WELLNESS
ผักแต่ละสีมีดีอย่างไร...รวมประโยชน์ของผัก 5 สีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงชี้ประโยชน์ในผัก 5 สี ว่าแต่ละสีมีประโยชน์อย่างไร คุณค่าทางสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและห่างไกลโรคภัยต่างๆ |
รู้หรือไม่ว่าผักแต่ละสีที่เรารับประทานกันเป็นประจำมีประโยชน์และสรรพคุณที่ต่างกันออกไป ซึ่งสีหลักๆ มีทั้งหมด 5 สีที่เราควรรับประทานให้ครบอย่างเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห่างไกลโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง ทั้งยังช่วยปรับสมดุลความสวยจากภายในสู่ภายนอกให้ผิวของเราดูเปล่งปลั่งและอ่อนเยาว์ได้อีกด้วย โว้กบิวตี้รวมประโยชน์ของผัก 5 สีมาไว้ที่นี่แล้ว!
สีแดง
ผักสีแดงมีสารไลโคปีน (Lycopene) และสารเบต้าไซซีน (Betacycin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก พร้อมลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดปริมาณไขมันไม่ดีชนิด นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของริ้วรอยจากสิวอีกด้วย พบมากในหอมแดง, พริกหวาน, พริกชี้ฟ้า, มะเขือเทศ, ดอกกระเจี๊ยบ และบีตรูต เป็นต้น หรือสามารถหารับประทานได้ในผลไม้เช่นกัน ได้แก่ แตงโม, ทับทิม, ส้มโอ, แก้วมังกร, มะละกอสุก, แอปเปิ้ล, สตรอเบอร์รี่, ราสเบอร์รี่ และเชอร์รี่ เป็นต้น
สีเขียว
ผักสีเขียวมีสารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll), ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เมื่อร่างกายเรารับเข้าไปจะเป็นสารตั้งต้นให้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้กับร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดคอเรสเตอรอล ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา มีไฟเบอร์สูงจึงสามารถช่วยเรื่องการขับถ่ายได้ดี ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดริ้วรอยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย พบมากในผักบุ้ง, ผักคะน้า, ตำลึง, ผักโขม, กะหล่ำปลี, บร็อกโคลี, หน่อไม้ฝรั่ง, อะโวคาโด, แตงกวา และถั่วลันเตา เป็นต้น
WATCH
สีม่วง
ผักสีม่วงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า ช่วยปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้และตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ พร้อมช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดท้องเสียและลดการอักเสบได้ดี พบมากในกะหล่ำปลีสีม่วง, มะเขือม่วง, มันม่วง, เผือก, ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวแดง, ข้าวนิล และข้าวเหนียวดำ เป็นต้น
สีส้มและสีเหลือง
ผักสีส้มและสีเหลือง มีสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene), ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และวิตามินซี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ช่วยรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยให้ผิวพรรณสดใส พบมากในฟักทอง, แครอท, ข้าวโพด, มันเทศ, มะนาว, ขมิ้นชัน, เลม่อน และพริกหยวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในผลไม้อื่นๆ เช่น ส้ม, เสาวรส, มะม่วง, แคนตาลูป, มะละกอ และสับปะรด เป็นต้น
สีขาว
ผักสีขาวมีสารแซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีกรดไซแนปติกและอัลลิซิน โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และช่วยลดอาการปวดตามข้อได้ดี พบมากในดอกกะหล่ำ, กระเทียม, เห็ดต่างๆ, หอมหัวใหญ่, มันฝรั่ง, หัวไชเท้า, ผักกาดขาว, หัวปลี, ถั่วงอก, กุยช่ายขาว และลูกเดือย เป็นต้น ส่วนผลไม้จำพวกที่มีสีขาว เช่น แอปเปิ้ล, สาลี่, มันแกว, ฝรั่ง, แก้วมังกร และเงาะ เป็นต้น
ภาพ : @madisonamateau, Courtesy of brands
WATCH