WELLNESS

เช็กอาการแบบไหนเข้าข่าย “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) แก้ก่อนสายเกินไป

อาการที่กำลังบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

“ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) เป็นคำที่คุ้นหูในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ รู้จักกันในวงกว้างว่าเป็นโรคยอดฮิตของวัยทำงาน ขนาดที่ว่าใน 10 คน จะพบคนที่เป็นโรคนี้อย่างน้อย 1 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม นั่งแช่ จ้องจอ เครียด และนอนน้อย

ถึงแม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ละเลยจนกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด อย่าปล่อยให้สายเกินแก้ด้วยการเช็กดูว่าเรากำลังมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ และควรจะทำอย่างไรดี

 


อาการออฟฟิศซินโดรม

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • ปวดช่วงคอบ่าไหล่ หลัง และเข่า อาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง มักมีอาการปวดแบบกว้างๆ สาเหตุเกิดจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อ เกร็งอยู่ตลอด รวมถึงงานที่ต้องยืนนานๆ
  • ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือบางครั้งมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย มีสาเหตุมาจากความเครียดหรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน
  • ปวดข้อมือและนิ้วมือ เป็นอาการที่เกิดจากการจับเมาส์ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานๆ หากปล่อยเวลาไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น นิ้วล็อค เอ็นข้อมืออักเสบ
  • เหน็บชา หากระบบประสาทที่ถูกกดทับนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการชา รวมถึงอาการอ่อนแรง ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการนั่งนานๆ ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
  • ปวดท้อง กรดไหลย้อน ปวดท้องกระเพาะอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาและความเครียด ส่วนอาการปวดท้องน้อยมักเกิดจากการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ
  • ตาแห้ง ตาพร่ามัว อาการเกิดจากต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ สาเหตุอาจมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือนานเกินไป และมักมีอาการตาล้า ปวดตา ตาพร่ามัวร่วมด้วย
  • นอนไม่หลับ อาการปวดต่างๆ รวมถึงภาวะเครียดส่งผลทำให้นอนไม่หลับ หรือ หลับได้ไม่สนิท


วิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรม

  • ไม่นั่งแช่ เมื่อเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง
  • ใช้กฎ 10-20-60 คือ ทุก 10 นาทีให้พักสายตาจากหน้าจอ แล้วเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20 นาที เมื่อครบ 60 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและแขน การปรับอิริยาบถอยู่เสมอจะช่วยลดการปวดเมื่อยได้
  • เปลี่ยนท่านั่ง ท่านั่งที่ถูกต้องคือหลังตรงชิดกับพนักพิง หากที่นั่งของเก้าอี้ลึกเกิน อาจจะหาหมอนหนุน เพื่อช่วยให้หลังตรงได้ และวางเท้าลงบนพื้นให้ขาทำมุม 90 องศา การนั่งแบบนี้จะช่วยป้องกันอาการปวดเมื่อยได้
  • ปรับหน้าจอ ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา แลจอภาพควรห่างจากตา 12-18 นิ้ว และวางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา วิธีนี้จะช่วยให้ไหล่ไม่ต้องเกร็งและป้องกันการเกิดปัญหาต่อข้อมือ
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ช่วยในเรื่องของการยืดเส้นและสร้างความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ทั้งลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็นและข้อยึด และช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • กายบริหาร การทำท่ากายบริหารจะช่วยลดอาการปวดตึงจากออฟฟิศซินโดรม และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ดี
  • กายภาพบำบัด จะช่วยปรับโครงสร้างร่างกายในส่วนที่มีปัญหาให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องทั้งนี้ควรทำภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • พบแพทย์ หากมีอาการขั้นรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและรับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด เป็นต้น

 



WATCH



อย่าลืมที่จะสำรวจตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ หากมีก็ควรทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยไว้นานไม่รีบแก้จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง ไม่เพียงจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดรำคาญเท่านั้น แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว และอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือต้องผ่าตัด

WATCH

คีย์เวิร์ด: สุขภาพ wellness