WELLNESS

ไขข้อสงสัย...น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นจำเป็นแค่ไหนต่อน้องสาวของเรา

แล้วผู้หญิงยังต้องใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นอีกหรือไม่

     ผลิตภัณฑ์ “น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น” มักกล่าวไว้ว่าเราควรต้องรักษาความสะอาดบริเวณน้องสาวแบบเดียวกับที่ใช้เคลนเซอร์ทำความสะอาดใบหน้าและแชมพูสำหรับเส้นผม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ อ่อนโยน ให้ความชุ่มชื้น และปลอดภัยสำหรับผิวบอบบางก็ตาม แต่ก็อาจไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงหากใช้บ่อยเกินไป คำถามที่เกิดขึ้นคือ “แล้วเรายังควรใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นต่อไปหรือไม่” ซึ่งวันนี้เราจะพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

 

 

น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นคืออะไร

     น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น (Feminine Wash) คือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น อาทิ ปากช่องคลอด และบริเวณภายนอกของอวัยวะเพศ  โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำการตลาดว่าออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะ ทำให้รู้สึกสะอาดและมีกลิ่นสดชื่น ทั้งยังเผยว่ามีระดับ pH ใกล้เคียงกับผิวหนังบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งเรามักจะพบผลิตภัณฑ์นี้วางจำหน่ายในส่วนของร้านค้าควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนอื่นๆ 

 

 

ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างไรให้ปลอดภัย

     หลายคนใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นเพื่อต้องการกลิ่นที่หอม แต่ความจริงคือน้องสาวของทุกคนมีกลิ่นของตัวเองโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากชุดของฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า “ฟีโรโมน” การทำความสะอาดที่มากเกินไปนั้นไม่จำเป็นและอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากช่องคลอดนั้นสามารถทำความสะอาดตัวเองได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพช่องคลอดและระบบสืบพันธุ์ที่ดี 

     โดยแพทย์หลายคนแนะนำให้ทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุ่นก็พอแล้ว แต่บางคนอาจยังรู้สึกว่าการล้างน้ำเปล่านั้นยังไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้สบู่หรือน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นเพื่อทำความสะอาดได้เช่นกัน เพียงแต่ควรแน่ใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้นั้นมีความอ่อนโยน ไม่มีน้ำมันหอมระเหย สารเคมี น้ำหอม และปราศจากสารเคมีอันตรายก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

 



WATCH



 

การใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นปลอดภัยหรือไม่

     แม้ว่าผลิตภัณฑ์ล้างจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่จะทำการตลาดว่าปลอดภัยสำหรับผิวแพ้ง่าย ปรับสมดุลค่า pH เป็นธรรมชาติ หรือให้ความชุ่มชื้น แต่ก็อาจจะส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี ซึ่งสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นอาจไปทำลายแบคทีเรียดีตามธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วบริเวณนี้ของผู้หญิงจะมีแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพหลายล้านตัวที่เรียกว่า “แลคโตบาซิลลัส” ซึ่งช่วยรักษาและคืนความสมดุลในช่องคลอด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีสิ่งใดมารบกวนสมดุลของแลคโตบาซิลลัสในบริเวณช่องคลอด ก็จะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อยีสต์ การติดเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) 

 

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น

     น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นอาจไปทำลายสภาพแวดล้อมที่บอบบางของช่องคลอด ด้วยการล้างและกำจัดแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (แลคโตบาซิลลัส) ซึ่งช่วยในการต่อสู้กับการติดเชื้อ และยิ่งหากสวนล้างภายในช่องคลอดจะยิ่งเสี่ยงต่อการระคายเคืองหรือเกิดภาวะต่างๆ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา นอกจากนี้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นยังมักมาพร้อมกลิ่นหอม และมีสารเติมแต่งอื่นๆ จึงสามารถขจัดและทำลายแบคทีเรียตามธรรมชาติในบริเวณนั้น และอาจนำไปสู่การระคายเคือง การอักเสบ และแม้แต่อาการแพ้ได้

 

 

วิธีทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่เหมาะสม

     วิธีทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่เหมาะสม เริ่มจากใช้มือล้างส่วนนอกของแคมเล็กด้วยน้ำ แล้วจึงกวาด “สเม็กมา (Smegma)” สีขาวๆ ออกมา ซึ่งเป็นเพียงการสะสมตัวตามปกติของเซลล์ผิวหนังและน้ำมันที่ลอกออก จากนั้นยกหรือขยับเบาๆ ที่ Clitoral Hood: หมวกคลิตอริส (ส่วนเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอยู่เหนือคลิตอริส) ใช้นิ้วและน้ำล้างให้สะอาด ทั้งนี้ต้องจำไว้เลยว่าไม่จำเป็นต้องสวนล้างหรือทำความสะอาดภายในช่องคลอด เพราะอาจจะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ส่วนในแง่ของความถี่ในการล้างจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำทุกวันเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากผิวของคุณมีน้ำมันตามธรรมชาติและแบคทีเรียทั่วไปที่ช่วยปกป้องผิวบริเวณนี้ เพราะฉะนั้นการล้างบ่อยมากเกินไปสามารถไปทำลายเกราะป้องกันผิว รวมถึงเสี่ยงต่อการระคายเคืองและติดเชื้อได้ 

     โดยสรุปคือ “น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น” อาจไม่มีความจำเป็นต่อน้องสาวของผู้หญิงเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและสารเคมีอันตราย โดยวิธีการล้างทำความสะอาดที่ถูกต้อง แนะนำให้ล้างด้วยน้ำเปล่า (ใช้น้ำอุ่นไหลได้ผลดีในการทำความสะอาดปากช่องคลอด) และสามารถใช้สบู่ที่มีความอ่อนโยนร่วมด้วยได้ สุดท้ายใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการรักษาสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้น

 

ข้อมูล : Verywellhealth, The lowdown

WATCH