WELLNESS
เปิดวิธีสงบสติอารมณ์ เมื่อโดนความวิตกกังวลโจมตี!แนวทางต่อไปนี้จะช่วยให้คลายความรู้สึกวิตกกังวลภายในใจได้ |
ความวิตกกังวลเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกกังวลหรือกลัวต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในอีกไม่กี่นาที ไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น รู้สึกมวนท้องและหัวใจเต้นแรงก่อนการสัมภาษณ์งาน หรืออาการนอนไม่หลับเพราะคิดกังวลเรื่องปัญหาในชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อรู้สึกวิตกกังวล หลายคนต้องการจัดการความรู้สึกไม่สบายใจนี้ให้หายไปโดยเร็วที่สุด แต่นั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก “เพราะเมื่อรู้สึกกังวลว่าจะต้องกำจัดความวิตกกังวล ร่างกายจะส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทว่ามีสิ่งที่ต้องวิตกกังวลมากขึ้น และนั่นทำให้อาการวิตกกังวลยิ่งแย่ลง” ทางที่ดีกว่าคือใช้แนวทางดังต่อไปนี้
สยบความวิตกกังวลด้วยการยอมรับมัน
หนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุดในการบรรเทาความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวคือการยอมรับมัน เมื่อเราปล่อยให้ความวิตกกังวลดำเนินไปโดยไม่ต่อสู้กับมัน ความวิตกกังวลจะลดน้อยลง ในทางกลับกันการพยายามต่อสู้กับความวิตกกังวลจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดอาการตื่นตระหนก และถ้าใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล นั่นจะยิ่งทำให้กลัวมันตลอดไป เพราะไม่รู้จักที่จะจัดการกับมัน และความคิดต่อต้านก็จะยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นแนะนำให้ทำตามแนวทางดังต่อไปนี้แทน
- รับรู้และเข้าใจความวิตกกังวลของตัวเอง: รู้เท่าทันว่าระบบประสาทแห่งความกังวลกำลังทำงานอย่างหนักเพราะเกิดจากการความกังวลเรื่องนั้นๆ อยู่
- อย่าตำหนิตัวเองที่เป็นอย่างนี้: ให้พูดกับตัวเองว่า “นี่เป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกายต่อสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งมีความซับซ้อนและเครียด ซึ่งการรู้สึกแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ”
- จงรู้ไว้ว่าถึงแม้จะวิตกกังวลแต่ก็ยังคงทำงานได้ดีได้: เราทุกคนสามารถรับมือกับความวิตกกังวลได้ และไม่แน่เราอาจเคยทำได้มาก่อนแล้ว ลองนึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่รู้สึกวิตกกังวลแต่ก็ยังทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่ดี เช่น บางทีอาจรู้สึกวิตกกังวลก่อนนำเสนองานหรือการประชุม แต่ต่อมาก็มีคนบอกว่าเราทำได้ดีมาก
วิธีหยุดความวิตกกังวล
เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น
- ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้: จาก 1 ถึง 100 ความวิตกกังวลอยู่ในระดับใด?, มีเหตุผลที่ดีเพียงพอที่จะรองรับว่าจะเกิดความผิดพลาดหรือไม่?, กำลังรู้สึกกังวลมากเกินไปหรือเปล่า?
- แบ่งปันความวิตกกังวลกับคนที่ไว้ใจ: อย่าหลีกหนีความคิดวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ลองพูดคุยกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่สามารถช่วยให้มองเห็นภาพในมุมที่ต่างออกไป
- เตือนตัวเองว่าปลอดภัยดี: เมื่อความวิตกกังวลเข้าเล่นงาน อาจทำให้รู้สึกกลัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจจะยิ่งฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นให้หันมาเตือนตัวเองว่าตอนนี้ตัวเองปลอดภัย ไม่มีสิ่งใดมาทำอะไรได้ ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้มีสติและรีบูสต์สมองและร่างกายให้วิตกกังวลน้อยลง
- เปลี่ยนทิศทางของพลังงานแห่งความกังวล: ความวิตกกังวลอาจเปรียบได้กับเครื่องยนต์ที่กำลังเร่งเครื่อง ให้เราควบคุมพลังงานนั้นและนำไปไว้ที่อื่น เช่น หากกำลังนั่งกังวลอยู่ ให้ลุกขึ้นเดินหรือเดินไปมา หรือออกไปข้างนอกสัก 5 นาที ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วงเวลาสั้นๆ จะช่วยปลดปล่อยพลังงานแห่งความกังวลออกไปได้
- พักผ่อนจิตใจ: ตั้งเวลาสัก 2-3 นาที หลับตา แล้วนึกภาพตัวเองในที่ที่รู้สึกสงบหรือมีความสุข ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลาย แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ แต่จะช่วยตัดวงจรของความคิดวิตกกังวลได้
- หายใจลึกๆ: หายใจลึกๆ เข้าและออกช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ
- เปลี่ยนอิริยาบถ: ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ให้ทำตรงกันข้าม เช่น หากนั่งเพราะกำลังกังวล ให้ลุกขึ้นยืน หรือหากนอนอยู่ใต้ผ้าห่ม ให้ลุกขึ้นล้างหน้า เป็นต้น การเปลี่ยนอิริยาบถจะช่วยดึงความสนใจออกจากความวิตกกังวลได้
- กำหนดเวลาจัดการกับความวิตกกังวล: เลือกช่วงเวลา 15 นาทีในระหว่างวันเพื่อคิดเกี่ยวกับความวิตกกังวล ในช่วงเวลา 15 นาทีนั้น บอกสมองของตัวเองว่าให้ปล่อยความคิดกังวลออกมา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ความคิดกังวลเหล่านั้นเกิดขึ้นนอกเวลาดังกล่าว ให้บอกมันว่า “ฉันยินดีที่จะฟังคุณ แต่กลับมาพรุ่งนี้ตอนบ่าย 3 โมงนะ”
- หากความวิตกกังวลทำให้นอนไม่หลับ ให้ลุกขึ้น: หากนอนบนเตียงแล้วยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ นานกว่า 5 นาที ให้ลุกขึ้นแล้วไปที่ห้องอื่น แล้วเขียนความวิตกกังวลลงไปในกระดาษ และกลับไปนอนเมื่อรู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่ให้ลุกขึ้นอีกครั้งหากยังรู้สึกวิตกกังวลอยู่ อาจต้องใช้เวลา 2-3 คืนในการคิดวนเวียนและทำอยู่แบบนี้ แต่การฝึกแบบนี้จะเป็นการฝึกสมองให้รู้ว่าเตียงมีไว้สำหรับนอน ไม่ใช่สำหรับความวิตกกังวล
WATCH
จริงอยู่ว่ามีหลายสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวล แต่โปรดจำไว้ว่าหากอาการวิตกกังวลกินเวลานานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ความวิตกกังวลในกรณีนี้อาจต้องได้รับการรักษา โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้แก่ มีความกังวลอย่างต่อเนื่องหรือเกือบตลอดเวลา ความกังวลเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวัน และมีอาการแพนิค
ข้อมูล : webmd
WATCH