WATCHES & JEWELLERY

#VOGUEMORE พาเปิดโลก High Jewelry กะเทาะมุมมองและตามหาแก่นแท้ของเครื่องประดับชั้นสูง

เครื่องประดับชั้นสูงไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นไอคอนที่แสดงถึงฝีมืออันวิจิตรที่เปี่ยมล้นด้วยเรื่องราว

ช่างภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช 
สไตลิ่ง: ตะวัน ก้อนแก้ว 
อาร์ตไดเร็กเตอร์: วิวาน วรศิริ
กราฟิกดีไซเนอร์: บพิตร วิเศษน้อย 
เรื่อง: พรรณธร ธรรมนิภานนท์ 
เครื่องประดับ: Chanel High Jewelry 

 

วงการไฮจิวเวลรีหรือเครื่องประดับชั้นสูงนั้นโลดแล่นอยู่บนในโลกมาอย่างยาวนาน ผ่านทั้งประวัติศาสตร์มากมายที่เราคาดไม่ถึง หากอะไรกันที่เป็นตัวกำหนดความหมาย และแบ่งแยกความแตกต่างของไฮจิวเวลรีออกจากจิวเวลรีธรรมดา #VogueMore ในครั้งนี้เราจะพาแฟนๆ ไปเปิดมุมมองและแก่นแท้ของวงการเครื่องประดับชั้นสูง เพื่อตามหาคุณค่าและความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอัญมณีชิ้นงามและงานคราฟต์ชั้นครู

 

แม้ในประวัติศาสตร์แฟชั่นยุคแรกๆ การสวมใส่เครื่องประดับจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความโชคร้ายและความเจ็บป่วยที่เปรียบได้กับเครื่องราง โดยเน้นที่วัสดุหาง่ายอย่างหิน หนัง กระดูก หรือพวกเปลือกหอย พัฒนาสู่ยุคที่เริ่มมีการขุดเจาะค้นพบอัญมณีหลากชนิด ทำให้เครื่องประดับธรรมดากลายมาเป็นจิวเวลรีที่มอบความหมายในแบบใหม่ สัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงสถานะทางสังคม บารมี ความสัมพันธ์ และความรัก ซึ่งปัจจุบันเองยังตีความเพิ่มเติมได้ถึงความมุ่งมั่นและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อีกด้วย เครื่องประดับมีบทบาทสำคัญไม่ต่างจากเสื้อผ้า เป็นเครื่องหมายของบุคคลและสิ่งยึดมั่นในกลุ่มสังคม เหมือนแหวนแต่งงานที่เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นที่คนสองคนมีให้กัน หากไต่บันไดขึ้นไปอีกขั้นสู่ไฮจิวเวลรีหรือเครื่องประดับชั้นสูงคือวิวัฒนาการที่มอบความหมายแห่งความศิวิไลซ์และความรุ่งเรือง สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าเครื่องประดับมีวิวัฒนาการและการแปรเปลี่ยนความหมายอย่างไรบ้างเมื่อเวลาหมุนผ่านไป

 

