PANTONE, PAINTONE, Pantone คือ, Pantone สี, Pantone 2022, Pantone 2023, Pantone คืออะไร, Pantone ใครทำ, แพนโทน
LIFESTYLE

'PAINTONE' งานศิลปะที่แสดงรอยฟกช้ำจากการทำร้ายร่างกายแสนเจ็บปวดของคนรักด้วยธีม 'PANTONE'

ความน่าสนใจในการใช้เทมเพลตที่ทุกคนคุ้นตาเพื่อนำเสนอสารที่คนทั่วโลกเข้าใจอย่างเป็นสากลถือเป็นความน่าสนใจที่ศิลปินหญิงคนหนึ่งนำเสนอบนโซเชียลมีเดีย

     “PANTONE” เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกันดี แต่สำหรับศิลปินบางคนอาจหยิบเอาแรงบันดาลใจจากตรงนี้มาสร้างสรรค์งานศิลปะที่เต็มไปด้วยข้อความสะท้อนสังคมที่อาจทำให้ประหลาดใจ เพราะจากเดิมโทนสีถูกไล่ผ่านเฉดความเข้มของสี อีกทั้งยังมีชื่ออ้างอิงชวนให้นึกภาพตามได้ ดังนั้นการสร้างพาเลตต์สีของแพนโทนจึงได้รับความนิยมมาก แต่สำหรับศิลปินนั้นการสร้างเฉดสีขึ้นมาเพื่อเป้าหมายบางอย่างอาจไม่ได้มีแพตเทิร์นตามฉบับดั้งเดิม แต่กำลังพัฒนาความคิดและการตระหนักรู้ของผู้เสพศิลป์ให้รู้สึกถึงเรื่องความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม ทว่าหลายครั้งถูกละเลยจนน่าใจหาย

     ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานของ Leina Fleury ศิลปินสายกราฟิกจากสวิตเซอร์แลนด์ เธอสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้และเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพร้อมกันบรรยายว่า “it’s your fault” เธอหยิบวิธีการนำเสนอของแพนโทนมาปรับแต่งใหม่พร้อมเผยร่องรอยฟกช้ำที่เห็นได้ชัด ไล่เรียงระดับความรุนแรงตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 โดยมีชื่อเรียงลำดับดังนี้ PANTONE®1C, PANTONE®2O, PANTONE®3U, PANTONE®4P และ PANTONE®5S ซึ่งทั้งหมดแสดงถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นบนร่างกายมนุษย์

PANTONE, PAINTONE, Pantone คือ, Pantone สี, Pantone 2022, Pantone 2023, Pantone คืออะไร, Pantone ใครทำ, แพนโทน

Leina Fleury เจ้าของผลงานที่ใช้เทมเพลต PANTONE สุดสร้างสรรค์ / ภาพ: Linkedin

     การไล่เรียงระดับความโหดร้ายด้วยแพตเทิร์นกราฟิกแบบแพนโทนทำให้ผู้พบเห็นนิยามชื่อใหม่ให้ผลงานชิ้นนี้ว่า “PAINTONE” หรือ “โทนแห่งความเจ็บปวด” เพราะนอกจากจะไล่เรียงระดับรอยฟกช้ำแล้ว เลย์น่ายังสอดแทรกคำอธิบายสั้นไล่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ I LOVE YOU, I’M SORRY, NEVER AGAIN, PROMISE และ IT’S YOUR FAULT ซึ่งแต่ละข้อความเปรียบเปรยถึงการทำร้ายร่างกายโดยใช้คำพูดเหล่านี้มาเป็นเกราะกำบัง ไม่ว่าเหตุผลหรือคำพูดสวยหรูอะไรก็ตามแต่แสดงให้เห็นว่ามันทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกาย มากไปกว่านั้นยังสามารถอนุมานได้ว่ามีบาดแผลทางจิตใจที่หนักหนาสาหัสกว่าด้วย

     ทำไมการใช้ความรุนแรงถึงต้องนำเสนอในรูปแบบงานศิลปะ หลายสังคมมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว เดิมทีเรื่องเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ทว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกลายเป็นเรื่องของสังคม เพราะฉะนั้นวิธีการนำเสนองานศิลปะที่ใช้การแสดงร่องรอยความเจ็บปวด คำกล่าวอ้าง และการพัฒนาความรุนแรงนั้นจึงเป็นข้อความที่เป็นสากลเข้าใจได้ทั่วโลก แม้เลย์น่าอาจไม่ใช่ศิลปินชื่อก้องโลก ทว่าเธอสามารถส่งต่อผลงานที่อาจกระตุกต่อมความตระหนักรู้ให้กับคนทั่วทุกพื้นที่ผ่านโลกไร้พรมแดนอย่างโซเชียลมีเดีย ซึ่งการกระทำครั้งนี้ของเธอได้รับคำชื่นชมจากผู้พบเห็นจำนวนมาก

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PAINTONE #PANTONE