SKINCARE

รู้ทันสาเหตุของ 'สิวฮอร์โมน' และวิธีการรับมืออย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการลุกลาม

รู้ต้นตอการเกิดสิวฮอร์โมนและวิธีรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองที่ถูกต้อง

สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) เป็นสิวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย มักมีอาการรุนแรง ปวดบวม และอักเสบมากกว่าสิวปกติ พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ 15-18 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามนอกจากวัยรุ่นแล้ว สิวฮอร์โมนยังสามารถเกิดได้ในช่วงที่มีประจำเดือน หรือช่วงหมดประจำเดือนในผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยหรือกำลังเผชิญกับปัญหาสิวฮอร์โมนอยู่ วันนี้โว้กบิวตี้จะพาไปพบกับต้นตอของสิวฮอร์โมนและวิธีการรับมือที่ถูกต้อง

 


สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร?

สิวฮอร์โมน มีสาเหตุหลักๆ มาจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลกัน สามารถเกิดได้ทั้งในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็ว มักพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเนื่องจากสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น ประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

นอกจากนี้ยังเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Androgens) มากกว่าเพศหญิง จึงทำให้ผิวมัน รูขุมขนกว้าง และอุดตัน โดยสิวฮอร์โมนจะมีลักษณะเป็นสิวอักเสบ มีตุ่มขนาดใหญ่ และสร้างอาการปวดบวมมากกว่าสิวทั่วไป

บริเวณที่มักเกิดสิวฮอร์โมน

บริเวณที่มักเกิดสิวฮอร์โมนจะเป็นบริเวณที่มีความมันมากกว่าปกติ คือช่วง T-Zone ได้แก่ หน้าผาก จมูก และคาง รวมถึงบริเวณแก้มและกราม ในบางรายยังสามารถพบได้บริเวณลำคอและแผ่นหลังด้วยเช่นกัน


วิธีรักษาสิวฮอร์โมน


1. ล้างหน้าให้สะอาด

เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการรักษาความสะอาดบนใบหน้า ด้วยการล้างหน้าให้สะอาดทั้งเช้าและเย็น ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยน เหมาะกับสภาพผิว และควบคุมความมัน งดการสครับผิวเพื่อป้องกันการทำร้ายผิวหน้าให้บอบบางลง

2. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันและซิลิโคน

การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหรือซิลิโคนจะทำให้ผิวยิ่งอุดตัน นำไปสู่ปัญหาผิวมันและเกิดสิวตามมา แนะนำว่าให้ใช้ผลิตภัณฑ์ปราศจากสารดังกล่าว หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ออกแบบมาเพื่อผิวเป็นสิวโดยเฉพาะ


3. 
งดสัมผัส แกะ หรือเกาบริเวณสิว

การใช้มือสัมผัสกับสิวจะยิ่งทำให้เกิดแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิวมากกว่าเดิม ดังนั้นนอกจากรักษาความสะอาดของผิวหน้าแล้ว ยังควรรักษาความสะอาดของมือก่อนที่จะสัมผัสบนใบหน้า และไม่ควรแกะหรือบีบสิวเพราะจะยิ่งทำให้สิวอักเสบ เมื่อสิวหายจะทิ้งรอยแผลเป็นและจุดด่างดำเอาไว้ได้

4. เลือกรับประทานอาหาร

เลือกรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้มากขึ้นเพื่อช่วยให้ร่างกายดีท็อกซ์สารพิษตกค้าง และเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ส่งผลดีต่อผิวพรรณ นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อแดง คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลที่สูงเกินไป


5. ลดความเครียด

การลดความเครียดและหากิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยทำให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย เป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลตัวเองจากภายใน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ปัญหาสิวฮอร์โมนลดลงด้วยเช่นกัน


6. ใช้ยารักษาสิว

ยารักษาสิวมีทั้งชนิดที่ใช้ทาและใช้รับประทาน โดยยาประเภทยาสามารถหาได้ง่ายตามทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เจลแต้มสิว หรือ ครีมรักษาสิว สำหรับยาที่ใช้รับประทานจะเป็นในกลุ่มยาปฏิชีวนะ กลุ่มวิตามินเอ หรือยาแก้อักเสบ ทั้งนี้แนะนำว่าหากต้องการใช้ยาประเภทนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะในตัวยาบางชนิดอาจส่งผลต่อตับ ไต รวมถึงการตั้งครรภ์


7. เลเซอร์รักษาสิว

เลเซอร์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยจัดการปัญหาสิวและลดความมันบนใบหน้า รวมถึงลดปัญหารอยแผลที่เกิดจากสิวที่ได้ผลดี เห็นผลค่อนข้างรวดเร็ว แนะนำว่าให้เลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน พร้อมขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดมากที่สุด

 



WATCH



"สิวฮอร์โมน" เป็นปัญหาที่สามารถเกิดซ้ำได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งนี้หากทำตามการดูแลตนเองดังวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือปัญหาสิวเริ่มลุกลาม แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังและเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดของแต่ละบุคคล

เรื่อง : ชลดา คร่ำมา
เรียบเรียง : วราภรณ์ หงส์วรางกูร

WATCH