LIFESTYLE

'Not Me' ซีรีส์วายไทยมิติใหม่ กับการพูดถึงประเด็นสังคมอย่างตรงไปตรงมา!

การบังคับใช้กฎหมายอยุติธรรม, ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับผู้พิการในสังคม ไปจนถึงประเด็นสมรสเท่าเทียม ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องและเต็มปากในซีรีส์เรื่องนี้

     ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ซีรีส์ Y” ในเมืองไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักไปแล้วในเวลานี้ โดยตลอดกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซีรีส์วายนับว่าเป็นโจทย์สำคัญที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยพยายามจะกระโจนเข้าหามากที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากผลประโยชน์ด้านเม็ดอันเงินมหาศาลที่มีทีท่าว่าจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนั่นเองที่นับเป็นข้อดีที่ทำให้ซีรีส์วายไทยกลายเป็นพื้นที่ที่แออัดไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนที่อยากจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากมัน พัฒนาและรังสรรค์ให้ซีรีส์วายไทยรุดหน้าไปไกลกว่าแค่ “ฉากจูบเรียกจิ้น” ในทุกๆ ปี เช่นเดียวกันกับซีรีส์วายเรื่องล่าสุดจาก GMM TV และ AIS Play อย่าง “Not Me” (เขา...ไม่ใช่ผม) ที่กำลังฉายให้ได้ชมกันอยู่ในตอนนี้

     ความน่าสนใจของซีรีส์วายเรื่อง “Not Me” เขา...ไม่ใช่ผม มีอยู่ทั้งหมด 3 สิ่งด้วยกัน อย่างแรกคือการโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งของคู่จิ้นที่สาววายหลายคนคุ้นตากันเป็นอย่างดี นั่นคือ "อ๊อฟ-จุมพล อดุลกิตติพร" และ "กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์" อย่างต่อมาคือซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ "นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ" หนึ่งในผู้กำกับมือฉมังของวงการบันเทิงไทยที่เคยฝากผลงานระดับรางวัลเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องตามสายน้ำ, อนธการ หรือมะลิลา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้การันตีได้เลยว่าซีรีส์วายลำดับล่าสุดของนุชี่นี้จะไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ เพราะความน่าสนใจข้อสุดท้ายของซีรีส์วายเรื่องนี้ยังอยู่ที่การพูดถึงเรื่องราวของสังคมและการเมืองในประเทศไทยอย่างโจ่งแจ้ง ไม่อ้อมค้อม ซึ่งนับเป็นความน่าสนใจที่ส่งให้ซีรีส์วายเรื่องนี้ถูกพูดถึงจนกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดียอยู่หลายครั้ง

     ซีรีส์วายเรื่องนี้สร้างดีกรีความร้อนฉ่าตั้งแต่ตอนแรกด้วยบทพูดของตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ประเด็นของกฎหมาย ระหว่าง Rule of Law และ Rule by Law ที่ตัวละครในเรื่องสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้หลายคนจะเข้าใจว่าประเทศไทยอยู่ในหมวด Rule of Law ที่หมายถึงกฏหมายสูงสุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด กฏหมายคือผู้ปกครองของรัฐ และทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฏหมาย ทว่าแท้จริงแล้วในทางปฏิบัติดูจะเป็น Rule by Law เสียมากกว่า กล่าวคือผู้มีอำนาจออกกฎหมายมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและทำลายฝ่ายตรงข้าม ก็นับเป็นประเด็นสุดเข้มข้นที่ถูกใส่ลงมาเป็นส่วนผสมในซีรีส์วายเรื่องนี้ หรือจะเป็นประเด็นเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมในสังคมของผู้พิการที่ยังคงต้องต่อสู้ ทั้งในเรื่องของการปฏิบัติตัวจากคนรอบข้างในสังคม, การผลักให้ผู้พิการกลายเป็นภาระสังคม แม้แต่การเรียกร้องสวัสดิการจากภาครัฐเพื่อผู้พิการ ก็กลายเป็นประเด็นที่เข้ามาอยู่ในบทพูดของตัวละครอย่างไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นใดๆ



WATCH




     ไม่เพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่ประเด็นของตัวละครหลักที่เกิดมาในครอบครัวของนักการทูตที่มีเส้นสายก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาสะท้อนให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกันว่า ท้ายที่สุดแล้วการเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้นก็อยู่ใกล้เส้นชัยแห่งความสำเร็จมากกว่าคนอื่น รวมถึงโอกาสที่มีมากกว่าคนอื่น ซึ่งยึดโยงไปจนถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย ที่ทำให้พลเมืองหลายคนต้องพลาดโอกาสในหน้าที่การงานหรือตกหล่นไปจากพื้นที่ในสังคม หรือแม้แต่ล่าสุดที่ซีรีส์วายเรื่องนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งกับฉากเรียกร้องประเด็น “สมรสเท่าเทียม” ของสองตัวละครหลัก ที่ถูกจัดฉากขึ้นท่ามกลางม็อบประท้วงเสมือนจริงอย่างที่ไม่เคยมีซีรีส์วายไทยเรื่องไหนเคยเข้าใกล้ขนาดนี้มาก่อน

     นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของซีรีส์วายในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ที่เส้นเรื่องได้รับการต่อยอดออกไปมากกว่าแค่เรื่องราวของความรักวัยใสทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการปักหมุดหมายสำคัญ สร้างความหวัง และพิสูจน์ตัวเองว่า “ซีรีส์วายก็สามารถสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น และช่วยขับเคลื่อนสังคมได้เช่นเดียวกัน”...

WATCH