สำหรับไฮจิวเวลรีเองมันคือเครื่องบ่งบอกรากฐานชีวิตและสังคมของผู้สวมใส่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เจ้าเนื้อเชื้อพระวงศ์ไปจนถึงท่านขุนมูลนายคือกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมกับเหล่าแบรนด์ไฮจิวเวลรีชั้นนำ ทั้ง Van Cleef & Arpels ที่โลดแล่นอยู่ในทำเนียบเครื่องประดับของราชวงศ์หลายต่อหลายรุ่นทั้งราชวงศ์อังกฤษ ราชวงศ์เบลเยี่ยม หรือราชวงศ์โมนาโกที่เจ้าชายเรนีเยร์มอบสร้อยไข่มุก 3 เส้นให้กับสาวสังคมอย่าง Grace Kelly เป็นของกำนัลในวันแต่งงาน การเดินทางของเหล่าเครื่องประดับชั้นสูงมักมีเรื่องราวน่าทึ่งที่ชวนจดจำเสมอ อย่างแบรนด์เก่าแก่ Cartier เองก็ได้รับลูกค้ากระเป๋าโตที่ไม่ได้เดินทางมาแค่เม็ดเงินมหาศาลจากราชวงศ์อินเดีย แต่รวมถึงเพชรเม็ดเขื่องที่นำมาให้แบรนด์เล่นแร่แปรธาตุเนรมิตให้เป็นของแทนใจมอบแก่เหล่ามเหสีและมหารานีในตอนนั้น ที่นี่เองคาร์เทียร์ได้โลดแล่นและมีชีวิตชีวาที่สุดท่ามกลางอาณาจักรชมพูทวีป ในขณะที่เหล่าราชวงศ์ชั้นสูงและผู้มีอันจะกินในยุโรปกำนัลเพชรพลอยและเครื่องประดับชิ้นหรูให้กับภรรยาหรือหญิงสาวผู้เป็นที่รัก แต่สำหรับอินเดียเองเครื่องประดับเหล่านี้ยังมีไว้เพื่อเหล่าสุภาพบุรุษด้วยเช่นกัน เพราะมันคือตัวแทนแห่งอำนาจและความมั่งคั่งของวงศ์ตระกูล

คำอธิบายภาพ: ตุ้มหูคอลเล็กชั่น Tweed d'Ete ทำจากไวท์โกลด์ เยลโล่โกลด์ ไดมอนด์ และเยลโล่ไดมอนด์ จาก Chanel High Jewelry   

 

ไม่เพียงเท่านั้นไฮจิวเวลรีเองยังส่งอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางในเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย อย่างในปี 1952 ผู้ถางทางไฮจิวเวลรีให้กับโลกอเมริกันชนอย่าง Harry Winston เองก็กลายเป็นเจ้าของคอลเล็กชั่นอัญมณีประวัติศาสตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (คอลเล็กชั่นที่ใหญ่ที่สุดเป็นของราชวงศ์อังกฤษ) หนึ่งปีหลังจากนั้นแบรนด์ยังกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานเล่าขานเมื่ออิทธิพลตีแผ่ซ่านไปไกลจนถูกเปรียบเปรยว่าเป็นดั่งเพื่อนคู่ใจของหญิงสาวจากเพลง “Diamonds are a Girl’s Best Friend” ไม่ต่างกับไฮจิวเวลรีอย่าง Tiffany & Co. ที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมสำคัญให้กับคนรุ่นหลังผ่านภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany และยังส่งอิทธิพลมาจนถึงโลกปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นของเหล่าเครื่องประดับในยุคแรกสุดของมนุษย์ที่มีไว้เพียงเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เดินทางสู่ไฮจิวเวลรีชิ้นงามกับการเป็นเครื่องหมายแห่งความร่ำรวย อำนาจ และวาสนา

 

อะไรคือข้อบ่งชี้ว่าเป็น High Jewelry

หากเล่าถามถึงความหมายของไฮจิวเวลรีหรือเครื่องประดับชั้นสูงนั้น ไม่ได้มีคำนิยามตายตัวที่จะกำหนดได้ว่าเป็นรูปแบบไหนอย่างแน่ชัด แต่หากลองได้โอกาสทำความรู้จักหรือศึกษาอยู่ในวงการนี้ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คุณแยกไฮจิวเวลรีออกจากจิวเวลรีทั่วไปได้คือ เหล่าอัญมณีน้ำงาม ความละเอียดในงานฝีมือ และเรื่องเล่าการเดินทางของอัญมณีชิ้นนั้นๆ อัญมณีชิ้นหายากที่มาพร้อมความชำนาญการสร้างสรรค์ซึ่งต้องได้รับการบ่มเพาะมาอย่างยาวนาน ถูกขึ้นรูปให้ไฮจิวเวลรีแตกต่างและโดดเด่นในตลาดโลก ศิลปะของไฮจิวเวลรีคือเครื่องมือที่แสดงออกถึงความรุ่งโรจน์ของชาติพันธุ์ เป็นทั้งสิ่งจรรโลงใจ แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ความมุมานะ และอัจฉริยะทางเทคโนโลยีของมนุษย์…

