WELLNESS

ชวนสังเกต! ปวดหัวตรงไหนบอกอะไรได้บ้าง

อาการปวดหัวพบได้หลายตำแหน่ง ปวดจุดไหน น่าจะเป็นเพราะอะไร พบคำตอบกันได้ในบทความนี้!

     ปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อย ในทุกเพศทุกวัย บางครั้งอาจเป็นเพียงอาการเล็กน้อยที่หายไปเองได้ บางครั้งอาการปวดหัวก็เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากอาการป่วย เช่น ไข้หวัด หรือไมเกรน แต่บางครั้งอาการปวดหัวที่ก็ไม่น่านิ่งนอนใจ เพราะถ้าปวดหนัก หรือปวดบ่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง วันนี้โว้กบิวตี้ขอพาไปสำรวจอาการปวดหัวว่าปวดตรงตำแหน่งไหน บอกอะไร พร้อมบอกวิธีแก้ปวดหัวเบื้องต้น อย่างไรก็ตามถ้าใครปวดมีอาการหัวหนักมากอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีที่สุด

 

ภาพ: Pexel

ปวดหัวตรงหน้าผาก

     อาการปวดหัวบริเวณหน้าผากมักเกิดจากการใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน อาการปวดจะเป็นลักษณะปวดตื้อๆ หรือหนักหัว โดยเฉพาะหลังจากทำงานหน้าจอคอมหรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน หรือถ้าหากมีอาการแน่นจมูกและน้ำมูกเขียวข้นร่วมด้วยเมื่อไหร่ นั่นอาจเป็นสัญญาณของไซนัสอักเสบ

วิธีบรรเทาปวด: พยายามผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำสมาธิ เล่นโยคะ ดื่มน้ำอุ่น และพักสายตาเป็นระยะหากทำงานกับหน้าจอเป็นเวลานาน กรณีเกิดจากไซนัสอักเสบควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

ปวดหัวตรงขมับ

     อาการปวดหัวบริเวณขมับ มักมาจากภาวะไมเกรนที่จะทำให้รู้สึกปวดหัวตุ้บๆ ที่ขมับข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดได้ทั้งสองข้าง อีกสาเหตุคือความเครียดที่จะทำให้รู้สึกปวดแบบตึงๆ แต่ไม่รุนแรงมาก

วิธีบรรเทาปวด: หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น แสงจ้า กลิ่นแรง หรือเสียงดัง พักผ่อนในที่เงียบสงบ และดื่มน้ำให้เพียงพอ หากเป็นไมเกรนที่ทำให้ปวดหัวรุนแรง ควรพบแพทย์จะดีที่สุด

 

ปวดหัวรอบๆ ดวงตา

     อาการปวดหัวรอบดวงตามักเกี่ยวข้องกับ “ปวดหัวชนิดคลัสเตอร์” ซึ่งเป็นอาการปวดหัวรุนแรงที่มักเกิดขึ้นรอบดวงตาข้างเดียว อาจมีอาการร่วม เช่น น้ำตาไหล ตาแดง บวม และมีน้ำมูกไหลข้างเดียวกับที่ปวดหัว นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าเกิดจากความเมื่อยล้าของดวงตาจากการใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือหรือจ้องหน้าจอมากเกินไป

วิธีบรรเทาปวด: หากเป็นอาการเมื่อยล้าของดวงตา ควรพักสายตาเป็นระยะ และใช้แสงที่เหมาะสมระหว่างทำงาน แต่หากเป็นอาการปวดหัวชนิดคลัสเตอร์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

ภาพ: Pexel

ปวดหัวตรงท้ายทอย

     อาการปวดหัวทตรงช่วงท้ายทอย ความเป็นไปได้ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียด ความดันโลหิตสูง การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อคอและไหล่จากการนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือการก้มหน้าดูโทรศัพท์นานเกินไป

วิธีบรรเทาปวด: หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ นวดผ่อนคลายต้นคอและไหล่ แต่ถ้าหากมีภาวะความดันโลหิตสูง ควรควบคุมอาหาร ลดโซเดียม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ กรณีที่เกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อ การประคบอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้

 

ปวดหัวทั่วศีรษะ

     ปวดหัวทั่วศีรษะมักเกิดจากภาวะความเครียดสะสมหรือการอดนอน ซึ่งทำให้รู้สึกหนักหัว เวียนหัว มึนงง ยิ่งหากมีภาระงานมาก หรือมีความเครียดสะสมเยอะๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบศีรษะตึงตัวและทำให้เกิดอาการปวด 

วิธีบรรเทา: นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกหายใจลึกๆ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น ออกกำลังกายเบาๆ หรือทำสมาธิ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำที่อาจทำให้ปวดหัวมากขึ้น

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์: แม้อาการปวดหัวจะพบได้บ่อย และส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการปวดหัวรุนแรงผิดปกติ ฉับพลัน หรือมีอาการร่วมอย่างเช่น แขนขาอ่อนแรง รู้สึกชาครึ่งตัว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เวียนหัวรุนแรง หรือมีไข้สูง ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก

 



WATCH

 
Close menu