CELEBRITY

หวนคืนชีพ! เมื่อธุรกิจ Drive In Theater กลับมามีชีวิตอีกครั้งท่ามกลางกระแสโควิด

แม้ช่วงนี้หลายบ้านจะเกิดปัญหาแล้งแค้นด้านอาหารการกิน หากขึ้นชื่อว่ามนุษย์ย่อมหาหนทางแก้ไขเอาตัวรอดได้วันยังค่ำ สิ่งหนึ่งที่ไม่แล้งเลยคือน้ำใจที่เราได้เห็นจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลและพร้อมใจผนึกกำลังช่วยเหลือกันเองอย่างขมักเขม้น ในขณะที่เรื่องราวการเอาชีวิตรอดด้านอาหารการกินที่ก็นับว่าแก้ไขปัญหากันไปได้บ้างบางส่วน แต่เมื่อเราหันมาพูดถึงด้านธุรกิจกันบ้างโจทย์ใหญ่สำหรับปัญหาในตอนนี้คือเรื่องของการห้ามอยู่ใกล้กันเกินไปด้วยการเว้นระยะห่างทางสัมคม Social Distancing ที่เอาเข้าจริงเรียกว่าเป็นสิ่งที่ยากไม่น้อย เมื่อการทำธุรกิจแทบจะทุกชนิดคุณต้องเอาตัวเองเข้าไปพัวพันอยู่ในสังคมแทบทุกรูปแบบ ช่องว่างตรงนี้จะมองว่ามันคือข้อเสียก็ได้ หากนักครีเอทีฟกลับเรียกมันว่าโอกาส โอกาสในการค้นหาช่องทางและคิดค้นนำเสนอไอเดียต่างๆ ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตัวเอง หนึ่งในนั้นคือการทำ Social Marketing หรือช่องทางการค้าขายออนไลน์ที่เราจะได้เห็นกันยังเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้ช่วงนี้ศูนย์การค้าหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ จะเริ่มเปิดให้ใช้บริการได้บ้างแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของทุกคนมันยากที่จะกลับไปสู่รูปแบบเดิมได้เหมือนเมื่อก่อน

โรงหนังไดร์ฟอินครั้งแรกเมื่อปี 1933 ที่เมือง Camden รัฐ New Jersey, เครดิตภาพ courtesy of brand

ท่ามกลางการเว้นระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลเข้มงวดและกวดขันมากขึ้นในแต่ละวัน การกลับมาของอีกหนึ่งธุรกิจที่เรียกว่า Drive In Theater (โรงหนังไดร์ฟอิน) กลับเริ่มส่อแววเป็นรูปเป็นร่างให้เราได้เห็นกันมากขึ้นในต่างประเทศ หากคนไทยอาจไม่ได้คุ้นเคยกันเสียเท่าไหร่ด้วยไม่ได้มีธุรกิจนี้เป็นหลักแหล่ง แต่ถ้าจะให้อธิบายธุรกิจโรงหนังไดร์ฟอินก็มีความคล้ายกับหนังกลางแปลงบ้านเรานี่แหละ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเข้าไปนั่งดูเป็นการขับรถยนต์เข้าไปเลยทั้งคันบนลานกว้างๆ ที่มีจอโปรเจกเตอร์ฉายอยู่ ธุรกิจนี้เปิดตัวครั้งแรกที่เมือง Camden รัฐ New Jersey ปี 1933 เมื่อนาย Richard M. Hollingshead, Jr ทดลองการสร้างโรงหนังนอกบ้านด้วยการใช้ผ้าใบมาขึงระหว่างต้นไม้และฉายหนังด้วยการใช้โปรเจกเตอร์จาก Kodak ทั้งหมดก็เพื่อแม่ที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าจะนั่งบนเก้าอี้ปกติในโรงหนังได้ เขาอยากให้แม่ได้มีโอกาสดูหนังเหมือนคนอื่นๆ บ้างหากครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหนเพราะได้นั่งบนเก้าอี้พิเศษของตัวเองในรถยนต์คันโปรดที่จะไม่ต้องรู้สึกอึดอัดและคับแคบอีกต่อไป

 

