King Charles 3 coronation day
SOCIETY

เจาะลึก! ฉลองพระองค์ขึ้นครองราชย์ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3' ที่ตกทอดมาจากราชวงศ์อังกฤษหลายร้อยปี

ทุกส่วนประกอบของฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 สวมใส่ในพระราชพิธีครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์เรื่องราว และนัยยะสำคัญซ่อนอยู่ทุกอณู! #RoyalFamily #Coronation

     นับเป็นพระราชพิธีสุดยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฟษ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสุดยิ่งใหญ่ในรอบ 70 ปี แห่งราชวงศ์อังกฤษ พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อย่างเป็นทางการ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่หลายคนต่างพูดถึงก็คือ ฉลองพระองค์ขณะประกอบพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ ที่ก่อนหน้านี้มีการออกมาเปิดเผยแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงฉลองพระองค์เสื้อคลุมที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์อังกฤษ นับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 เมื่อปี 1821 จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ผู้เป็นพระราชมารดา

     โดยเริ่มต้นจากฉลองพระองค์เสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา (The Supertunica) ฉลองพระองค์เสื้อคลุมสีทองอร่าม ปักลวดลายคล้ายพรรณไม้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุดคลุมของนักบวชในยุคกลาง และใช้ทองคำจริงในการปักเย็บอย่างประณีต ซึ่งจะทรงเอาไว้ชั้นในสุดก่อนคาดทับด้วยพระปั้นเหน่ง (Coronation Sword Belt) ปักเย็บลวดลาย Arabesque ด้วยด้ายทองคำ ประดับหัวเข็มขัดด้วยทองคำ พร้อมประทับตราสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็น ดอกกุหลาบ พืชไม้มีหนาม และดอกแชมร็อก

     ต่อมาคือเสื้อคลุมจักรพรรดิ (The Imperial Mantle) ที่จะทรงทับไว้บนเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา ซึ่งเสื้อคลุมจักรพรรดิถือเป็นฉลองพระองค์ที่มีความเก่าแก่ที่สุด ตัดเย็บขึ้นจากทองคำ เงิน ผ้าทอง ด้ายเงิน ผ้าไหม ดิ้นทอง และเข็มกลัดทองคำ ถักทอขึ้นเป็นลวดลายคล้ายกันกับพระปั้นเหน่ง ซึ่งได้รับการออกแบบและตัดเย็บขึ้นในปี 1821 เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และสุดท้ายกับถุงพระหัตถ์ (Coronation Glove) ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่นำถุงพระหัตถ์หนังสีขาวของพระอัยกา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 กลับมาใช้อีกครั้งในพระราชพิธีครั้งนี้ 

     ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีคฑาประดับกางเขนหรือ Sceptre และลูกโลกประดับกางเขนหรือ Orb ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต้องทรงถือขณะเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ด้วย โดยคฑาหลวงคือสัญลักษณ์ของความยุติธรรม และความเมตตากรุณา ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในปี 1661 ก่อนที่ในปี 1911 จะมีการนำเพชรขาวเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Cullinan I มาประดับเพิ่มเติม ต่อมาคือลูกโลกประดับกางเขนนั้น เป็นตัวแทนของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา ขององค์ประมุขซึ่งจะทรงถือไว้ในพระหัตถ์ขวา เพื่อแสดงถึงการวางตนเป็นศาสนูปถมภก ทั้งนี้ลูกโลกทองนี้มีน้ำหนัก 1.32 กิโลกรัม ประดับด้วยมรกต ทับทิม แซฟไฟร์ เพชร และมุกอย่างดี



WATCH




ข้อมูล : The Royal Family, Telegraph Uk, Time, Vanity Fair และ British Vogue

WATCH

คีย์เวิร์ด: #RoyalFamily #Coronation #KingCharles3