 

หมุดของตลาด High Jewelry ในอุตสาหกรรมแฟชั่น

การวางตัวของตลาดไฮจิวเวลรีตีคู่มาพร้อมกับประสบการณ์อันยอดเยี่ยม เปรียบเสมือนที่ปรึกษาราคาแพง เมื่อคุณย่างเหยียบเข้าร้านโดยไม่ได้เพียงแค่ต้องการการบริการที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น หากเรื่องเล่าของชิ้นงานจิวเวลรีเองก็เป็นสิ่งดึงดูดให้ความต้องการพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ความชื่นชอบเป็นเรื่องของปัจเจกนิยม ดังนั้นลูกค้าที่เป็นคลื่นลูกใหม่มักมีความต้องการที่มากขึ้นและต้องการในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งตลาดไฮจิวเวลรีเองก็น้อมรับฟังและพยายามตอบสนองให้ได้ถึงขีดสุด เพราะถ้าคุณมีทุกอย่างในมือแล้วสิ่งที่ต้องการชิ้นต่อไปก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถมีได้ ด้วยที่สุดของอัญมนีหายากและงานคราฟต์ชั้นสูงที่ผ่านการบ่มเพาะและสร้างสรรค์เป็นเวลานาน

คำอธิบายภาพ: สร้อยข้อมือคอลเล็กชั่น Tweed Couture ทำจากแพลตินั่มและพิงค์โกลด์ พร้อมด้วยพิงค์แซฟไฟร์และไดมอนด์ จาก Chanel High Jewelry

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไฮจิวเวลรีเป็นที่ต้องการคือการขาดแคลนอัญมณี ความหายากคือสิ่งเร้าชั้นเยี่ยมที่กระตุ้นให้ความต้องการในตลาดพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างไม่มีหยุด และแม้ตัวเลขราคาจะไต่ขึ้นสูงขนาดไหนหากลูกค้าเข้าใจถึงตัวแปรที่ผันตามกันอย่างสมบูรณ์ ราคาที่มากขึ้นย่อมหมายถึงความหายากของชิ้นอัญมนี และยังผสมด้วยเรื่องราว เอกลักษณ์ และแก่นการสร้างงานที่ถ่ายทอดมาจากแบรนด์ นำสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้การออกแบบชิ้นนั้นมีเอกลักษณ์ เพื่อให้เหล่าลูกค้ากระเป๋าหนักจบความพึงใจไว้ที่การได้เป็นเจ้าของไฮจิวเวลรีที่มีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก

 

ไม่เพียงแต่การยื้อแย่งหรือดั้นด้นสรรหาจิวเวลรีชิ้นงามและน้ำเท่านั้น ตลาดไฮจิวเวลรีแต่ละแบรนด์ก็ฟาดฟันกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แม้แต่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกเองก็หันมาจับเส้นทางไฮจิวเวลรีอย่างจริงจัง ดังเช่นแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Chanel ที่หันมาผลิตชิ้นงานไฮจิวเวลรีซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรางเหง้าและดีเอ็นเอของแบรนด์ หยิบเอาลวดลายผ้าทวีตอันเลื่องชื่อมาใช้เพื่อรังสรรค์คอลเล็กชั่น TWEED DE CHANEL ในขณะที่แบรนด์ Louis Vuitton ก็ส่งมอบคอลเล็กชั่นไฮจิวเวลรี Stellar Times แรงบันดาลใจจากดวงดาวที่ดารดาษอยู่บนผืนฟ้า

 

