HAIR

เช็กด่วน! เชื้อราบนหนังศีรษะเกิดจากอะไร พร้อมแนะนำวิธีรักษาปัญหาเชื้อราได้อยู่หมัด

เชื้อราบนหนังศีรษะอันตรายและใกล้ตัวกว่าที่คิด เตรียมเช็กสภาพหนังศีรษะของตัวเองว่าเป็นเพียงรังแคหรือเชื้อรา

     ‘เชื้อราบนหนังศีรษะ’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนมักละเลย เนื่องจากมีลักษณะการคันและตกสะเก็ดที่คล้ายกับการเป็นรังแค ทำให้ไม่ได้มีการดูแลหรือรักษาที่ถูกวิธี จึงทำให้ลุกลามกลายเป็นแผลใหญ่ที่ทำให้คันและเจ็บแสบมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่ปัญหาบุคลิกภาพและความมั่นใจได้ วันนี้โว้กบิวตี้เลยขอมาแนะนำวิธีการสังเกตอาการเชื้อราบนหนังศีรษะ พร้อมวิธีแก้และรักษาอย่างตรงจุด

 

 

เชื้อราบนหนังศีรษะคืออะไร

     เชื้อราบนหนังศีรษะ หรือที่เรียกว่า ‘โรคกลากเชื้อราบนหนังศีรษะ’ (Tinea Capitis) คือโรคที่เกิดการติดเชื้อ มีเชื้อรา ปัญหานี้สามารถเกิดได้ทั้งที่รากผม เส้นผม หนังหรือศีรษะชั้นบน เป็นต้น

 

อาการของเชื้อราบนหนังศีรษะ

     ดยส่วนใหญ่แล้วอาการของเชื้อราบนหนังศีรษะจะมีลักษณะคล้ายกับรังแค จึงทำให้หลายคนละเลยปัญหาเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดอาการลุกลามมากขึ้น ดังนั้นแนะนำให้เช็กอาการเหล่านี้ดูเพื่อความแน่ใจระหว่างรังแคและเชื้อรา

  • ลักษณะของผิวหนังบนหัวจะตกสะเก็ดเป็นสีเทาหรือสีแดง เกิดเป็นหย่อมๆ ผมขาดหลุดร่วงได้ 
  • มีอาการเจ็บแสบ ปวดร้อนบริเวณที่เป็นเชื้อรา โดยผิวบริเวณดังกล่าวจะมีลักษณะบวม แดง และสร้างความเจ็บปวด
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อราจะแสดงอาการใน 7 – 14 วัน หรืออาจจะไม่แสดงอาการ แต่เป็นพาหะได้

 



WATCH



 

สาเหตุของเชื้อราบนหนังศีรษะ

     สาเหตุของการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะสามารถเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ อายุ เพศ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การใช้สารเคมีที่รุนแรงกับเส้นผมและหนังศีรษะ รวมถึงพฤติกรรมการทำร้ายเส้นผม เช่น การดัด ทำสีที่ทำให้หนังศีรษะแห้งเสียจนเกิดเป็นปัญหารังแคที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาเชื้อรา
  • หนังศีรษะสกปรก อุดตัน ทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อของเชื้อรา 
  • หนังศีรษะชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดจากการสวมหมวกเป็นประจำ หรือสวมหมวกออกกำลังกาย ซึ่งทำให้หนังศีรษะเหงื่อออกจนเกิดอาการชื้น
  • ได้รับเชื้อจากผู้ที่มีพาหะเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการคลุกคลี หรือการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี อุปกรณ์ทำผม เป็นต้น

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อรา

  • แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่สามารถติดต่อได้ง่าย แต่ก็มักมีกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราบนหนังศีรษะได้เช่นกัน โดยกลุ่มเสี่ยงที่ว่าคือผู้ที่มีอายุระหว่าง 4-14 ปี มีภูมิคุ้มกันต่ำ 
  • ผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวใหญ่ และมีการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิด
  • มีการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดผม อุปกรณ์ทำผมต่างๆ 
  • สระผมไม่บ่อย และปล่อยให้หนังศีรษะสกปรก แนะนำให้สระผมอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
  • ผู้ที่ปล่อยให้หนังศีรษะชื้นเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายและไม่สระผม สวมใส่หมวกตลอดเวลาจนหนังศีรษะอับชื้น
  • ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงและไม่ทำความสะอาดมือก่อนนำมาสัมผัสบริเวณหัวหรือร่างกาย 

 

 

วิธีการรักษาเชื้อรา

     หากรู้ตัวหรือมีอาการที่เข้าข่ายการเป็นเชื้อราบนหนังศีรษะ แนะนำให้สังเกตดูอาการหากมีความรุนแรงมากควรไปพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาและรับการดูแลที่ตรงจุดมากขึ้น หรือสำหรับใครที่มีอาการในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้ดังนี้

  • รักษาความสะอาดบนหนังศีรษะ

     วิธีง่ายๆ ในการรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะด้วยตัวเอง เริ่มต้นด้วยการรักษาความสะอาดของหนังศีรษะด้วยการสระผมเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ไม่ปล่อยให้หนังศีรษะแห้ง หรือมันเกินไป ทั้งนี้หลังสระผมควรเป่าผมให้แห้งสนิทเพื่อไม่ให้หนังศีรษะชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อราได้

  • ดูแลอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องโดนหนังศีรษะโดยตรง

     การดูแลอุปกรณ์ที่โดนกับเส้นผมและหนังศีรษะโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปลอกหมอน หวี ที่นอน ผ้าห่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ควรทำความสะอาดเป็นประจำ สิ่งใดที่สามารถซื้อใหม่ได้ก็แนะนำให้ใช้ของใหม่โดยเฉพาะหวี อุปกรณ์ทำผมอื่นๆ 

  • เลือกรับประทานอาหารมากขึ้น

     หากรู้ตัวว่าเป็นเชื้อราบนหนังศีรษะ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกรับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยแนะนำให้รับประทานวิตามินจำพวกกรดโฟลิก วิตามินบีรวม และวิตามินอี ซึ่งได้แก่ ผักใบเขียว ถั่วชนิดต่างๆ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ หรือเลือกรับประทานอาหารเสริมร่วมด้วย 

  • หมักผมลดเชื้อรา

     การหมักผมจะช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย รวมไปถึงยังช่วยลดอาการคันและรังแคได้ดี โดยสูตรหมักผมเพื่อรักษาเชื้อรามีมากมายหลายสูตร โดยขอยกตัวอย่างสูตรการหมักด้วยน้ำส้มสายชูประมาณ 2 ถ้วยแล้วนำไปต้มให้เดือด จากนั้นปล่อยให้เย็นลงและผสมกับน้ำเปล่า นำมาหมักผมก่อนสระผมเป็นประจำซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดเชื้อราได้ดี

 

     สำหรับใครที่ลองเช็กอาการดูแล้วเข้าข่ายว่ามีเชื้อราบนหนังศีรษะ หากยังมีอาการเริ่มต้นและยังรู้สึกไม่รุนแรง สามารถรักษาด้วยตัวเองก่อนตามวิธีที่โว้กบิวตี้นำมาแนะนำ แต่หากมีอาการที่มากกว่าปกติ รวมถึงมีอาการปวดแสบตามหนังศีรษะแนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่ตรงจุด ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาบานปลาย เพราะจะทำให้หนังศีรษะเป็นแผลที่รักษายาก รวมถึงอาจเป็นพาหะที่นำไปสู่ผู้อื่นได้

 

ภาพ : Canva

WATCH

TAGS : TineaCapitis