WELLNESS

‘กระเพาะของหวาน' พื้นที่ว่างในร่างกายที่อาจมีอยู่จริง

ใครเคยเป็นบ้างเมื่ออิ่มจากมื้ออาหาราวแล้ว แต่ยังต้องรับประทานของหวานตบท้ายอยู่เสมอ

     “เรามีพื้นที่กระเพาะให้ของหวานเสมอ” หนึ่งในประโยคสุดคลาสสิกที่ได้ยินบ่อยครั้งไม่ว่าในวันนั้นคุณจะรับประทานอาหารในมื้อหลักมาหนักแค่ไหน แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องปิดท้ายด้วยเมนูขนมหวานที่ถือเป็นการปิดฉากมหรสพของมื้ออาหาร แต่เชื่อหรือไม่ว่าพื้นที่ว่างในกระเพาะที่เราเชื่อกันว่ามันมีไว้ให้ของหวานเสมออาจจะมีอยู่จริงก็เป็นได้

 

ภาพจาก Michaela Baum บน Unsplash

     เราต้องเกริ่นกันก่อนว่ากระเพาะของมนุษย์เรานั้นมีเพียงกระเพาะเดียวตามที่เราต่างรู้กัน แต่การเกิดขึ้นของกระเพาะของหวานนั้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรกคือ “กลไกความอิ่มทางประสาทสัมผัส (Sensory-specific satiety)” ซึ่งเป็นความอิ่มที่เกิดจากความรู้สึกเบื่ออาหาร ที่มีต่อรสชาติหรือผิวสัมผัสของอาหารชนิดเดิมๆ เมื่อเรารับประทานอาหารชนิดเดียวกันซ้ำๆ ในปริมาณมาก รสชาติของเมนูนั้นจะเริ่มลดลงจนทำให้เรารู้สึกเบื่ออาหารและอยากรับประทานอาหารชนิดอื่นที่มีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น

 

ภาพจาก American Heritage Chocolate บน Unsplash

     ปัจจัยต่อมาคือ “กลไกความอยากอาหารตามธรรมชาติ (Natural hunger)” หรือความอยากอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของปัจจัยภายนอก เช่น กลิ่นหรือภาพของอาหาร เมื่อเรารับประทานอาหารมื้อหลักเสร็จ ระดับฮอร์โมนความอยากอาหารอย่างเกรลิน (Ghrelin) จะลดลง และระดับฮอร์โมนความอิ่มอย่างเลปติน (Leptin) จะเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มและไม่อยากอาหารอีก แต่เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งระดับฮอร์โมนเหล่านี้จะค่อยๆ ทำให้รู้สึกอยากอาหารอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การสรรหาของหวานมารับประทานนั่นเอง

     นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้วกระเพาะของหวานยังสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยย่อยอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสนิยมในการเลือกรับประทานอาหาร อารมณ์ ความต้องการ รวมไปถึงความเครียด เพราะน้ำตาลในของหวาน มีส่วนช่วยให้การปรับอารมณ์และความรู้สึกให้เป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น ตลอดจนช่วยให้ความเครียดที่พบเจอมาลดลงไป

 



WATCH



ภาพจาก Serghei Savchiuc บน Unsplash

     โดยสรุปแล้ว “กระเพาะของหวาน” อาจไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในเชิงกายภาพ แต่ในแง่ของความรู้สึกแล้วอาจเปรียบเปรยได้ว่ามันคือสิ่งที่มีอยู่จริง เนื่องด้วยกลไกการทำงานของสมองที่ทำให้เราสามารถรับประทานของหวานปิดท้ายมื้ออาหาร ถึงแม้มื้อนั้นจะเป็นบุฟเฟต์แบบจัดเต็มก็ตาม อย่างไรก็ดีการรับประทานของหวานที่มากจนเกินไปยังคงส่งผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคภัยต่างๆ หรือแม้กระทั่งอารมณ์ที่อาจเปลี่ยนได้ง่าย ไม่คงที่ ดังนั้นเราควรรับประทานของหวานในปริมาณที่เพียงพอไม่มากจนเกินไป

 

เรื่อง : Worramate Khamngeon

WATCH