WELLNESS

คนท้องออกกำลังกายอะไรได้บ้าง ถึงจะปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

วิธีการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพทั้งสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

     คนท้องสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ เป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนอาจสงสัย ซึ่งคำตอบก็คือสามารถทำได้ แถมการออกกำลังกายยังช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นลดอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ข้อเท้าบวม และนอนไม่หลับ อีกทั้งยังช่วยให้มีอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็ว และช่วยให้ลูกน้อยในท้องมีสุขภาพสมองและหัวใจที่แข็งแรง อย่างไรก็ดีการออกกำลังกายสำหรับคนท้องจะต้องทำภายใต้ความปลอดภัย ตราบใดที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนและปรับเปลี่ยนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ เท่านี้คนท้องก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างไร้กังวล และนี่คือวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดเซฟทั้งคุณแม่และลูกน้อยในท้อง 

 

1 / 6

 

ว่ายน้ำ

     การว่ายน้ำและแอโรบิกในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่สมบูรณ์แบบสำหรับคนท้อง เพราะเมื่ออยู่ในน้ำจะมีน้ำหนักตัวที่เบากว่า ดังนั้นจะทำให้รู้สึกเบาและคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งการแช่ตัวในสระน้ำยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ ปวดตามข้อ ข้อเท้าบวม และช่วยเซฟข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้คนท้องจะต้องระมัดระวังลื่นล้มในการเดินบนพื้นที่ที่ค่อนข้างลื่น และควรเดินลงน้ำช้าๆ ไม่ควรกระโดดลงน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแรงดันฉับพลัน

2 / 6

 

การเดิน

     ไม่มีอะไรจะเหมาะและง่ายไปกว่าการเดิน โดยการเดินเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและกล้ามเนื้อ คนท้องสามารถออกกำลังกายด้วยการเดินได้จนถึงวันคลอดเลยทีเดียว ที่สำคัญยังไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ แค่มีรองเท้าผ้าใบดีๆ สักคู่ เพื่อซัพพอร์ตเท้าและสร้างสมดุลให้ร่างกายได้ดีเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

 

3 / 6

 

เต้นแอโรบิก

     คลาสแอโรบิกและการเต้นที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น Zumba เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ทั้งนี้คนท้องจะต้องระมัดระวังไม่ให้ออกแรงและหักโหมมากจนเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการกระโดดหรือการเคลื่อนไหวที่มีแรงกระแทกสูง ทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือเล่นแอโรบิกในน้ำ เพราะน้ำจะคอยพยุงน้ำหนักไว้ ช่วยลดภาระในการรับน้ำหนักของข้อต่อลงได้

 

4 / 6

 

ปั่นจักรยานในร่ม

     หากเคยปั่นจักรยานมาก่อนอย่างน้อย 6 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ก็สามารถทำกิจกรรมนี้ต่อไปได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ประจำตัว แต่เมื่อตั้งครรภ์แนะนำให้ปั่นจักรยานในร่มจะดีกว่า เพราะลดความเสี่ยงที่จะล้มหรือบาดเจ็บที่ข้อมือและข้อเท้า ทั้งนี้ควรมีการปรับแฮนด์เพื่อให้ลักษณะหลังตั้งตรงขณะปั่น ไม่เอนไปข้างหน้าจนเกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลังที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

 

5 / 6

 

ยกเวท 

     การยกเวทเป็นวิธีการออกกำลังกายที่ดีในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพียงแต่คนท้องควรใช้น้ำหนักที่ต่ำกว่าปกติ และทดแทนด้วยการทำซ้ำหลายครั้ง (12-15 ครั้งต่อเซ็ต) และจำกัดระยะการเคลื่อนไหวให้ลดลงเพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บ โดยอย่าลืมตั้งสมาธิและกำหนดลมหายใจในขณะยกเวทด้วย เพราะหากยกเร็วเกินไปอาจทำให้รู้สึกมึนหัวได้ง่าย ที่สำคัญเสร็จแล้วอย่าลืมยืดเส้นปิดท้ายเพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยที่อาจตามมา

 

6 / 6

 

โยคะ

     โยคะก่อนคลอด หรือ Prenatal Yoga คือ โยคะที่ออกแบบมาสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย อีกทั้งการทำสมาธิและฝึกลมหายใจยังเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการคลอดอีกด้วย ทั้งนี้ควรมองหาชั้นเรียนโยคะสำหรับคนท้องโดยเฉพาะเพื่อการเล่นท่าที่ปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงการเล่นโยคะร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนมากจนเกินไป

 

     แม้การออกกำลังกายเหล่านี้จะปลอดภัยขณะตั้งครรภ์ แต่ควรคำนึงไว้เสมอว่าจะต้องไม่ออกแรงหรือหักโหมมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ ได้ และเมื่อไหร่ที่รู้สึกถึงอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดน่อง ขาบวม หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรหยุดกิจกรรมทันทีและปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนออกกำลังกายครั้งต่อไป

 



WATCH



ข้อมูล : whattoexpect

WATCH