อีกมุมชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า...สตรีผู้อุทิศตนเพื่อวิกฤติโรคเอดส์ และหยุดไฟสงคราม
โครงการทั้งหมดที่ไดอาน่าได้ริเริ่มเอาไว้ สะท้อนถึงตัวตนอันแท้จริงของเธอ ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา ความรัก และความเป็นมนุษย์ อย่างไม่อาจปฎิเสธได้
เรื่องราวชีวิตของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ถูกเล่าซ้ำไม่รู้จบ เรื่องราวอื้อฉาวมากมายขณะที่เธอยังคงมีชีวิตอยู่ถูกนำมาตีแผ่อย่างละเอียด ทั้งการหย่าร้าง, คำให้สัมภาษณ์ในรายการ Panorama เรื่อยไปจนตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิตที่สร้างความเสียใจให้กับคนทั่วโลก ทว่าอีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันอย่าง “งานสังคมสงเคราะห์” กลับไม่ค่อยถูกหยิบขึ้นมาพูดอย่างกว้างขวางมากนัก ทั้งที่จริงแล้วไดอาน่าคือสตรีที่อุทิศตนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมากที่สุดคนหนึ่งของโลกด้วยซ้ำ อนึ่งในเกร็ดเรื่องเล่าแบบปากต่อปากลือกันว่า ไดอาน่าชอกช้ำจากชีวิตรักที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า อีกทั้งชีวิตส่วนตัวหลังรั้ววังที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร ก็ทำให้เธอตัดสินใจหันหน้าไปทำงานการกุศล และงานประเภทสังคมสงเคราะห์นับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่เธอได้ริเริ่มไว้นั้นได้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปตลอดกาล และยังส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก จนได้รับสมญานามว่า “เจ้าหญิงแห่งปวงชน”...
โครการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์นั้น คืองานสังคมสงเคราะห์ภายใต้การดำเนินงานของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่ชัดเจนมากที่สุด ย้อนกลับไปในปี 1982 ไดอาน่าออกเดินทางเยี่ยมผู้ป่วยตามสถานพยาบาลต่างๆ อย่างแข็งขัน พร้อมกันนั้นยังให้ความสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเข้าใจใหม่กับผู้ป่วยเหล่านี้ ที่ถูกตีตราจากสังคมโลกว่าน่ารังเกียจ และไม่อาจร่วมสมาคมด้วยได้ การเข้าเยี่ยมเยียนผู้ป่วยของไดอาน่าจึงไม่เหมือนกับการออกงานสังคมสโมสรทั่วไปของสมาชิกราชวงศ์องค์อื่นๆ เพราะไดอาน่าจะเข้าไปจับมือ กอด และคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยเสมอ โดยไม่มีท่าทีรังเกียจใดๆ แม้แต่น้อย ซึ่งภาพถ่ายที่ถูกโจษขานไปทั่วโลก ก็เห็นจะหนีไม่พ้นเมื่อครั้งที่เธอเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่โรงพยาบาล Central Middelsex และได้นั่งพูดคุยอย่างถึงเนื้อถึงตัวกับผู้ป่วย ซึ่งครั้งนั้นเองที่นับเป็นการยืนยันได้ว่า ไดอาน่าคือนางฟ้าเดินดินตัวจริง
การเข้าไปใช้ชีวิตกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ของไดอาน่า ไม่ใช่แค่การทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวเธอเองแต่อย่างใด หากเธอทำไปเพื่อต้องการเปลี่ยนมายาคติด้านลบของผู้คนในสังคมที่มีต่อผู้ป่วยในยุคนั้น กระทั่งครั้งหนึ่งในปี 1987 เจ้าหญิงแห่งเวลส์คนนี้ยังได้เคยให้สัมภาษณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเอาไว้ว่า “ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครคิด เราสามารถจับมือ โอบกอด และสัมผัสร่างกายของพวกเขาได้ เราสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับเขาได้ในบ้านเดียวกัน หรือแม้แต่การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นเดียวกันกับพวกเขา เราก็ทำได้”
นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงกระแสความคิดด้านลบที่มีติอผู้ป่วย HIV ในยุคนั้นอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ไดอาน่าจะเสียชีวิต เธอยังได้ทำในสิ่งที่หลายคนไม่กล้าทำ นั่นคือการเดินทางเยือนประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อร่วมต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่มีสถานการณ์รุนแรงอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งยังยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าวด้วยตัวเธอเองอีกด้วย
WATCH
(ขวา) เจ้าชายแฮร์รี่เดินทางไปดูงานขององค์กร The Halo Trust ที่ประเทศแองโกลาถึงสองครั้ง ในปี 2553 และปี 2562 เพื่อสานต่อปณิธานของแม่ โดยได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน ณ เขตทุ่นระเบิดที่ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เคยไปเยือนมาก่อนแล้วด้วย
นอกจากโครงการเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ป่วยติดเชื้อ HIV แล้วนั้น ไดอาน่ายังแสดงความกล้าหาญที่หลายคนไม่คาดฝันด้วยการเดินทางไปเยือนเขตพื้นที่ทุ่นระเบิด ประเทศแองโกลา ในเดือนมกราคม ปี 1997 ในชุดเกราะ และหน้ากากป้องกันขององค์กร The Halo Trust จนกลายเป็นภาพข่าว และถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ซึ่งแม้ว่าในครั้งนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะแตกออกเป็นสองขั้ว ที่ขั้วหนึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวของไดอาน่าคือการแทรกแซงทางการเมืองอย่างหนึ่ง และอาจก่อให้เกิดสงครามไม่รู้จบ ทว่าอีกขั้วหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ภารกิจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นานาชาติตระหนักถึงผลเสียอันร้ายแรงจากการใช้ทุ่นระเบิด และการได้รับบาดเจ็บจากสงคราม จนต่อมาได้ถือกำเนิดสนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอีกด้วย ซึ่งจะครบรอบ 20 ปีในการประกาศใช้สนธิสัญญาดังกล่าวในปี 2025 นี้ ที่คาดว่าในเวลานั้นโลกใบนี้จะปราศจากทุ่นระเบิดแล้วเรียบร้อย
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งเมื่อไดอาน่าออกเดินทางเพื่อไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ หลายครั้งที่เธอได้พาลูกชายของเธอทั้งสองคนติดตามไปด้วย นั่นคือเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญชาตญาณมรดกด้านมนุษยธรรมที่ตกทอดไปสู่ลูกๆ ของเธอโดยไม่รู้ตัว เราจึงได้เห็นทั้งสองดยุกสานต่อสิ่งเหล่านั้นที่แม่ของพวกเขาได้สร้างเอาไว้จนสำเร็จลุล่วงกระทั่งปัจจุบัน ในฐานะขององค์อุปถัมภ์หลายโครงการ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของ “มนุษยธรรม” ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในตัวตนของไดอาน่า นอกจากโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และการต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดแล้ว ไดอาน่ายังผลักดัน และขับเคลื่อนช่วยเหลือ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยโรคเรื้อนในหลายประเทศ ไปจนถึงคนไร้บ้านในกรุงลอนดอน และให้การสนับสนุนมูลนิธิที่ทำงานช่วยเหลือสังคมเกี่ยวกับสุขภาพจิตอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จะกลายเป็นที่รักของคนทั่วไปหลายสิบล้านคนทั่วโลกตราบจนวินาทีสุดท้ายของลมหายใจ...
ข้อมูล : Wikipedia-Diana, Princess of Wales, BBC, oprahdaily.com, Bustle และ halotrust.org
WATCH