WELLNESS
รวมสารอาหารที่มี 'พรีไบโอติก' กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ทำงานอย่างสมดุลเติมจุลินทรีย์ให้กับระบบย่อยอาหารด้วยสารอาหารสำคัญที่ควรรับประทานอย่างเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีมากกว่าเดิม |
“พรีไบโอติก” (Prebiotic) คำๆ นี้หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านๆ มานับครั้งไม่ถ้วน กล่าวคืออาหารซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อย และไม่ถูกดูดซึมได้ในระบบทางเดินอาหาร ทั้งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่จะถูกย่อยด้วยแบคทีเรียบริเวณในลำไส้ใหญ่ โดยจะกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์โปรไบโอติก (Probiotic) มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยแหล่งอาหารส่วนใหญ่จะพบในพืช ผัก ผลไม้ที่มีใยอาหารจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอินนูลิน โปรตีน เปปไทด์ โอลิโกแซ็กคาไรด์ เป็นต้น โว้กบิวตี้จึงได้รวบรวม 10 สารอาหารที่อุดมด้วยพรีไบโอติก หารับประทานง่าย และสามารถนำมาครีเอตได้หลากหลายเมนู
1. กระเทียม
ผักให้กลิ่นแรงอย่างกระเทียมจะช่วยกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหารให้หลั่งออกมาย่อยอาหารในปริมาณมากขึ้น และเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีในการเพิ่มความอยากอาหารสำหรับผู้ที่ไม่เจริญอาหารอีกด้วย
2. กล้วย
กล้วยถือเป็นผลไม้ที่เป็นตัวช่วยที่ดีในการเสริมความแข็งแรงให้กับระบบย่อยอาหาร เพราะกล้วยมีใยอาหารอยู่มากจึงช่วยให้ลำไส้เล็กย่อยอาหารได้ดีขึ้น และช่วยเคลือบกระเพาะอาหารไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูกอีกด้วย
WATCH
3. ถั่ว
ถั่วอุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ที่สำคัญยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย โดยเฉพาะช่วยบำรุงลำไส้ ปรับระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น และบรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้องได้เป็นอย่างดี
4. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
ผลไม้จำพวกเบอร์รี่ไม่ว่าจะเป็นสตรอเบอร์รี่ บลูเบอรี่ ราสเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ หรือมัลเบอร์รี่ ล้วนจัดเป็น Superfood ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุ ที่มีประโยชน์กับร่างกายและยังเป็นผลไม้ที่มีทั้งใยอาหารที่ละลายน้ำ ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงใยอาหารไม่ละลายน้ำที่ช่วยให้ขับถ่ายคล่องมากขึ้น
5. อาร์ติโชก
ประโยชน์หลักๆ ของอาร์ติโชกคือช่วยกระตุ้นการทำงานของตับเพื่อส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารที่ดีขึ้น โดยจะเข้าไปกระตุ้นการสร้างน้ำดีของตับให้ช่วยลดกรดในลำไส้และช่วยย่อยไขมัน พร้อมลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดแก๊สในกระเพาะอาหาร
6. หัวหอม
ผักที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และพรีไบโอติกอย่างหัวหอมนั้นช่วยให้ลำไส้สุขภาพดี ช่วยเพิ่มโปรไบโอติก เช่น สายพันธุ์แลกโตบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรีย ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยอินนูลินของพรีไบโอติก และฟรุกโตลิโกแซ็กคาไรด์ที่ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่เป็นมิตรให้กับลำไส้
7. หน่อไม้ฝรั่ง
หน่อไม้ฝรั่งถือเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตชนิดที่เรียกว่า อินนูลิน ซึ่งเป็นสารประเภทฟรุกโตโอลิโกแซกคาไรด์มีหน้าที่ช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้เพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมยับยั้งการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียตัวร้ายที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้
8. เห็ด
เห็ดอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร โปรตีน และเป็นผักที่มีแคลอรี่ต่ำ ทว่าเห็ดบางชนิดก็อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีแซคาไรด์เช่นกัน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ดีในลำไส้เป็นประโยชน์ที่ดีต่อการขับถ่าย
9. แอปเปิ้ล
ผลไม้ที่มีพรีไบโอติกและมีส่วนประกอบของเพกตินอย่างแอปเปิ้ลนั้นมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่ดีในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้แอปเปิ้ลยังมีกรดมาลิกที่ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำลาย และเพิ่มคุณภาพของฟันและเหงือกของคุณให้แข็งแรงมากขึ้น
10. เมล็ดแฟลกซ์
ปิดท้ายด้วยธัญพืชที่มีปริมาณไฟเบอร์จำนวนมากอย่างเมล็ดแฟลกซ์ซึ่งมีไฟเบอร์ 2 ชนิดคือไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้และไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ ไฟเบอร์เป็นสารอาหารที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ลดอาการท้องผูกและโรคที่เกี่ยวกับอาการลำไส้แปรปรวน ส่วนไฟเบอร์แบบละลายน้ำได้ช่วยให้ย่อยอาหารได้ช้าลง ซึ่งมีช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดคอเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าสารอาหารที่อุดมไปด้วย “พรีไบโอติก” ไม่ใช่สิ่งไกลตัวที่หารับประทานยาก เพราะเป็นอาหารที่หลายคนคุ้นเคยและรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ใครที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายยากหรือปัญหาท้องเสียท้องผูก ลองมองหาอาหารเหล่านี้และรับประทานเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารดีขึ้น
ภาพ : @laurenauerbach
WATCH