SOCIETY

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับราชินีองค์สุดท้ายของมองโกเลีย ภาพประวัติศาสตร์ที่ถูกแชร์อย่างบิดเบือน

ภาพของ Genepil ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์ และกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คนพูดถึงความงดงามที่ถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars

     สมเด็จพระราชินีองค์สุดท้ายของมองโกเลียทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมงาน Star Wars สร้างสรรค์ชุดสำหรับตัวละครหลักบางตัวขึ้น...ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะผิดถนัด เพราะการตรวจสอบความจริงจากนักประวัติศาสตร์ทำให้รู้ความจริงว่าตอนนี้ผู้คนเข้าใจผิดอย่างมาก และกำลังแชร์ความผิดพลาดนั้นจนกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งเรื่องราวที่แท้จริงคืออะไร ชุดเด่นจากภาพยนตร์ระดับตำนานได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายของราชวงศ์มองโกเลียหรือไม่ ติดตามได้ในบทความนี้ได้เลย

Bogh Khan ข่านแห่งมองโกเลียองค์สุดท้าย / ภาพ: Tsem Rinpoche

     Genepil หรือสมเด็จพระราชินีองค์สุดท้ายของดินแดนมองโกเลีย ก่อนหน้านี้เธอเป็นเพียงหญิงสาววัยรุ่นธรรมดา จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีทเซนดิน ดองด็อกดูลามสิ้นพระชนม์ในปี 1923 ต่อมาเธอจึงถูกคัดเลือกจากที่ปรึกษาส่วนพระองค์เพื่อเข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อ และขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี โดยมีคู่อภิเษกคือบอจ์ด ข่าน เรื่องราวไม่ได้มีอะไรหวือหวามากนัก จนกระทั่งบอจ์ด ข่านสวรรคตในวันที่ 20 พฤษภาคม 1924 ระบอบกษัตริย์สั่นคลอนจนถูกล้มล้างในเวลาต่อมา และเกอเนอพิลก็กลับบ้านเกิดไปอยู่กับครอบครัว โดยเธอดำเนินชีวิตในฐานะสตรีสูงสุดของมองโกเลียเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น

ภาพสีที่ถูกแชร์และสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็น Genepil / ภาพ: Tsem Rinpoche

     ความน่าสนใจของหน้าประวัติศาสตร์ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวสุดเข้มข้นชวนติดตาม แต่มันเกิดขึ้นเพราะผู้คนแห่งโลกยุคใหม่ย้อนประวัติศาสตร์ไปและสร้างความจริงที่ผิดขึ้น เมื่อต้นปี 2022 มีการแชร์ภาพหญิงสาวแต่งกายในชุดประเพณีเต็มยศของมองโกเลียและระบุว่าเธอคือเกอเนอพิล อีกทั้งหญิงสาวในภาพนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมงานจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์สนำไปสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับตัวละครแพดเม่ อมิดาลา เมื่อเปรียบเทียบภาพดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเป็นความจริง แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญลงมือตรวจสอบภาพอย่างจริงจังก็ทำให้เห็นว่าภาพดังกล่าวอาจไม่ใช่สมเด็จพระราชินีองค์สุดท้ายของมองโกเลียอย่างที่ถูกแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย



WATCH




ภาพบันทึกหน้าจอจากเว็บไซต์ห้องสมุดแห่งชาติของอังกฤษที่ยืนยันว่าภาพนี้เป็นภาพของขุนนางชั้นสูง แต่ไม่มีหลักฐานว่าเป็น Genepil แต่อย่างใด / ภาพ: AFP

     Nicole Ioffredi เจ้าหน้าที่ประสานงานห้องพิมพ์ แผนกทัศนศิลป์ของห้องสมุดแห่งชาติของอังกฤษระบุว่าไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่านี่คือเกอเนอพิล อีกทั้งยังมีข้อมูลสนับสนุนจาก Christopher Atwood ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์มองโกเลีย มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยเขาระบุว่า “มันแปลกมากที่เกอเนอพิลจะสวมเครื่องประดับศีรษะทรงเขาสัตว์แบบในภาพ เพราะถึงแม้บอจ์ด ข่านจะมีพระสนมได้ แต่ด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นนักบวช เขาจึงไม่สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย นั่นแปลว่าเกอเนอพิลแทบไม่มีทางจะสวมเครื่องประดับศีรษะรูปแบบดังกล่าวได้” พร้อมทั้งเสริมว่า “ผมไม่เคยเห็นภาพของเกอเนอพิลแม้แต่ภาพเดียว” มากไปกว่านั้น Yingbai Fu นักศึกษาระดับปริญญาเอกจาก SOAS ที่ค้นคว้าประวัติศาสตร์อย่างจริงจังก็ยืนยันว่าไม่เคยมีหลักฐานว่าภาพดังกล่าวคือเกอเนอพิล

ชุดของตัวละคร Padmé Amidala ที่เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากชุดขุนนางในอดีตของมองโกเลีย / ภาพ: Pinterest

     เหมือนความเชื่อตรงนี้จะสร้างความเข้าใจผิดไปทั่วโลก แต่เรื่องแรงบันดาลใจในการทำชุดแพดเม่อาจไม่ผิดถนัดเสียทีเดียว เพราะรูปแบบของเสื้อผ้า เครื่องประดับศีรษะ รวมถึงทรงผมบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นหญิงสาวชาวมองโกเลีย ผู้สร้างสตาร์ วอร์สอาจหยิบเอามรดกทางวัฒนธรรมของมองโกเลียมาสร้างสรรค์ใหม่ให้อยู่ในภาพยนตร์ไซไฟอย่างลงตัว แม้แรงบันดาลใจดังกล่าวไม่ได้มาจากเกอเนอพิลโดยตรงก็ตาม สุดท้ายการแชร์หรือรับรู้อะไรทางโซเชียลมีเดียอาจต้องได้รับความใส่ใจมากขึ้น บางครั้งข้อมูลไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด หรือถูกบิดเบือนไป ดังนั้นจงเสพอย่างมีสติ ไม่ใช่แค่เชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ แต่ต้องเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

 

ข้อมูล:

factcheck.afp.com

news.yahoo.com

reuters.com

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Genepil #Monoglia