ใครจะรู้ว่าเพราะจุดประสงค์แค่นั้นจะทำให้ธุรกิจนี้กลับเริ่มเป็นที่จับตามองและได้รับความสนใจกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมาเมื่อ Richard พร้อมด้วยญาติเขาอีกสองคนเริ่มต้นทำธุรกิจไดร์ฟอินให้เป็นรูปเป็นร่างและเข้าที่เข้ามาทางมากขึ้น พร้อมเปิดตัวสโลแกนที่เขาใช้เพื่อการโฆษณาธุรกิจครั้งนี้ว่า “โรงหนังสำหรับครอบครัว ไม่ว่าลูกของคุณจะเสียงดังแค่ไหนก็ไม่รบกวนคนข้างๆ” ก็ถือว่าไม่ได้พูดเกินเรื่องแม้แต่น้อยเพราะคุณสามารถหิ้วเอาลูกเล็กเด็กแดง จูงคนแก่คนเฒ่ามา จะนั่งกินอาหารกลิ่นแรงไปด้วย หรือจะเคี้ยวขนมกรุบกรอบดังแค่ไหนก็จะไม่ได้รับสายตาจิกกัดหรือคำพูดก่นด่าจากผู้ชมคนอื่นๆ อย่างแน่นอน

ฉากดูหนังในโรงหนังไดรฟ์อินจากภาพยนตร์เรื่อง Grease, เครดิตภาพ courtesy of brand

นอกจากฟากฝั่งอเมริกาที่เรียกว่าธุรกิจนี้เป็นที่นิยมจนออกลูกหลานมากถึง 4000 แห่งกระจายตัวอยู่ตามรัฐต่างๆ ที่หลายเจ้ายังคงเปิดให้บริการและยังเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งประเทศฝั่งเอเชียอย่างเกาหลีใต้เองก็เป็นประเทศที่นิยมการดูหนังไดร์ฟอินเช่นเดียวกัน อาจพูดได้ว่าสำหรับชาวเกาหลีใต้แล้วการได้นั่งจับมือกันดูหนังในรถยนต์คงให้ช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงหนังปกติทั่วไป เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศแห่งคู่รักที่มักจะมีกิจกรรมมากมายให้ร่วมทำเป็นคู่ๆ หากคุณเดินริมถนนสองข้างทางก็จะเต็มไปด้วยคู่รักวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานเดินเล่นจับมือถือแขนกันอย่างกระหนุงกระหนิง เหล่านี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้โรงหนังไดรฟ์อินในเกาหลีใต้เป็นที่นิยมด้วยก็เป็นได้ เรายังจะได้เห็นการดูหนังที่โรงหนังไดรฟ์อินจากซีรีส์หรือภาพยนตร์ดังหลายเรื่องที่ใช้สถานการณ์นี้เป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครเข้าด้วยกันด้วยซ้ำ ลองนึกภาพคุณไปเดตกับคนที่แอบชอบครั้งแรกที่โรงหนังไดรฟ์อินดูสิ มันคงจะตื่นเต้นและคลาสสิกสุดๆ



WATCH




หนังเรื่อง Once upon a time in Hollywood ถูกฉายอยู่บนโรงหนังไดร์ฟอิน, เครดิตภาพ: Wanted in Rome

อย่างไรก็ตามที่ร้านรวงมากมายเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง แต่สำหรับโรงหนังทั่วไปคงยากที่จะกลับมาเปิดปกติได้ในเร็ววัน แม้สิ่งนี้อาจจะไม่ได้สร้างความกังวลให้กับผู้คนมากเท่าไหร่ ด้วยความรวดเร็วและการเข้าถึงตัวหนังที่ปัจจุบันสามารถทำผ่านโลกโซเชียลได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว ทำให้โรงหนังไดรฟ์อินแม้จะได้โอกาสกลับมาคึกคักอีกครั้งก็ไม่ได้การันตีว่าจะกลับมามีชีวิตอย่างเต็มรูปแบบ คุณต้องไม่ลืมว่าข้อเสียของการดูหนังแบบโรงหนังไดร์ฟอินคือไม่สามารถดูเรื่องใหม่ล่าสุดบน Box Office ได้ รวมถึงเครื่องเสียงและความคมชัดที่คุณภาพคงเทียบไม่ได้กับโรงหนังปกติทั่วไป หากความคลาสสิกก็คือความคลาสสิก คุณคงไม่สามารถเล่น Nintendo Switch แล้วไม่นึกถึง Game Boy Color ได้หรอก เว้นเสียแต่ว่าคุณโตมาในยุคที่มีนินเทนโด้พร้อมสรรพแล้ว อาจเรียกว่ามันเป็นเทรนด์อีกครั้งก็คงจะไม่ผิดเท่าไหร่ หากคุณสังเกตให้ดีคนรุ่นใหม่สมัยนี้ชอบแต่งตัวสไตล์วินเทจอย่างกางเกงเอวสูงขาใหญ่ๆ ชอบฟังเพลงเก่าๆ ผ่านเครื่องเล่นไวนิล ชอบถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มกับกล้องโพลารอยด์ เก็บตังค์ซื้อรถคลาสสิก หรือแม้แต่ตกแต่งบ้านในสไตล์ยุค 70s-80s สิ่งนี้คงบ่งบอกได้อยู่อย่างหนึ่งแน่ๆ คือความคลาสสิกจากยุคก่อนยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราโหยหา ต่อให้โลกหมุนไปไกลแค่ไหนหรือเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเท่าใด ความคลาสสิกคือสิ่งที่ทดแทนกันไม่ได้  

