
MAKE UP
ส่องวิวัฒนาการ T-Beauty ซอฟต์พาวเวอร์สู่ความงามระดับสากล4 ประเด็นที่น่าสนใจสู่การเปลี่ยนแปลงของ T-Beauty |
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไม่เคยซบเซา สำหรับอุตสาหรรมความงามที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด แม้แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายอุตสาหกรรมโดนผลกระทบไปตามๆ กัน แต่ดูเหมือนว่าวงการความงามนั้นยังได้รับกระแสความนิยมอยู่ตลอดและไม่มีท่าทีว่าจะเเผ่วไปแต่อย่างใด หากแต่กลับได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ผู้คนมีเวลาอยู่บ้านและต้องการดูแลตัวเองมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับภาพรวมของตลาดความงามไทยเองก็คาดว่าน่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นรวมไปถึงภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตลาดเครื่องสำอางไทยยังเป็นหนึ่งในท็อปลิสต์ของอุตสาหกรรมที่ช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศไทยและสามารถนับเป็น Soft Power ที่ช่วยผลักดันประเทศไทยได้
หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน T-Beauty อาจจะยังไม่โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับแบรนด์ความงามที่ได้รับความนิยมในระดับสากล แต่ในปัจจุบันศักยภาพของแบรนด์ไทยที่มีจุดเเข็งในเรื่องของการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ การนำเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาใช้ การปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความน่าสนใจและมีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนการทำการตลาดออนไลน์ในยุคสังคมโซเชียล ส่งผลให้ T-Beauty ในปัจจุบันกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยขับเคลื่อนวงการความงามไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
4 ประเด็นที่น่าสนใจสู่การเปลี่ยนแปลงของ T-Beauty
1.การรีแบรนด์สร้างตัวตนแบบใหม่
กรณีที่น่าสนใจและเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีอย่างการรีแบรนด์ (Rebranding) หรือการสร้างภาพลักษณ์รูปแบบใหม่ให้กับแบรนด์เป็นการช่วยสร้างภาพจำให้คนรู้จักแบรนด์ผ่านภาพลักษณ์ที่เราต้องการสื่อสาร อย่างเคสที่น่าสนใจจากแบรนด์ไทยในตำนานอย่าง ศรีจันทร์ หรือ SRICHAND ที่มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี หากใครเป็นสาวกแป้งฝุ่นตลับม่วงคงจะสังเกตเห็นว่าทั้งโลโก้แบรนด์ แพ็กเก็จจิ้งดีไซน์ วิธีการนำเสนอของมีเดียต่างๆ ถูกพลิกโฉมให้มีความมินิมัลเรียบง่ายและทันสมัยกว่าช่วงสิบปีก่อนแบบทันตาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศรีจันทร์กลับมาได้รับความนิยมมากอีกครั้งทั้งในและต่างประเทศ
และอีกหนึ่งเเบรนด์ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในกลุ่มบิวตี้เลิฟเวอร์ชาวจีนอย่างแบรนด์ MISTINE ซึ่งนอกจากจะมีการปรับโฉมเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูเด็กลงและเข้าถึงง่ายยังมีการขยายตลาดเข้าไปเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนโดยเฉพาะ ทำให้แบรนด์มิสทีนกลายเป็นท็อปลิสต์ของบิวตี้แบรนด์ที่ชาวจีนนิยมที่สุดอีกหนึ่งแบรนด์
2.แบรนด์เครื่องหอมซอฟต์พาวเวอร์ที่ดังไกลทั่วโลก
อีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเรียกได้ว่าเป็นจุดเเข็งที่ต้องยกให้แบรนด์ไทย ด้วยวัตถุดิบพื้นเมืองที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนผสมผสานกับวิธีการสื่อสารของทางแบรนด์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ปัญญ์ปุริ (Panpuri) ที่จุดประกายจากแพสชั่นและเป้าหมายที่ต้องเป็นลักชัวรีแบรนด์ไทยให้ได้ทั้งในตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันปัญญ์ปุริก็เป็นเเบรนด์เครื่องหอมที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับชาวต่างชาติ โดยมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศกว่า 20 ประเทศทั่วโลกด้วยกัน
3.แบรนด์น้องใหม่ที่ใส่ใจประสิทธิภาพ
ถ้าพูดถึงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานับว่ามี เครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่เปิดตัวเยอะขึ้นมากในตลาดความงามรวมถึงได้รับการตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จในแง่ของการทำกำไรไปไม่น้อย ขอเริ่มที่เเบรนด์ Her Hyness ซึ่งโด่งดังมาจากผลิตภัณฑ์กันแดดที่เน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืนกับผิวหน้าส่งผลให้ได้รับความนิยมอย่างมากในโลกออนไลน์ขึ้นเป็นสินค้าขายดีที่ทำเอาเกือบขาดตลาด และเเบรนด์ Misumi ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดมาสำหรับผิวที่บอบบางระคายเคืองง่าย ซึ่งก็นับเป็นแบรนด์ไทยน้องใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการใส่ใจในประสิทธิภาพของตัวผลิตภัณฑ์เอง รวมไปจนถึงการเปิดรับของผู้บริโภคที่หันมานิยมเครื่องสำอางไทยที่มีคุณภาพและราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าเเบรนด์ต่างชาติ
4. การสื่อสารแบรนด์ผ่านพรีเซ็นเตอร์
ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้กระแสตอบรับดีในยุคปัจจุบัน โดยการเล่าเรื่องของแบรนด์หรือบ่งบอกตัวตน เอกลักษณ์ วิสัยทัศน์ผ่านตัวเเทนที่เรียกว่าพรีเซ็นเตอร์ โดยแบรนด์ไทยในยุคปัจจุบันต่างก็ใช้วิธีการทางการตลาดนี้มาช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการรับรู้เเบรนด์ในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย
ภาพ : Courtesy of Brands
WATCH