WATCHES & JEWELLERY

เปิดประวัติศาสตร์การจับเวลาในกีฬาโอลิมปิก จากการตัดสินด้วยตาคน...สู่การเฉือนเส้นชัยด้วยเทคโนโลยี

Omega เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกมาแล้ว 29 ครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เทคโนโลยีการจับเวลาแบบใหม่ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต…

นอกเหนือจากนักกีฬาแล้ว…ผู้จับเวลาในกีฬาโอลิมปิกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โว้กพาเปิดจักรวาลวิวัฒนาการการจับเวลาในกีฬาโอลิมปิกจนถึงปัจจุบัน

 

หากจะเล่าถึงประวัติศาสตร์การจับเวลาในกีฬาโอลิมปิกที่มีการบันทึกไว้คงต้องเล่าย้อนถอยหลังไปนับตั้งแต่ปี 1932 ซึ่งเป็นปีแรกที่โอลิมปิกมีผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการ โดยมีแบรนด์นาฬิกาชื่อก้องโลกอย่าง OMEGA ทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งอย่างบทบาทผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการ หรือ Official Timekeeper ในกีฬาทุกประเภทที่มีการจัดแข่งขัน โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่นครลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปีนั้น ด้วยเทคโนโลยีของนาฬิกาที่ให้ความแม่นยำสูง ทำให้โอเมก้าเป็นแบรนด์นาฬิกาแบรนด์แรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการสำหรับโอลิมปิก โดยในครั้งนั้นได้มีการส่งช่างนาฬิกาจาก Bienne ไปทำหน้าที่ดังกล่าวในนครลอสแอนเจลิส พร้อมกับนาฬิกาจับเวลาความเที่ยงตรงสูงจำนวน 30 เรือน ซึ่งเทคโนโลยีในสมัยนั้นสามารถบอกเวลาได้ละเอียดถึงระดับ 1/10 ของวินาทีเท่านั้น

บรรยากาศการทำงานของผู้จับเวลาในกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1932 ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้ตาคนในการตัดสินการเข้าเส้นชัย / ภาพ: The Courtesy of Omega

 

หลังจากนั้นโอเมก้าก็ทำหน้าที่เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการเรื่อยมา ไล่ตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่การ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชินในปี 1936 ซึ่งมีความท้าทายอยู่ที่กีฬาสกีอัลไพน์ซึ่งจะต้องส่งเวลาออกตัวไว้ในกระเป๋าของนักสกีคนถัดไป มาจนถึงการแข่งขันในลอนดอนปี 1948 ซึ่งเป็นกีฬาโอลิมปิกที่เกิดขึ้นในยุคอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก โดยมนุษย์ได้หยิบเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของสายตาคน ซึ่งในโอลิมปิกครั้งนั้นโอเมก้าได้นำเอาเทคโนโลยีกล้องโฟโต้ฟินิชรุ่นแรกมาใช้ในการตัดสินลำดับของนักกีฬาที่เข้าเส้นชัย รวมถึงในปี 1952 ที่เฮลซิงกิ กับโอกาสครบรอบ 20 ปีการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการได้นำเสนอเทคโนโลยีใหม่อีกครั้งด้วยนาฬิกาขับเคลื่อนด้วยกลไกควอทซ์ โครโนกราฟไฟฟ้ารุ่นนี้มาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ความเร็วสูงที่สามารถบอกเวลาการแข่ง และพิมพ์ผลได้ทันทีที่ความละเอียดระดับ 1/100 ของวินาทีเลยทีเดียว

หน้าตาของเครื่องพิมพ์ความเร็วสูงที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1952 สามารถบอกเวลาแข่งและพิมพ์ผลได้ในทันที / ภาพ: The Courtesy of Omega

 

หน้าประวัติศาสตร์หน้าต่อมาเกิดขึ้นที่เมลเบิร์นในปี 1956 กับการใช้เทคโนโลยีจับเวลาในกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ขวางกั้นการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังเช่นอุปกรณ์จับเวลา เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัว Swim Eight-O-Matic อุปกรณ์บอกเวลาสำหรับกีฬาว่ายน้ำแบบกึ่งอัตโนมัติรุ่นแรกของโลก โดยกลไกการทำงานของอุปกรณ์ชิ้นนี้คือจะเริ่มจับเวลาอัตโนมัติเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณปืน และกลไกจะหยุดลงอัตโนมัติเมื่อมีนักว่ายน้ำเข้าเส้นชัยก่อน โดยตรวจจับผ่านเซ็นเซอร์ได้อย่างแม่นยำแม้ว่าสายตามนุษย์จะไม่สามารถแยกออกก็ตาม



