WELLNESS
หรือไอเท็มบิวตี้เพื่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเพียงความ 'รัก' มากกว่าการ 'รักษ์' โลกรีฟิลได้ รีไซเคิลได้ เท่ากับรักษ์โลกแล้วจริงหรือ? |
ผลลัพธ์ของ “Green Beauty” “Clean Beauty” ทำให้เห็นว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งในตลาดความงามเป็นการ Green Wash แปะป้ายความยั่งยืนที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง ทั้งการรีฟีล รียูส หรือรีไซเคิล ที่ไม่มีการนำเสนออย่างชัดเจนว่ากว่ากระบวนการ “R” ทั้งหลายจะเกิดขึ้นจริงจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีขั้นตอนอย่างไรและระยะเวลาเท่าไหร่ หากสาวกความงามมีความเข้าใจในประเด็นการรักษ์โลกยั่งยืนนี้มากขึ้น จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้
อุตสาหกรรมผลิต “ขยะไมโครพลาสติก”
บนชั้นวางตามบิวตี้สโตร์ที่เรียงรายไปด้วยบิวตี้ไอเท็มหลากหลายแบรนด์ สต๊อกหลังร้านอีกนับร้อย ตัวเลือกที่มีมากมายเช่นนี้อาจฟังดูเป็นข้อดีในการเลือกซื้อ แต่อีกมุมหนึ่ง ขวดครีมหรือตลับเมกอัปที่เห็นละลานตาล้วนเป็นขยะในอนาคตที่แม้ว่าจะแปะป้ายขายความคลีนใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม ซึ่งปัญหาใหญ่ที่อุตสาหกรรมความงามต้องรับมืออย่างเร่งด่วนคือขยะแพ็กเกจจิ้งที่มีกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นล้านชิ้นต่อปี แม้ว่าแพ็กเกจจิ้งหลายชิ้นจะถูกนำเสนอว่าสามารถรีไซเคิลได้ แต่มีแพ็กเกจจิ้งเพียง 14% ที่กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และถูกรีไซเคิลอย่างสมบูรณ์เพียง 9% ส่วนที่เหลือต่างถูกฝังกลบลงดินและใช้เวลาอีกกว่า 450 ปีในการย่อยสลาย
WATCH
นอกจากขยะไมโครพลาสติกแล้ว ขยะเหลือทิ้งจากการสะกัดวัตถุดิบคือปัญหาใหญ่รองลงมา แม้จะใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติก็ตาม ซึ่งวิธีรับมือปัญหานี้ที่ทุกแบรนด์ต่างเริ่มทำกันคือการ “Upcycle” นำสิ่งเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้ต่อ โดยมีจุดเริ่มต้นจากช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ขาดแคลนวัตถุดิบ การนำขยะเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหารหรือการเพาะปลูกมาใช้ทดแทนจึงเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตให้เดินหน้าต่อควบคู่กับการลดขยะไปในเวลาเดียว
ในฐานะผู้บริโภค เราช่วยอะไรได้บ้าง
“ต้องซื้อรีฟีลใช้ซ้ำมากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป ถึงจะเริ่มส่งผลในทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม”
ตามที่รู้กันว่าแบรนด์หรือไอเท็มที่นำเสนอความ ‘คลีน’ มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมลดปัญหาขยะ แต่จะให้ลดปัญหาได้จริง จำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ใช้ด้วยเช่นกัน หากซื้อไอเท็มรักษ์โลกมาใช้จนหมดแล้ว ถ้าไม่สามารถรีฟิลได้ ให้เริ่มต้นที่แยกขยะ สะสมไว้จำนวนหนึ่งก่อนนำไปทิ้งหรือขายให้โรงงานที่รับซื้อ หรือหากเป็นไอเท็มที่สามารถรีฟิลได้ ให้ซื้อรีฟิลมาใช้ต่อ ใช้จนกว่าจะเกิน 5 ครั้งถึงจะช่วยลดทั้งการฟุ่มเฟือยวัตถุดิบ ลดการผลิตคาร์บอน และลดขยะพลาสติก
Krave Beauty กับเป้าหมายการ #PressReset มุ่งมั่นสร้างรูทีนที่พอดีกับความต้องการของผิว พร้อมยืนหยัดในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แพ็กเกจจิ้งรวมถึงการหีบห่อสอดแทรกข้อมูลให้ผู้ใช้งานเห็นภาพการทุ่มเทเพื่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อ่านต่อเรื่องราวของแบรนด์ที่โว้กบิวตี้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟได้ที่นี่
นอกเหนือจากการแยกขยะแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่หากทำได้จะไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแต่จะมีเงินเหลือเก็บยิ่งกว่าเดิม นั่นคือลดการช้อปปิ้งไอเท็มเกินจำเป็น หลายคนอาจติดอยู่กับความคิดผิวสวยด้วยสิบขั้นตอน จนอาจไม่รู้ว่าเอสเซนส์หรือเซรั่มก็มีเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกัน โทนเนอร์หรือโลชั่นก็ใช้เป็นน้ำตบหรือเทลงบนสำลีได้เหมือนกัน เรากำลังทาครีมซ้ำซ้อนจนผิวระคายเคืองอยู่ก็เป็นได้ ลองสำรวจตั้งแต่วันนี้ดูว่าทั้งหมดแล้วเราบำรุงผิวด้วยไอเท็มประเภทอะไรอยู่บ้าง โดยยึดสามขั้นตอนด้านล่างนี้
"Cleansing - Toning - Moisturizing"
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีรายงานว่าสายเกินไปสำหรับการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ วิธีที่กล่าวไปเหล่านี้คือวิธีเบื้องต้นที่หากทำได้สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ขอเพียงแค่เริ่มทำทีละขั้นตอน จะแยกขยะ รีฟิลไอเท็มให้มากกว่า 5 ครั้ง ลดการใช้ผลิตภัณฑ์เกินจำเป็น หรือสนับสนุนแบรนด์ที่โปร่งใสต่อความ Sustainability หากทำได้จริงจนติดเป็นนิสัยในระยะยาว แม้จะ "สาย" แต่ "ไม่เกินแก้" อย่างแน่นอน
ข้อมูล : The British Beauty Council, National Geographic, Dazed Digital
WATCH