สามพี่น้องเอนตัวเอกเขนกบนหลังรถส่วนตัวเพื่อชมหนังบนโรงหนังไดร์ฟอิน (ก่อนช่วงโควิด-19), เครดิตภาพ: The New York Times

อีกหนึ่งสิ่งที่โรงหนังไดร์ฟอินดูจะตอบโจทย์มากๆ คือรสชาติของการนั่งดูหนังด้วยกัน มันแตกต่างกันมากกับการที่คุณนั่งในห้องพร้อมจ้องดูหนังบนจอโทรศัพท์เหลี่ยมเล็กเพียงคนเดียว หรือเข้าไปนั่งดูหนังในโรงหนังที่ต้องเงียบเสียงเข้าไว้เพื่อไม่ให้รบกวนคนข้างๆ เราเชื่อว่ามีหลายคนชอบที่จะแชร์เรื่องราวระหว่างทางในหนังหนึ่งเรื่องไปพร้อมๆ กันตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกกรี๊ดกร๊าดกับฉากรักของพระนาง โมโหไปกับฉากร้ายๆ ของตัวโกง เอาใจช่วยในฉากต่อสู้ และร้องไห้ไปกับฉากเศร้าๆ ที่คุณคิดว่ามันคงจะดีไม่น้อยถ้าได้ร่วมแบ่งปันความรู้สึกเหล่านี้ไปพร้อมกับคนที่เข้าใจเนื้อเรื่องกันมาตั้งแต่แรก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมเราเชื่อว่าการได้สัมผัสการดูหนังในรูปแบบนี้มันคืออีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราจะได้สร้างสัมพันธ์ไปพร้อมกับคนนั่งข้างๆ ด้วยกัน และนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการนั่งชมและวิเคราะห์หนังจริงๆ เลยด้วยซ้ำ  

ผู้คนกำลังเตรียมตัวสำหรับการดูหนังบนโรงหนังไดร์ฟอิน, เครดิตภาพ: Houston Chronicle

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่าพฤติกรรมของมนุษย์ย่อมต้องเปลี่ยนไป หลังจากที่ครั้งหนึ่งโลกของเราเดินหน้าด้วยความไวมากขึ้นจากการแพร่ขยายของเทคโนโลยีจนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตมาแล้ว แน่นอนว่าครั้งนี้อาจจะพลิกผันไปอีกครั้ง สิ่งที่ใหม่ก็อาจเรียกได้ว่าใหม่มากขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เก่าก็อาจกลับมาใหม่ได้เพื่อการปรับตัวที่กำลังจะเกิดขึ้น เหมือนแผ่นเสียงไวนิลที่กลับมาบูมอีกครั้งเมื่อคนเริ่มหันกลับมาสะสม หากการเปลี่ยนแปลงกลับมีให้เห็นเมื่อหน้าตาของเครื่องเล่นแผ่นไวนิลกลับมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงระบบการใช้งานที่เรียกได้ว่าเพิ่มคุณภาพเสียงมากกว่าเก่า เรายังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเจ้าเครื่องเล่นเพลงที่มีหน้าตาทันสมัยเหล่านี้วางขายในราคาแพงแสนแพงอยู่บนห้างสรรพสินค้าเสียด้วยซ้ำ ไม่แน่ว่าธุรกิจ Drive In Theater ครั้งนี้ก็อาจจะกลับมาในรูปโฉมที่แตกต่างอย่างเหมือนเดิมไม่ว่าจะหน้าจอโปรเจกเตอร์ที่ทันสมัยตอบรับความคมชัดของภาพมากขึ้น หรือระบบสเตอริโอเสียงที่นำเสนอการทำงานได้ยอดเยี่ยมมากขึ้นก็เป็นได้

 

อาจมีอีกหลายสิ่งต่อจากนี้ที่ได้รับโอกาสให้กลับมาแจ้งเกิดบนแสงสีสปอตไลต์ใหม่อีกครั้ง Innovation ของมนุษยชาติเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน แล้วพฤติกรรมของคนหมู่มากแบบเราๆ จะเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง หรือต้องถอยร่นกลับมาที่เดิมเพื่อทบทวนตัวเองกันใหม่อีกรอบ Life finds a way เช่นเดียวกับไอเดียสร้างสรรค์ที่เมื่อถึงเวลาเราย่อมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่สดและแปลกใหม่อย่างแน่นอน

 

 

voguefreemay2020

WATCH