SKINCARE

#VogueBeautyAsk: ใช้สกินแคร์ใหม่แล้วสิวขึ้นแปลว่า แพ้ หรือ ผิวกำลังปรับตัว (Purging) ดูอย่างไร

โว้กบิวตี้พาทำความเข้าใจสิวที่ขึ้นจากใช้สกินแคร์ใหม่ ว่าเป็นอาการแพ้หรือผิวกำลังปรับตัว

เวลาที่เปลี่ยนใช้สกินแคร์ใหม่เชื่อว่าหลายคนตั้งความหวังไว้สูงว่าผลลัพธ์จะออกมาดีและผิวจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ไม่มีใครสามารถบอกเราได้ว่าสกินแคร์ที่ใช้นั้นเหมาะกับผิวของตัวเองหรือไม่ ได้ดีเท่ากับผิวของตัวเราเอง โดยบางครั้งการเปลี่ยนสกินแคร์ใหม่หรือเพิ่มส่วนผสมใหม่เข้าไปในรูทีนมักจะมาพร้อมกับการตอบรับของผิวที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง อย่าง อาการแพ้และการเกิดสิวเห่อหรือที่เรียกว่า Skin Purging อย่างไรก็ตามสิวเห่อจากการใช้สกินแคร์ใหม่นั้นสามารถมีทั้งแบบที่ดี ซึ่งหมายถึงผิวกำลังปรับตัว และแบบที่ไม่ดีซึ่งก็คือสิวที่โผล่ออกมาหรืออาการแพ้ส่วนผสม 

 

 

สาเหตุของการเกิดสิวเห่อ (Purging) จากการใช้สกินแคร์

ไม่ว่าจะเป็นสิวเห่อจากส่วนผสมของสกินแคร์ใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้หรือสิวที่เกิดจากฮอร์โมน ต้นตอของสิวมีความคล้ายคลึงกันคือเกิดจากการที่ต่อมไขมันในผิวผลิตน้ำมันมากจนเกินไปและปะปนกับเซลล์ผิวเก่าบนชั้นผิวจนเกิดการอุดตันในรุขุมขน ซึ่งเมื่อเจอกับสิ่งสกปรกหรือแบคทีเรียทำเกิดเป็นสิวที่อักเสบหรือโผล่ขึ้นมาบนผิวหน้า อย่างไรก็ตามสิวก็สามารถเกิดขึ้นได้จากสกินแคร์หรือเมกอัพที่เราใช้ เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีเนื้อสัมผัสหนาอาจเข้าไปก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิว นอกจากนี้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมช่วยผลัดเซลล์ผิวอย่าง กรด AHA BHA หรือเรตินอลอาจกระตุ้นการเกิดสิวเห่อที่ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นสิวได้ เพราะส่วนผสมเหล่านี้จะทำหน้าที่กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าออกและป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตันด้วยการผลักสิ่งสกปรกที่ค้างคาอยู่ใต้ผิวออก ซึ่งบางครั้งเมื่อเพิ่งเริ่มใช้ส่วนผสมเหล่านี้และเกิดเป็นสิวจะเรียกว่าเป็นการปรับตัวของผิวที่อาจน่าหงุดหงิดในช่วงแรกและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นผิวที่ดีขึ้นเหมือนกับสายรุ้งหลังพายุฝน 


จะรู้ได้อย่างไรว่า สิวเห่อ หรือ สิว 

เมื่อเริ่มใช้สกินแคร์ใหม่เป็นไปได้ที่ผิวจะมีสิวเห่อเนื่องจากกำลังปรับสมดุล อย่างเช่น การใช้เรตินอลในช่วงแรกอาจก่อให้เกิดอาการผิวแดงง่ายหรืออักเสบ โดยทั่วไปลักษณะของสิวเห่อจะเป็นตุ่มขนาดเล็กขึ้นพร้อมๆ กัน รวมถึงจะขึ้นตามจุดที่เรามักเป็นสิว อย่างเช่น ถ้ามักพบสิวอักเสบบริเวณแก้มก็อาจจะเจอสิวเห่อบริเวณนั้นได้ อีกข้อสังเกตที่ทำให้สิวเห่อมีความแตกต่างจากสิวคือ ระยะเวลา ซึ่งสิวเห่อเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักหายเร็วกว่าเมื่อเทียบกับสิวอักเสบ โดยถ้าใช้สกินแคร์ใหม่หรือส่วนผสมใหม่ในรูทีนผ่าน 4-6 สัปดาห์ไปแล้วและผิวหน้ายังไม่ดีขึ้นอาจเป็นไปได้ว่าสกินแคร์ที่ใช้เข้ากับผิวไม่ได้

บางครั้งสิวก็สามารถเกิดจากการแพ้สกินแคร์เช่นกัน อย่าง เมื่อเริ่มใช้มอยส์เจอไรเซอร์หรือเคลนเซอร์ใหม่ที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน โดยจะสังเกตได้จากการมีสิวขึ้นในที่ที่ไม่ค่อยเป็นสิวหรือมีผื่นคัน ซึ่งสิวที่ไม่เป็นมิตรจะแตกต่างกับสิวเห่อเล็กน้อยตรงที่มีขนาดตุ่มที่ใหญ่กว่าและมักโผล่ขึ้นมาจากผิวเป็นสิวอักเสบที่มีอาการแดง

 
อดทนใช้ต่อหรือพอแค่นี้

ถ้าในกรณีที่เริ่มใช้สกินแคร์ใหม่ที่มีส่วนผสมช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวในกลุ่มเรตินอล กรด AHA/BHA และวิตามินซี อาจต้องเตรียมใจไว้สำหรับอาการสิวเห่อ ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวของผิว โดยถ้าส่วนผสมทำงานไปด้วยกันได้ดีกับผิว อาจเห็นผลลัพธ์ของผิวที่ดีขึ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังเริ่มใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ตามสภาพผิวของแต่ละบุคคล หากในระยะเวลานี้ผิวมีท่าทางว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็อาจต้องอดทนใช้ต่อจนเห็นผลลัพธ์ แต่ถ้าหลังจากหลายสัปดาห์ผ่านไปแล้วผิวเริ่มอักเสบจากสิว แนะนำให้พอแค่นี้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังหากอาการไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ควรคำนึงถึงปัจจัยที่มาจากไลฟ์สไตล์ที่สามารถกระตุ้นการเกิดสิวด้วย เช่น การกิน การนอนพักผ่อน และความเครียด 

 

ข้อมูล : Glamour, mdacne, Byrdie

WATCH