‘เปลือยอก’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โว้กชวนย้อนภาพการแต่งกายของหญิงไทยในอดีต สู่ #freenipples
ภายใต้ความหวาดกลัวที่จะถูกติฉินนินทา ถูกตัดสินว่าไม่งาม หรือแม้กระทั่งถูกล่วงละเมิด แต่สังคมกลับไม่สอนให้บุรุษเพศรู้จักให้เกียรติ และยับยั้งกามรณ์ของตัวเอง แม้สตรีผู้นั้นจะแต่งกายอย่างไรก็ตาม
ข้อถกเถียงที่ว่า “อะไรคือคำว่าโป๊” หรือ “สิ่งไหนเรียกว่าอนาจาร” ยังคงเป็นเรื่องปัจเจกหรือไม่… ในสังคมไทยเมื่อเราพูดถึงประเด็นของการ “เปิดเปลื้องยอดอก” ของเพศหญิง เราเชื่อได้เลยว่าเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรคงจะตัดสินว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องอนาจาร ไม่งาม และไม่เหมาะสมกับ “กรอบกุลสตรีไทย” ที่ถูกวางไว้อย่างแน่นอน
ในช่วงทศวรรษหลังมานี้แนวความคิดเกี่ยวกับ ‘เฟมินิสต์’ กลายมาเป็นกระแสหลัก และมีการรณรงค์อย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิและความเสมอภาคทางเพศซึ่งไม่ใช่มีเพียงผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้อง แต่ยังมีกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงผู้ชายหลายกลุ่มด้วยซ้ำที่ช่วยกันออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในฐานะความเป็นคน ที่ไม่ได้แบ่งแยกด้วยชนชั้น สีผิว เพศสภาพ หรือรสนิยมทางเพศ
รูปจิตรกรรมฝาผนังรูปหญิงสาวเปลือยอกในหอไตร วัดระฆัง
อีกหนึ่งแคมเปญที่ถูกพูดถึงทั้งในเชิงสนับสนุน ต่อต้าน และตั้งคำถามก็คือ #freenipples แคมเปญที่สร้างความตระหนักให้ผู้หญิงกล้าที่จะปลดเปลื้องพันธนาการที่โอบรัด “หน้าอก” อันอัดแน่น อวัยวะถูกระบุว่าเป็นเครื่องยั่วยุกามารมณ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการหลุดพ้นจากอำนาจที่กดทับความเป็นอิสระเหนือร่างกาย และสร้างการรับรู้ว่า…ในเมื่อผู้ชายยังโชว์ยอดอกได้โดยไม่มีข้อครหาเรื่องการยั่วยุทางเพศ แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงต้องปฏิบัติตนภายใต้กรอบความคิดแบบตรงข้าม ทั้งๆ ที่เราคือมนุษย์เหมือนกัน
ภาพแสดงรูปการแต่งกายของหญิงในยุคสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจากเอกสารจดหมายเหตุลาลูแบร์
เมื่อได้เห็นการเคลื่อนไหวของแคมเปญ #freenipples ทางออนไลน์อย่างคึกโครมในช่วงหลายปีมานี้ หลายคนอาจมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่ และเป็นการตั้งคำถามที่ท้าทายต่อจารีตของสังคมสำหรับคนยุคมิลเลนเนียล แต่ในความเป็นจริงแล้วการเปลือยหน้าอกของเพศหญิงในประเทศไทยนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย โว้กขอพาทุกคนย้อนเวลาเพื่อเปิดประวัติศาสตร์การแต่งกายของหญิงไทย ก่อนจะวิวัฒนาการมาสู่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการเปลือยจุกอก ซึ่งเผ็ดร้อนยิ่งกว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่เสียอีก
WATCH
ภาพถ่ายสตรีในราชสำนักที่แสดงให้เห็นว่าการเปลือยอกนั้นไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในราชสำนักในสมัยนั้น
หากจะสืบย้อนถึงการเปลือยอกของสตรีไทยในสมัยก่อน น่าจะถอยหลังไปได้ไกลที่สุดจากเอกสาร “บันทึกจดหมายเหตุของลาลูแบร์” ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมาพำนักที่ประเทศไทยในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งถูกบันทึกเอาไว้ว่า การแต่งกายของชาวสยามในตอนนั้นแทบจะเป็นการเปลือยกาย เพราะ “อากาศที่ร้อนจัด” และยังระบุไว้อีกว่าเรือนร่างของสตรีชาวสยามนั้นนิยม “ปล่อยล่อนจ้อน” หรืออย่างดีก็จะมีการปกปิดด้วยสไบอีกหนึ่งผืนโดยลักษณะห่มคาดหน้าอกปัดชายสไบเฉียงบ่า แต่ในขณะเดียวกันสตรีก็ยังมีความระมัดระวัง และคำนึงถึงกาละเทศะที่เหมาะควรว่าควรจะเปลือยอกเมื่อใด
หนึ่งในเอกสาร “รัฐนิยม” ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม
