WATCHES & JEWELLERY

เจาะลึกเบื้องหลังการสร้างสรรค์นาฬิกา LVRR-01 Chronographe à Sonnerie จาก Louis Vuitton

เจาะรายละเอียดเรือนเวลาใหม่ LVRR-01 Chronographe à Sonnerie ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกระบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลงานไหนในโลกเคยทำมาก่อน กับการนำเรือนเวลาโครโนกราฟและนาฬิกาเปล่งเสียงขานเวลามาประกอบเข้าเป็นเรือนเดียวกัน

หลังจากเปิดตัวผลงานใหม่จากตระกูล Tambour ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทิศทางและมุมมองความคิดในการสร้างสรรค์เรือนเวลาของ Louis Vuitton ได้เพียงไม่กี่เดือน La Fabrique du Temps Louis Vuitton โรงงานผลิตนาฬิกาชั้นสูงของแบรนด์ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสาวกเครื่องบอกเวลาอีกครั้ง ด้วยโปรโจกต์คอแลบอเรชั่นครั้งใหม่ระหว่างหลุยส์ วิตตองและ Rexhep Rexhepi ผู้ก่อตั้งแบรนด์นาฬิกาอิสระจากกรุงเจนีวา AKRIVIA ที่มาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมพกความปราดเปรื่องที่วัดค่าความสำเร็จได้ด้วยชัยชนะถึง 2 ครั้งจากเวที Grand Prix d’Horlogerie de Genève อันทรงเกียรติในหมู่สาวกเรือนเวลา มาร่วมพัฒนากลไกที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างหมวดหมู่ใหม่เป็นของตัวเองอย่าง LVRR-01 Chronographe à Sonnerie นาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกที่บอกเวลาอย่างแม่นยำด้วยกลไกตูร์บิยงแสนซับซ้อน ที่เป็นการนำเรือนเวลาโครโนกราฟและนาฬิกาเปล่งเสียงขานเวลาหรือรู้จักกันในชื่อ Sonnerie มาประกอบเข้าเป็นเรือนเดียวกัน กับสองหน้าปัดตรงบริเวณด้านหน้าและฝาหลังในสไตล์ที่ต่างกันสุดขั้ว เป็นดีไซน์ที่สะท้อนถึงเรื่องราวและเอกลักษณ์ของสองแบรนด์ได้อย่างน่าทึ่ง

นาฬิกาข้อมือรุ่น LVRR-01 Chronographe à Sonnerie ผลงานคอแลบอเรชั่นระหว่าง Louis Vuitton และแบรนด์นาฬิกาอิสระจากกรุงเจนีวา AKRIVIA

เริ่มจากหน้าปัดบนด้านหน้าของนาฬิกาข้อมือตามธรรมเนียมที่เมื่อมองผ่านฝาแซปไฟร์ใสลงยาสีคล้ายถูกรมควันจะเห็นกลไกสุดล้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยเร็กซ์เฮป กับความมุ่งมั่นที่ไม่ใช่แค่เพียงการให้กำเนิดนวัตกรรมด้านกลไก ทว่ายังมีรูปลักษณ์อันน่าหลงใหลสามารถอวดคาร์ลิเบอร์และกลไกตูร์บิยงบนข้อมือได้อย่างภาคภูมิใจ พร้อมความตระการตาของลูกบาศก์ทองคำฝังงานอีนาเมล 6 ลูกที่ฝังอยู่บนฝาแซปไฟร์ ที่รังสรรค์ด้วยเทคนิค Plique-à-jour เพื่อสดุดีให้กับนาฬิการุ่น Spin Time ของหลุยส์ วิตตอง เป็นตัวแทนของความโมเดิร์นสไตล์อาวองการ์ดของทั้งสองแบรนด์

เมื่อพลิกมาชมบริเวณฝาหลังก็จะพบกับหน้าปัดอีนาเมลสีแบบ Grand Feu กับลวดลายที่แลดูเหมือนเครื่องวัดเวลา และลายเส้นสีแดงและสีน้ำเงินยังทำให้นึกถึงนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของหลุยส์ วิตตองที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อปี 1988 อีกด้วย เหมาะกับหน้าปัดที่ไว้ใช้จับเวลาแบบโครโนกราฟ ซึ่งในขณะที่กำลังใช้ระบบโครโนกราฟเพื่อจับเวลา เสียงเคาะระฆังใสแว่วดังขึ้นทุกหนึ่งนาทีที่เข็มเดินไป นับเป็นกลไกใหม่ที่ยังไม่เคยมีเรือนเวลาไหนเคยทำได้มาก่อน ถ่ายทอดความพิเศษผ่านหน้าปัดสไตล์คลาสสิกที่สะท้อนถึงความเชื่อและเป้าหมายที่ทั้งสองแบรนด์มีร่วมกันถึงแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นที่ห่างกันมากกว่า 150 ปี โดยทั้งตัวเรือนสตีลดีไซน์บึกบึนและสายหนังสีน้ำตาลอันเป็นซิกเนเจอร์ตั้งแต่ยุคแรกของหลุยส์ วิตตองก็ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรือนเวลานี้กลายเป็นผลงานคลาสสิกที่จะกลายเป็นไอคอนแห่งโลกเรือนเวลาได้ไม่ยาก

 



WATCH




1 / 2

เบื้องหลังการสร้างสรรค์นาฬิกาข้อมือรุ่น LVRR-01 Chronographe à Sonnerie จาก Louis Vuitton และ AKRIVIA


2 / 2

เบื้องหลังการสร้างสรรค์นาฬิกาข้อมือรุ่น LVRR-01 Chronographe à Sonnerie จาก Louis Vuitton และ AKRIVIA


 นอกจากนี้หลุยส์ วิตตองยังเพิ่มความพิเศษไปอีกขั้นให้กับผลงานรุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่นที่มีเพียง 10 เรือนในโลก ด้วยการบรรจุเรือนเวลาไว้ในหีบทรงทรังก์ลายโมโนแกรมสุดไอคอนิกที่แจ้งเกิดและสร้างความโด่งดังให้กับแบรนด์ ทั้งยังอวดลายฝีแปรงการเพนต์มือด้วยลวดลายสีน้ำเงินและสีแดงจากหน้าปัดสีขาวตรงบริเวณฝาหลังไว้บนหีบหนัง พร้อมเพนต์หมายเลขลำดับผลงานและชื่อแบรนด์ “AKRIVIA” ที่ตัววีนั้นถูกเปลี่ยนเป็นโลโก้ LV คู่กันของหลุยส์ วิตตอง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่แบรนด์เครื่องหนังยอมผสมโลโก้แบรนด์ของตัวเองเข้ากับแบรนด์อื่น นับเป็นผลงานที่ทวีคูณความพิเศษในทุกด้านทั้งกลไกใหม่ล่าสุดที่ถูกพัฒนามาเพื่อการคอแลบอเรชั่นครั้งนี้ที่ประดับอยู่ภายในตัวเรือนดีไซน์สุดเท่ที่มาในหีบคอสตัม จากนี้ไปสาวกนาฬิกาต้องจับตาดูว่าผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาแผนกนาฬิกาของหลุยส์ วิตตองอย่าง Jean Arnault จะมีโปรเจกต์สุดล้ำอะไรมาบุกโลกนาฬิกาอีก

กล่องทังก์บรรจุนาฬิกาข้อมือรุ่น LVRR-01 Chronographe à Sonnerie จาก Louis Vuitton ที่จับมือสร้างสรรค์ร่วมกับ AKRIVIA

ภาพ : Courtesy of Louis Vuitton

WATCH