LIFESTYLE

คว้านแก่นภาพยนตร์เรื่อง Deep ที่สะท้อนการเป็นหนูทดลองผ่านความเหลื่อมล้ำประเทศไทยตอนนี้

การทดลองอดนอนในภาพยนตร์ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับการทดลองผสมวัคซีนในโลกความเป็นจริง

     ทุกวันนี้ข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลักดันให้การทดลองเดินหน้าเพื่อคุณภาพแบบถูกหลักจริยธรรมนัก ทั้งเรื่องการทดลองวัคซีน การฉีดผสม หรือแม้แต่การวางกลยุทธ์ใช้วัคซีนตัวที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอให้กับประชาชน ประจวบเหมาะพอดีกับตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Deep เข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์ เรื่องราวดันละม้ายคล้ายคลึงและสะท้อนชีวิตเรื่อง “หนูทดลอง” และหยอกล้อกับผลประโยชน์ ความเหลื่อมล้ำ และการบีบบังคับจากสังคมได้อย่างดี โว้กจึงขอเทียบตัวอย่างความเหมือนกันราวกับถอดพลอตเรื่องมาจากสังคมไทยยุคโควิดว่าดีปนำเสนออะไรเราบ้าง

 

*คำเตือน: เนื้อหาในบทความนี้มีการสปอยล์เนื้อเรื่อง

     ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไร้ทางเลือก และข้อจำกัดของคนบางกลุ่มบีบบังคับให้พวกเขากลายเป็นหนูทดลองโดยไม่สามารถเรียกร้องหรือปริปากอะไรได้ ในเรื่องนี้เราจะขอพูดถึงตัวละครหลักคือ เจน รับบทโดย ปาณิสรา ริกุลสุรกาน เธอคือนักศึกษาแพทย์ผู้พากเพียรตั้งใจเรียนอย่างหนัก อดหลับอดนอนอ่านหนังสือเพื่อทะยานออกจากความยากลำบากที่ต้องช่วยงานที่บ้าน ช่วยหาเงินเลี้ยงย่าและน้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทดแทนการจากไปของพ่อแม่ เมื่อใบแจ้งหนี้ค่าบ้านผ่านตาเข้าสู่เซลล์สมองเจน เธอก็เก็บมาคิดอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรถึงจะหาเงินจำนวนมากกว่า 700,000 บาทมาเพื่อชำระหนี้ได้ในขณะที่ตนเองยังเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ที่หารายได้เสริมนอกจากช่วยย่าขายอาหารแล้ว ก็มีแค่ผู้ช่วยนักวิจัยที่ได้รับผลตอบแทนน้อยนิดไม่คุ้มค่าเหนื่อย...

     ส่วนแรกคือปัญหาความกดดันจากคลื่นลูกใหญ่ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งแทบจะจนมุม ในด้านครอบครัวเจนต้องดูแลคุณย่าที่อายุก็มากแล้วยังต้องทำร้านอาหารหาจุนเจือชีวิตต่อไป ไม่มีคำว่าอยู่อย่างสบาย เกษียณ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นโลกยามชราในอุดมคติของใครหลายคน น้องสาวอย่างจูนก็เป็นเด็กสาวมัธยมวัยกำลังโต เธอมีปัญหาขัดแย้งกับเจนอยู่เกือบตลอด พี่เรียนหมอ ทำงานที่บ้าน ดูแลย่า ก็หมดเวลาปฏิสัมพันธ์กันอย่างสิ้นเชิง เด็กสาวคนหนึ่งเหมือนอยู่ตัวคนเดียวเพราะเสียพ่อแม่ไป และเจนพี่สาวของเธอก็มีเวลาให้ไม่มากพอจนให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ด้วยกันอย่างแท้จริง นี่คือการบีบรัดของสังคมที่เรื่องหลายเรื่องส่งผลกระทบกันไปมา เปรียบดั่งการยืนอยู่ในคุกทรงแท่งปริซึม เมื่อมีแสงเข้าไปก็จะสะท้อนไปมาและยากที่จะเลือนไปโดยไว ครอบครัวเจนกำลังอยู่ในคุกปริซึมแห่งนี้