การแต่งกายแบบ “เปลือยท่อนบน” ของสตรีนั้นกล่าวได้ว่าไม่ใช่มีแค่เพียงในประเทศไทยที่ทำกัน แต่ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า การเปลือยอกน่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มสตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เช่นสตรีบนหมู่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียก็นิยมเปลือยอกเช่นกัน เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านภูมิอากาศร้อนไม่แพ้ไทย และยังช่วยให้มีความคล่องตัวมากกว่า
จนกระทั่งเมื่อถึงยุคการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตกที่เริ่มแผ่ขยายมาสู่ดินแดนสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งหนึ่งในมหาอำนาจในเวลานั้นก็คือประเทศอังกฤษในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้ที่นำเทรนด์การแต่งกายแบบวิคตอเรียนที่ต้องมิดชิด ทำให้ค่านิยมการปกปิดเรือนร่างของสตรีเริ่มแผ่เข้าสู่อาณาจักสยาม จากเชื้อพระวงศ์ สู่ราชสำนัก ลงไปสู่ชาวบ้าน และกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่สตรีในสยามจะต้องนุ่งห่มเสื้อผ้าเพื่อปกปิดหน้าอกกัน
การแต่งกายในของเจ้านายฝ่ายในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
ยุคสมัยที่ “หน้าอก” ของผู้หญิงได้กลายเป็นสิ่งต้องห้าม และถูกลงความเห็นว่าอุจาดในที่สาธารณะนั้นเริ่มมีการกอปรสร้างแนวคิดนี้ขึ้นมาในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามที่ต้องการสร้างชาติให้มีความเท่าเทียมกับอารยธรรมตะวันตก จึงได้มีการออกประกาศ “รัฐนิยม” ในปีพ.ศ. 2485 และออกกฏหมายควบคุมการแต่งกายทั้งผู้ชายและผู้หญิงให้เป็นไปในรูปแบบที่(คิดว่า)เหมาะสม เพื่อความทัดเทียมเสมอหน้ากับชาติตะวันตก โดยมีใจความตอนหนึ่งที่ว่า “ให้แต่งกายให้สมกับเป็นอารยชน โดยกำหนดการแต่งกาย และทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผืนเดียวคาดอก หรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน” และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของรัฐที่เข้ามามีบทบาทเหนืออิสรภาพในการเลือกของเพศหญิง ที่นอกเหนือจากสิทธิที่ไม่เท่าเทียมตามกฎหมายแล้ว สิทธิเหนือเรือนร่างของสตรีก็ยังถูกกดขี่ด้วยอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน
กระแสการเปิดเปลื้องหน้าอกผ่าน #freenipples นำโดยซุปเปอร์โมเดลสาวแห่งยุคอย่าง Kendall Jenner และ Bella Hadid
นับจากจุดเริ่มต้นของประกาศรัฐนิยมจนถึงปัจจุบันกินเวลากว่า 79 ปีที่ “หน้าอก” ของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งอุจาด และในปัจจุบัน “หน้าอก” และ “ปทุมถัน” ก็กลายมาเป็นเครื่องยั่วยุทางกามารมณ์ที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายต้องปกปิด สงวนเอาไว้ แม้จะต้องทนกับความอึดอัดภายใต้ชุดชั้นในที่โอบรัด รวมถึงอำนาจปิตาธิปไตยที่กดทับ แต่สิ่งที่เราควรจะต้องตั้งคำถามก็คือทำไมสตรีเพศต้องพันธนาการสิ่งที่เป็นธรรมชาติของพวกเธอ ภายใต้ความหวาดกลัวที่จะถูกติฉินนินทา ถูกตัดสินว่าไม่งาม หรือแม้กระทั่งถูกล่วงละเมิด แต่สังคมกลับไม่สอนให้บุรุษเพศรู้จักให้เกียรติ และยับยั้งกามรณ์ของตัวเอง แม้สตรีผู้นั้นจะแต่งกายอย่างไรก็ตาม
เรื่อง : Kanthoop Hengmak
เรียบเรียง: ปภัสรา นัฏสถาพร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- บทความ “ค้นหลักฐาน “ชุดไทย” สมัยพระนารายณ์ สตรีเปิดหน้าอก หรือแต่งอย่างไร ?” โดยเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/history/article_28064
- บทความ “ประวัติแต่งกายสุภาพ เปลือยอกถึง “เสื้อลูกไม้” และที่มาสมัยร.3 “สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด” โดยเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/culture/article_35511
- บทความ “เมื่อการเปลือยอกของหญิงไทยในอดีตเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ : ว่าด้วยเรื่องการเปลือยอกของสตรีไทยในอดีต” โดยพีรพล อัศวเทพพิทักษ์ : http://peeraponassawatheppitak.blogspot.com/2017/06/blog-post.html
WATCH