ความท้าทายและอนาคตของโลก High Jewelry

วัฒนธรรมเองก็เป็นส่วนหลักในการขึ้นรูปและหล่อหลอมให้จิวเวลรีแต่ละชิ้นมีเรื่องเล่าและความงามที่แตกต่างกัน หากจุดประสงค์ตั้งต้นของการสวมใส่เครื่องประดับคือการบ่งบอกถึงฐานะและรากฐานทางสังคม ธุรกิจเครื่องประดับชั้นสูงก็มีความท้าทายเช่นกัน ประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมจากที่เรากล่าวไปข้างต้น ด้วยธุรกิจอัญมณีระดับสูงไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยครอบครัวมั่งคั่งที่ร่ำรวยจากสมบัติและมรดกตกทอดอีกต่อไป เพราะโจทย์ในปัจจุบันคือกลุ่มลูกค้าคลื่นใหม่ที่กำลังจับจ่ายอย่างดุเดือด แบรนด์ไฮจิวเวลรีจึงต้องดึงดูดผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นเหล่านักช้อปอายุน้อยผู้เข้าใจโลกดิจิทัลด้วยมุมมองที่สดใหม่และเฉียบคม ลูกค้าเหล่านี้มองหาการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง หมดยุคสุภาพบุรุษในสังคมชั้นสูงที่หมั่นซื้อเครื่องประดับให้สตรี แต่ตอนนี้คือโลกของสุภาพสตรีที่ตกรางวัลให้กับตัวเองด้วยของขวัญชิ้นล้ำค่า



WATCH




คำอธิบายภาพ: สร้อยคอคอลเล็กชั่น Tweed Brodé ทำจากไวท์โกลด์และไดมอนด์ จาก Chanel High Jewelry

 

ไฮจิวเวลรีจึงกำลังลงสนามกลุ่มลูกค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นยังเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงก้าวสู่ความสำเร็จด้วยสองขาของตัวเอง เป็นดั่งรางวัลในชีวิต และยังเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ชั้นสูงที่ต้องการลบภาพจำว่าไฮจิวเวลรีไม่ได้มีไว้เพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่บุคคลที่ Work Hard พอก็สมควรได้รับคุณค่าและรางวัลตอบแทนด้วยเช่นกัน เราจึงได้โอกาสเห็นแบรนด์ไฮจิวเวลรีชักเรือใบพร้อมทอดสมอให้กลุ่มวัยรุ่นกันมากขึ้น แบรนด์ Bulgari ที่เปิดตัวมิวส์รุ่นใหม่อย่าง Zendaya หรือแม้แต่การคว้าศิลปินสาวไทยผู้เป็นไอคอนของคนทั่วโลกอย่าง Lisa มาเป็น Global Brand Ambassador ไปจนถึง Cartier เองก็ไม่ได้มีแต่เพชร พลอย อัญมณีชิ้นใหญ่อย่างคอลเล็กชั่น Magnitude เท่านั้น แต่ดีไซน์เรียบง่ายคลาสสิกอย่างคอลเล็กชั่น Juste un Clou หรือ Cartier Love เองก็เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นยุคปัจจุบันมากทีเดียว ดังนั้นตลาดไฮจิวเวลรีในอนาคตคือการปรับตัวเข้าสู่โลกวิถีใหม่ เราอาจได้เห็นผู้เล่นกลุ่มใหม่เกิดขึ้นบนโลกของไฮจิวเวลรี เพื่อจับจองพื้นที่ในอนาคตอย่างแน่นอน

 

แม้ความคึกคักของตลาดจิวเวลรี ณ ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเงียบเหงาลงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่แบรนด์ไฮจิวเวลรีหลายแบรนด์ยังคงเดินหน้าประมูลเพชรเม็ดใหญ่ด้วยจำนวนเงินมหาศาลเพื่อเก็บเข้าคลังสมบัติกันถ้วนหน้า นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณว่าพลังงานการซื้อขายอัญมณีกำลังจะเริ่มกลับมาคึกคักในอีกไม่ช้า และในโลกที่ตอนนี้ทุกคนถามหาเรื่องความยั่งยืนกันอย่างเข้มข้น หากไม่นานมานี้แว่วว่ายังมีเทรนด์เรื่องเพชรรีไซเคิลกำลังดำน้ำลึกเข้ามาเทียบท่า เราอาจได้เห็นกลุ่มไฮจิวเวลรีลงเล่นและจับตลาดยั่งยืนเพื่อร่วมสร้าง Zero Waste เร็วๆ นี้

WATCH