WATCH




     “หนูทดลองอาจเป็นคำตอบ” แน่นอนว่าในขณะที่เจนกำลังหาวิธีหาเงินก้อนโตเพื่อชำระหนี้และปลดล็อคความยากลำบากตรงนี้สักที การเป็นหนูทดลองให้โครงการ “Deep” ของ Hans Miller เหมือนจะเป็นคำตอบเดียวที่ต้องยอมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ทางเลือกเดียวที่จะปลดสถานการณ์อึดอัดทางบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยจำนวนเงินครั้งละหลักแสนบาท แต่สิ่งนี้ต้องเสี่ยงกับชีวิต ผลกระทบที่ตามมาหลังจากการทำการดีป (Deep คือการฝังชิปเพื่อเร่งสาร QRATONIN ในร่างกายให้ออกมาเยอะที่สุด สารตัวนี้มีหน้าที่ทำให้ร่างกายตื่น ตรงข้ามกับ MELATONIN ซึ่งทำให้หลับ แต่ถ้าผู้ทดลองหลับเกิน 60 วินาที ชิปจะลัดวงจรและปลิดชีพผู้ทดลองทันที ชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในภาพยนตร์) ถึงเสี่ยงก็คงต้องขอลอง เพราะชีวิตเหมือนจะเลือกได้ในเชิงทฤษฎี แต่ความจริงตรงนี้มันบีบคั้นจนอาจจะเลือกไม่ได้ในทางปฏิบัติ

     ฟังดูคล้ายๆ เหตุการณ์อะไรในบ้านเราหรือไม่...ลองพิจารณาถึงกรณี “สูตรวัคซีนทดลอง” ต้องบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐจัดหาให้กับประชาชน และบางคนคิดว่าเลือกได้แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ นท พนายางกูร ดาราสาวก็ออกมาโพสต์ในอินสตาแกรมตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยกล่าวถึงประสบการณ์ตรงว่าต้องไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โดยเปลี่ยนจากวัคซีนเข็มแรกยี่ห้อหนึ่งเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง ตนจึงสอบถามกับทางโรงพยาบาลและได้คำตอบว่า “เปลี่ยนไม่ได้ต้องฉีดตามที่รัฐจัดมาให้” บางคนอาจจะเลือกที่จะไม่ฉีดได้ แต่ถ้ามองลึกลงไปในเชิงโครงสร้างของสังคมรัฐกำลังบีบบังคับให้หลายคนที่อาจไม่มีทางเลือกในชีวิตต้องกลายเป็นหนูทดลองอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากกลุ่มคนบางกลุ่มมีสถานะบีบรัดแบบเจนในเรื่องดีป เขาแทบจะไม่มีเงินไปจ่ายค่าวัคซีนทางเลือกเหมือนเจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าบ้าน เขาต้องรับวัคซีนตามที่รัฐจัดให้ฟรี เรื่องนี้รัฐไม่ได้เพียงแต่บังคับให้การทดลองทางวิทยาศาสตร์แบบผิดหลักจริยธรรมเกิดขึ้นในคนหมู่มากเท่านั้น แต่รัฐยังลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยการลิดรอนสิทธิ์ในร่างกายของมนุษย์คนหนึ่งทางอ้อม

     เจนในเรื่องต้องอดหลับอดนอนเพื่อเร่งสาร QRATONIN ให้ครบตามกำหนดเวลาแต่ละเลเวล เริ่มตั้งแต่เลเวล 1 จำนวน 1 วัน เลเวล 2 จำนวน 5 วัน และเลเวล 3 จำนวน 10 วัน สิ่งนี้ก็เหมือนการรอลุ้นผลข้างเคียงของวัคซีนสูตรผสม เพราะถึงแม้จะรู้ว่าฉีดไปผลลัพธ์ของแต่ละตัวเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่คาดฝันในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีแต่ผู้ถูกกดดันทางสังคมผ่านกลไกระบบอันเหลื่อมล้ำที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจนกำลังยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตต่อไป เพื่อรักษาความั่นคงให้กับที่บ้าน เรื่องนี้จะต่างอะไรกับคนที่ต้องการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อให้ได้กลับมาทำงาน รักษาความปลอดภัยของครอบครัว แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกพอที่จะจ่ายเงินหรือรอคอยความหวังอื่นที่อาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน

     หนูทดลองตัวต่อมามักเป็นคนใกล้ตัว สืบเนื่องจากปัญหาที่ต้องมองจากภาพใหญ่ แค่เจนคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในบ้านได้เมื่อคุณย่าล้มป่วยลง จูนกลายเป็นเด็กสาวอีกหนึ่งคนที่ถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ให้เลือกทางดีป เหมือนเธอกำลังมุ่งตรงไปสู่การเป็นหนูทดลองคล้ายกับการทดลองวัคซีนอย่างไรอย่างนั้น กลายเป็นว่าพี่น้องเจน-จูน เป็นเหมือนตัวแทนของครอบครัวในชีวิตจริงที่ต้องการวัคซีนแต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากการจัดการของรัฐ ในขณะที่หลายคนสามารถล่องลอยอยู่ในสังคมได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาเพราะผลกระทบมันปีนมาไม่ถึงจุดสูงๆ ที่พวกเขายืนอยู่ มันเป็นเวลาเดียวกับที่คนบางกลุ่มต้องลดคุณค่าการเป็นมนุษย์ของตัวเองอย่างไม่มีทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาในฐานะ “หนูทดลองของรัฐ”

     ตอนนี้สถานการณ์ทั้งในเรื่องดีปและชีวิตจริงในประเทศไทยบอกอะไรเราบ้าง แม้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหามากมายขนาดไหน ทั้งจากเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเยียวยา เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต้องหาทางเลือกกันเอง และบางทางเลือกที่ใช้คำว่า “เลือก” มันกลับไม่ใช่การเลือกที่แท้จริง เพราะหลายองค์ประกอบบีบรัดให้พวกเขามีเพียงโอกาสเดียวในชีวิตเท่านั้น และผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้ลงทุนเพื่อสร้างกำไรให้กับตัวเองโดยใช้ข้ออ้างเรื่องความสำเร็จส่วนรวมมาเป็นเกราะกำบัง ดร.ฮานส์ มิลเลอร์ คือผู้เชี่ยวชาญที่ทำเหมือนเป็นพ่อพระเสนอทางเลือกใหม่ให้กับชีวิตคน แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากปีศาจที่ใช้คนไม่มีทางเลือกเหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ซ่อนเร้น อาจารย์ณิชาในเรื่องนี้ก็เหมือนปีศาจในคราบคนดีผู้ปลอบประโลมเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ลึกๆ แล้วเธอคือผู้สร้างกลไกแสนอำมหิตให้เกิดขึ้นกับชีวิตคนอื่น

     สุดท้ายการแก้ปัญหาทั้งหมดก็เกิดจากประชาชนด้วยกัน เหล่าหนูทดลองในเรื่องดีปกลับต้องแก้ปัญหากันเอง เผชิญทุกข์กันเอง บางครั้งก็ไปขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ณิชาซึ่งเปรียบดั่งการวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากรัฐ ที่รัฐก็เอื้อประโยชน์ไปเพื่อให้โครงการทดลองนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี ทว่าในท้ายที่สุดการจะฉีกหน้ากากคนดีออกต้องอาศัยการตื่นรู้ หลังจากตื่นรู้ก็ต้องอาศัยแรงของผู้ถูกกดขี่หรือผู้ได้รับสถานะเป็นหนูทดลองเพื่อใช้ต่อต้านผู้มีอำนาจในการจัดแจงความอัปยศนี้ให้เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ ภายในเรื่องดีปแสดงให้เห็นว่ากว่าคนกลุ่มหนึ่งจะตาสว่าง กว่าหนูทดลองจะรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนรวมและได้ผลประโยชน์เป็นผลตอบแทนอย่างสุจริต ระหว่างนั้นก็มีการสูญเสียเกิดขึ้น (คนเสียชีวิตจากการดีป) ตอนนี้สถานการณ์ในประเทศไทยไม่ได้เป็นแค่การดีปเด็กไม่กี่คน แต่คือการทดลองครั้งยิ่งใหญ่กับผู้คนนับหมื่นนับแสน ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังเล่าเรื่องทั้งหมดด้วยสเกลที่เล็กลง สามารถทำให้ผู้ชมย่อยเรื่องราวได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ที่เหลือก็คงขึ้นอยู่แต่ละคนแล้วว่าจะมองปัญหาแบบนี้เป็นเพียงเรื่องบีบคั้นของคนบางคน หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างประกอบร่างกับการบริหารของรัฐ มีแต่คุณเท่านั้นเป็นผู้กำหนดความคิดของตัวเอง...

 

ภาพ: NETFLIX

WATCH