WATCH




เทคโนโลยีการจับเวลาในกีฬาว่ายน้ำของโอเมก้าซึ่งได้รับการพัฒนาให้ละเอียดแม่นยำขึ้นในทุกการแข่งขัน / ภาพ: The Courtesy of Omega

 

ไม่หยุดเพียงเท่านั้น ในปี 1964 โอเมก้ายังเผยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Omegascope หรือการรายงานผลแบบเรียลไทม์ของนักกีฬาที่ด้านล่างของหน้าจอ ที่ทำให้ผู้ชมสามารถรู้ผลเวลาของนักกีฬาแต่ละคนได้ในทันที และนี่คือการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลของการรับชมกีฬาโอลิมปิกที่ไม่ต้องรอฟังผลจากทีมงานหลังบ้านอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นรากฐานของการรับชมกีฬาในปัจจุบันที่แบรนด์โอเมก้าเป็นผู้กรุยทางถางหญ้าไว้ให้เมื่อ 57 ปีก่อนนั่นเอง

ภาพ: The Courtesy of Omega

 

โดยในปี 2020-2021 กับการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โอเมก้าก็ได้นำเสนอเทคโนโลยีใหม่อีกครั้งด้วยระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวและเทคโนโลยีที่ใช้ระบุตำแหน่งแบบใหม่ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ในปริมาณมหาศาล ทำให้ผู้ที่รับชมอยู่ทางบ้านสามารถทำความเข้าใจและประมวลผลการแข่งขันได้อย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงสกอร์บอร์ด, ไฟประจำแท่นกระโดด และเครื่องนับรอบใต้น้ำ

ภาพ: The Courtesy of Omega

 

ซึ่งทั้งหมดนี้คุณสามารถสังเกตเห็นได้ในกีฬาประเภทต่างๆ ตลอดการแข่งขันแข่งขันทั้งหมด 339 รายการ ในกีฬา 33 ชนิด ที่โอเมก้าจะเป็นผู้บอกเวลาทุกวินาทีของการแข่งขัน รวมถึงกีฬาชนิดใหม่อย่างคาราเต้ โต้คลื่น ซอฟต์บอล ปีนหน้าผา และ สเกตบอร์ดด้วย ซึ่งการทำหน้าที่บอกเวลาในโอลิมปิกที่โตเกียวจะต้องใช้ทีมงานผู้จับเวลาและผู้เชี่ยวชาญประจำสนามถึง 530 คน พร้อมทั้งอาสาสมัครอีก 900 คน และสกอร์บอร์ดกว่า 350 กระดานเลยทีเดียว

ภาพ: The Courtesy of Omega

 

การทำหน้าที่เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญซึ่งหลายคนอาจมองข้ามในยามรับชมกีฬา แต่หากขาดผู้จับเวลาไปแล้วนั้นการแข่งขันก็ไม่สามารถดำเนินต่อหรือตัดสินแพ้ชนะได้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ที่กรุงโตเกียว แบรนด์โอเมก้ายังนำเสนอเรือนเวลารุ่นพิเศษลิมิเต็ด เอดิชั่น สำหรับนักสะสมที่ชื่นชอบกีฬาโอลิมปิกให้เก็บในคลังกันด้วย เลื่อนชมได้ในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้

1 / 3

นาฬิการุ่น SEAMASTER DIVER 300M TOKYO 2020 จาก OMEGA


2 / 3

นาฬิการุ่น SEAMASTER PLANET OCEAN TOKYO 2020 LIMITED EDITION จาก OMEGA


3 / 3

นาฬิการุ่น SEAMASTER AQUA TERRA TOKYO 2020 LIMITED EDITION จาก OMEGA


WATCH

คีย์เวิร์ด: OMEGA OLYMPICS