TREATMENTS
‘คีลอยด์’ ที่มักเกิดหลังศัลยกรรม จะมีวิธีรับมือและดูแลได้อย่างไรทำความรู้จักกับแผลคีลอยด์ให้มากขึ้น พร้อมสาเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายส่วนทั่วร่างกายไม่ใช่แค่บริเวณจมูก และวิธีรักษาที่ช่วยให้คีลอยด์หายได้จริง |
หนึ่งในปัญหาที่สร้างความหนักใจของคนที่ทำศัลยกรรมคงหนีไม่พ้นเรื่องของแผลเป็น หรือ ‘คีลอยด์’ แผลเป็นที่มีลักษณะขยายใหญ่ นูนขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่สร้างความเจ็บปวดแต่ก็ส่งผลต่อความมั่นใจได้ไม่น้อย นอกจากคีลอยด์ที่จมูกแล้ว ยังสามารถเกิดได้ตามส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย วันนี้โว้กบิวตี้เลยขอพามาทำความรู้จักกับแผลเป็นคีลอยด์ ทั้งสาเหตุการเกิดและวิธีการรักษาดูแลที่ถูกต้อง
คีลอยด์เกิดจากอะไร
แผลคีลอยด์ (Keloid) คือแผลที่เกิดจากการผ่าตัด การโดนของมีคม หรือการเจาะตามร่างกายมีลักษณะนูนและขยายกว้างกว่าบาดแผล เนื่องจากร่างกายมีกลไกที่มีการสมานแผลตามธรรมชาติ โดยคีลอยด์จะเกิดขึ้นหลังจากที่แผลหายสนิทแล้ว ทั้งเกิดได้ทันทีหลังแผลหายหรือหลังจากที่แผลหายไปแล้วสักพัก
ชนิดของคีลอยด์
โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของแผลที่เกิดได้จากหลังผ่าตัด เป็น 2 ชนิด คือชนิดขนาดเล็กและขนาดใหญ่
- แผลเป็นขนาดเล็ก
เรียกว่า Hypertrophic Scar มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นไตแข็งๆ ไม่สร้างความเจ็บปวด หรือคันน้อยกว่าแบบชนิดใหญ่
- แผลเป็นขนาดใหญ่
เรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) คือลักษณะของแผลที่นูน ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน และไม่สามารถจางหายได้เอง ควรรับการรักษาอย่างเฉพาะจุด
อาการของคีลอยด์
โดยทั่วไปแล้วลักษณะภายนอกของแผลคีลอยด์จะมีลักษณะเป็นแผลนูนแดง ขยายใหญ่ โดยสามารถสังเกตได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
- บริเวณแผลมีลักษณะนูนกว่าผิวปกติ
- บริเวณแผลมีลักษณะเงา ไม่มีขนขึ้น
- มีสีที่แตกต่างจากผิวบริเวณอื่น เช่น สีชมพู แดง ม่วง สีคล้ำหรือซีดลง
- มีอาหารคัน ระคายเคือง หรือมีอาการเจ็บเล็กน้อย
WATCH
สาเหตุการเกิดคีลอยด์ในปัจจัยอื่นๆ
นอกจากคีลอยด์ สามารถเกิดได้จากการรับการผ่าตัดแล้ว ยังสามารถเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การดูแลหลังผ่าตัดไม่ดี
เช่น ทำความสะอาดไม่ดี หรือเกิดจากการไปยุ่งหรือสัมผัสแผลมากเกินไป
- พันธุกรรม
สามารถเกิดได้จากเกิดจากพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดแผลได้ง่ายและส่งผลให้เป็นคีลอยด์
คีลอยด์รักษาอย่างไร
- ใช้ยารักษาแผลเป็น
การใช้ยาทาสำหรับแผลเป็นคีลอยด์มีทั้งรูปแบบเจลและครีมโดยในส่วนผสมของยาจะมีส่วนผสมของเรตินอยด์วิตามิน A C และ E มีคุณสมบัติช่วยลดการบวมอักเสบและช่วยให้แผลเป็นนูนอ่อนนุ่มและยุบลงได้ แต่ในกรณีนี้จะได้ผลกับแผลคีลอยด์ที่มีขนาดเล็กเท่านั้น
- ใช้แผ่นแปะแผลคีลอยด์
แผ่นแปะลดคีลอยด์ มักมาในรูปแบบเจลหรือซิลิโคน โดยเป็นการใช้วิธีแปะแผลเพื่อไม่ให้แผลเป็นสัมผัสกับอากาศภายนอก สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้แผลเป็นคีลอยด์ยุบลงได้
- การฉีดแผลคีลอยด์
การฉีดแผลคีลอยด์ จะช่วยรักษาอาการอักเสบ ช่วยลดการระคายเคืองให้ลดลง แนะนำให้ฉีดเป็นประจำสม่ำเสมอภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประสิทธิภาพการรักษาให้ได้ผล
- การเลเซอร์
หากใครที่มีปัญหาแผลคีลอยด์ และต้องการรักษาด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง แนะนำการเลเซอร์ โดยแพทย์จะใช้วิธีการเลเซอร์เพื่อลดการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่จะช่วยลดการอักเสบและลดขนาดของแผลคีลอยด์ให้เล็กลงได้อย่างได้ผล แต่ก็แลกมากับค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง
นอกจากแผลที่จมูก ยังพบได้ที่ไหนบ้าง
แผลคีลอยด์ยังสามารถเกิดได้อีกหลายแห่งบนร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า หู หน้าอก หลัง หน้าท้อง แขน ขา หรือบริเวณอื่นๆ ที่เกิดบาดแผล นอกจากวิธีการรักษาข้างต้นยังสามารถเข้ารับการปรึกษาหาวิธีการรักษาที่ตรงจุดและตอบโจทย์กับแผลเป็นจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้คีลอยด์แม้จะสามารถเกิดได้ขึ้นบ่อย แต่หากรักษาอย่างถูกวิธี งดการสัมผัสกับแผลก็ช่วยให้แผลกลับมาเป็นปกติได้
ภาพ : Canva
WATCH