบ ภาพยนตร์บางเรื่องต้องดูต่อกันจึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจชมภาคแรกแล้วก้าวสู่ภาคถัดไปนั้นไม่มีทางจะคงผู้ชมได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ดิสนีย์สามารถกลบข้อด้อยเรื่องภาคต่อได้อย่างแนบเนียน ลองสังเกตดูว่าไม่ว่าการ์ตูนหรือภาพยนตร์ของเหล่าเจ้าหญิงต่างๆ การโฟกัสไม่ได้อยู่ที่ความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้เสพไม่ว่าจะช่วงวัยไหนก็สามารถชมภาคใดก็แล้วแต่เมื่อไหร่ก็ได้ คำว่า “อยากดู Frozen 2” ไมได้เกิดจากการดูภาคแรกอย่างเดียวเสมอไป
WATCH
ภาพ: Courtesy of Disney
เจ้าหญิงเติมเต็มชีวิตวัยเด็ก....คาแรกเตอร์เจ้าหญิงแต่ละตัวล้วนถูกออกแบบมาให้มีเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตที่แตกต่างกัน มู่หลาน สาวจีนผู้แข็งแกร่ง หรือจะเป็นสโนว์ ไวท์กับความใสซื่อบริสุทธิ์จนนำมาสู่เรื่องราวต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นคาแรกเตอร์เจ้าหญิงดิสนีย์ทั้ง 12 ตัวนั้นค่อนข้างครอบคลุมกับประสบการณ์ร่วมที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ประเด็นนี้จึงไม่แปลกเลยที่ทำให้เรื่องราวของเจ้าหญิงดูน่าสนใจลดหลั่นกันไป บางคนชอบตัวหนึ่งบางคนอาจจะชอบอีกตัวหนึ่งมากกว่า บรรทัดฐานความนิยมชมชอบใช้วัดไม่ได้เสมอไป แต่รับประกันได้ว่าดิสนีย์จะได้กลุ่มแฟนของแต่ละตัวละครแน่นอน นอกจากนี้กลุ่มแฟนของแต่ละตัวยังคงเปิดใจรับความน่าสนใจของตัวละครอื่นด้วย เปรียบเสมือนการรับวัฒนธรรมและเรื่องราวของผู้อื่นเพื่อศึกษาไปโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้เรียกได้ว่า วิน-วิน ทั้งผู้สร้างและผู้ชม
ภาพ: Courtesy of Disney
ตอบโจทย์ทั้งครอบครัว ยิ่งโฟกัสไปที่วัยเด็กยิ่งเห็นได้ชัดว่าดิสนีย์ตีโจทย์แตก เด็กมาชื่นชมความน่ารัก ความเคลื่อนไหวของตัวละครที่พวกเขารัก และแน่นอนว่าเด็กใหม่ตลอดทุกยุคทุกสมัย ดิสนีย์ก็ยังคงขายได้ทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง มากไปกว่านั้นเด็กไม่สามารถตีตั๋วเพื่อเข้าชมการ์ตูนเรื่องโปรดได้เอง ฉะนั้นดิสนีย์จึงกลายเป็นภาพยนตร์สำหรับครอบครัวที่ทุกบ้านต่างพาลูกหลานไปชมอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์แรกในการชมภาพยนตร์ของใครหลายคน หรือประสบการณ์แรกในการพาเจ้าตัวน้อยไปชมภาพยนตร์ของพ่อแม่ก็คงเป็นดิสนีย์นี่ล่ะ ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าจากการทำรายได้ 1-2 คนแปรเปลี่ยนเป็น 3-4 คนขึ้นไปจะทำรายได้มากมายมหาศาลขนาดไหน นี่ยังไม่รวมตัวแปรของกลุ่มวัยรุ่นด้วยซ้ำ
วัฒนธรรมการหา Easter Eggs ในภาพยนตร์ Disney / ภาพ: HuffPost
“ภาพยนตร์สำหรับทุกคน” นิยามเช่นนี้ทำใหดิสนีย์ได้เปรียบขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่กับธีมเจ้าหญิง เพราะดิสนีย์เองมีตัวละครอีกมากมายสำหรับลงแพลตฟอร์มจอเงิน คำว่า “ทุกคน” ไม่ได้หมายถึงแค่ช่วงอายุ เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีเป็นจุดขายของดิสนีย์อยู่แล้ว แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แต่ละภาคของค่ายนี้ถูกวิเคราะห์ผลได้หลายรูปแบบ ทั้งการชมแบบชิลๆ สบายสไตล์ให้ความบันเทิงก็ทำได้ มาเสพศิลป์กับเทคนิคในภาพยนตร์ โปรดักชั่น คอมพิวเตอร์กราฟิกเองก็น่าสนใจ เพลงก็สำคัญที่เราจะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป และที่สำคัญคือเนื้อเรื่องถูกเล่าเหมือนกันแต่ถูกตีความไม่เหมือนกัน หากทิ้งตัวลงดูแบบสบายๆ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าใครอยากจะค้นหาข้อความที่ภาพยนตร์สะท้อนมาสู่สังคมดิสนีย์ก็มี “Hidden Agenda” มาตอบโจทย์เช่นกัน มากไปกว่านั้นยังมีจุดเล็กๆ น้อยๆ (Easter Eggs ) ให้คนได้สังเกตและนำมาพูดคุยกันเกิดเป็นประเด็นถกเถียงที่ดิสนีย์ทำมานานแล้ว และตอนนี้มาถึงยุคดิจิทัลที่คนพูดคุยแสดงความเห็นกันง่ายขึ้นก็ยิ่งเห็นผลมากขึ้นตามไปด้วย
ภาพ: Courtesy of Disney
เพลงที่เราเกริ่นไว้เมื่อย่อหน้าที่แล้วเราหมายถึงเพลงประกอบภาพยนตร์โดยเฉพาะของเจ้าหญิงดิสนีย์ยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น “Let It Go” ของ Frozen ภาคแรก หรือจะเป็น “Beauty and the Beast” ของเรื่องในชื่อเดียวกัน และเพลงประกอบภายในเรื่องอีกมากมาย นี่คือจุดแข็งของดิสนีย์ หลายครั้งที่ภาพยนตร์มิวสิคัลเข้าใจยากเกินไป มีความเป็นศิลปะมากเกินไป แต่เมื่อดิสนีย์ทำกลับผนวกเอาศาสตร์ของเพลงเข้ากับศาสตร์ของการทำภาพยนตร์เข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว เจ้าหญิงดิสนีย์ฉบับต่างๆ จึงกลายเป็นมิวสิคัลเสพง่าย ตาดูหูฟัง เอนตัวลงบนเบาะชมตลอด 2 ชั่วโมง ประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้เจอกันง่ายๆ ถ้าไม่ได้มาจากดิสนีย์
ภาพ: Pratical Wanderlust
“เป็นแฟนดิสนีย์ไม่ได้เป็นแฟนแค่เจ้าหญิง” นี่คือสิ่งที่เป็นจุดแข็งมากๆ เพราะเมื่อเรามองกันอย่างละเอียดตัวละครแต่ละตัวที่มาสมทบให้ภาพยนตร์สมบูรณ์นั้นล้วนมีคาแรกเตอร์ที่น่าจดจำและสร้างฐานแฟนคลับย่อมๆ ได้เลย อย่างเช่นเชิงเทียนในเรื่องเจ้าชายอสูรที่เมื่อครั้งตัวอย่างแรกออกมา Emma Watson ในบทบาทเจ้าหญิงเบลล์ก็พูดคุยกับเชิงเทียนพูดได้ นั่นทำให้หลายคนเฝ้ารอฉากนั้นในภาพยนตร์ฉบับเต็ม ปัจจัยนี้จึงกลายเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้ดิสนีย์ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้มีคาแรกเตอร์ใดคาแรกเตอร์หนึ่งคอยแบกค่ายไว้ตัวเดียว แต่หมายถึงทั้งจักรวาลดิสนีย์จูงมือพากันไปสู่ความสำเร็จ ไม่น่าแปลกเลยที่ความแข็งแกร่งของครอบครัวดิสนีย์จะพารายได้ทะยานสูงขึ้นๆ ไม่ว่าจะปล่อยภาพยนตร์มาสักกี่เรื่อง และหลักความแข็งแกร่งเหล่านี้ยังคงใช้ได้ต่อไปไม่มีเสื่อมคลายแน่นอน เพราะสุดท้ายรากฐานการกล่อมเกลาของเราอยู่ในวัฒนธรรมดิสนีย์ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อครอบครัวเรากับครอบครัวดิสนีย์ยังผูกโยงกันแน่นแฟ้นเสมือนญาติสนิทขนาดนี้ มีเหรอเราจะปฏิเสธญาติสนิทผู้เป็นที่พึ่งเติมเต็มจินตนาการของเด็กในครอบครัว สร้างความโรแมนติกให้กับวัยแรกแย้ม สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ใหญ่ และสุดท้ายปั้นให้ครอบครัวกลมชิดติดกันอย่างอบอุ่น คนไม่ใช่แค่ชอบดิสนีย์ แต่ “ดิสนีย์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน” ไปเรียบร้อยแล้ว
WATCH