WELLNESS

รู้หรือไม่ว่า ‘กรดไขมันอิ่มตัว’ และ ‘กรดไขมันไม่อิ่มตัว’ แตกต่างกันอย่างไร

ไขมันที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพียงแค่เราเลือกรับประทานให้พอเหมาะกับร่างกาย ไขมันก็สามารถทำหน้าที่เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้

     ไขมันที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะไขมันมีความแตกต่างกัน ซึ่งไขมันจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ‘กรดไขมันอิ่มตัว’ และ ‘กรดไขมันไม่อิ่มตัว’ หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักกันในชื่อ ‘ไขมันดี’ และ ‘ไขมันเลว’ มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เพียงเราสามารถเลือกรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงจะทำให้ระบบต่างๆ สามารถดูดซึมไปใช้งานและเกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โว้กบิวตี้พามาทำความรู้จักกับกรดไขมันทั้งสองชนิดนี้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรและสามารถหารับประทานได้จากอาหารชนิดไหนบ้าง

 

กรดไขมันอิ่มตัว

     กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือ ไขมันที่เป็นไขมันเต็มตัว เช่น ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนจับกันเป็นลูกโซ่โดยสมบูรณ์ และไม่มีช่องว่างเหลือที่จะทำปฏิกิริยากับสารใดๆ ในร่างกาย จึงถือเป็นไขมันไม่จำเป็น เพราะจะทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงขึ้นหากได้รับมากเกินไป ซึ่งการมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดสูงก็จะทำให้เสี่ยงหลอดเลือดอุดตันมากขึ้น ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวก็ยังมีความจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแต่ต้องบริโภคในปริมาณที่จำกัด ไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่พบในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อวัวติดมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู (รวมถึงเบคอนและแฮม) เนื้อไก่ที่มีหนัง ไขมันวัว (tallow) น้ำมันหมู กะทิ  ไข่แดง ครีม เนย ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันเต็มส่วนหรือนมพร่องมันเนย รวมถึงของทอดต่างๆ และ Junk foods ก็เป็นอีกประเภทอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง

 

 

กรดไขมันไม่อิ่มตัว

     กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) คือ ไขมันที่ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน จับกันยังไม่สมบูรณ์ ยังมีช่องว่างในลูกโซ่เหลืออยู่ และพร้อมจะเปลี่ยนแปรสภาพเป็นสารอื่นๆ ได้ จึงจำเป็นในการดูดซึมไปใช้งานในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นไขมันที่ได้จากพืช (ยกเว้นจากพืชบางชนิด เช่น กะทิ และน้ำมันปาล์มที่เป็นไขมันอิ่มตัว) ไขมันไม่อิ่มตัวมีผลต่อโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว

 

 

กรดไขมันไม่อิ่มตัว แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fat, MUFA) คือถือเป็นไขมันดี เพราะจะมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดลดลง โดยเฉพาะเมื่อได้รับแทนที่ไขมันอิ่มตัว แหล่งของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวนั้น พบมากในอาหารจำพวกไขมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ อะโวคาโด ฯลฯ
  2. ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fat, PUFA) คือไขมันที่มีอะตอมคาร์บอนจับกันด้วยพันธะคู่ตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป ถือเป็นไขมันดีเช่นกัน และแบ่งแยกย่อยได้เป็น 2 ชนิด คือ โอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6
  • โอเมก้า 3 จะพบได้มากในปลาหลายชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาสวาย ฯลฯ และอาหารจำพวกไขมันจากพืชบางชนิด เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย วอลนัท น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า ฯลฯ มีสรรพคุณเด่นคือ ช่วยต้านการอักเสบ ต้านการแข็งตัวของเลือด ลดไตรกลีเซอไรด์ และช่วยให้หลอดเลือดทำงานดีขึ้น 

 



WATCH



 

  • โอเมก้า 6 จะพบได้มากในอาหารจำพวกไขมันจากพืชบางชนิด ตัวอย่างเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันงา วอลนัท เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ มีสรรพคุณเด่นคือลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดทำให้หลอดเลือดที่หัวใจเป็นปกติ ลดความดันโลหิตสูง ลดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง สามารถช่วยบำรุงตับและใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่ดื่มสุรา และป้องกันโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ โดยลดการแข็งตัวของเยื้อหุ้มเม็ดเลือดแดง ทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น

WATCH

TAGS : GoodFats BadFats