LIFESTYLE

ย้อนเส้นทางรางวัลออสการ์ กับประเด็นการโอบรับ 'ความหลากหลาย' ที่อยากไปให้ถึงฝั่งฝัน

ปีนี้เราได้เห็นทั้งนักแสดงผิวดำอย่าง Will Smith ขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับหญิง Jane Campion ขึ้นรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม เรื่อยไปจนถึงนักแสดงที่พิการทางการได้ยินอย่าง Troy Kotsur ขึ้นรับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม #Oscars #Oscars2022

     ย้อนกลับไปบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ ประจำปี 2015 ที่โลกทวิตเตอร์โหมกระพือโจมตีการตัดสินรางวัลของคณะกรรมการ The Academy Awards ผ่านแฮชแท็ก #OscarsSoWhite เนื่องจากผู้ชมจำนวนมากเล็งเห็นว่ารายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคับคั่งไปด้วยนักแสดงฮอลลีวู้ดผิวขาวจนขาดแคลนความหลากหลาย ซึ่งสะท้อนถึงภาวะความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นกับนักแสดงผิวดำ ก่อนที่ในเวลาต่อมาแฮชแท็กดังกล่าวจะถูกใช้และพูดถึงเป็นวงกว้างในทุกๆ ปี คู่ขนานไปกับการปรับตัวและพัฒนาขององค์กรผู้อยู่เบื้องหลังงานประกาศรางวัลดังกล่าวให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งทีมนักแสดงผิวดำและผู้กำกับผิวดำที่มีพื้นที่บนเวทีออสการ์มากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นเมื่อปี 2017 ที่ภาพยนตร์เรื่อง Moonlight ได้มีโอกาสผงาดขึ้นรับรางวัลใหญ่ในสาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี’ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ประกาศผลผิดในรอบ 89 ปีก็ตาม

Moonlight wins Oscars 2017

เหตุการณ์ความวุ่นวายหลังจากพิธีกรประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมผิด ในปี 2017

 

     ไม่เพียงแค่เรื่องสีผิวขาว-ดำเท่านั้น ที่ถูกจับตามองอยู่ไม่ห่างจากเหล่านักวิจารณ์และสื่อหัวใหญ่ทั่วโลก ทว่าเชื้อชาติก็กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงไม่น้อยตามมา นั่นจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นทีมนักแสดง, ผู้กำกับ และภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ พาเหรดเข้าชิงรางวัลบนเวทีใหญ่จำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือกระทั่งทะลุไปถึงฝั่งฝันอย่างภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่เคยกวาดไปแล้วถึง 4 รางวัลใหญ่จากบนเวทีออสการ์ปี 2020 ไม่ว่าจะเป็น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม เรียกเสียงฮือฮาจากคนดูทั่วโลก กระชากเรตติ้งความเงียบเหงาในปีนั้นขึ้นมาได้สำเร็จ

     กระนั้นการเรียกร้องที่ได้รับความสนใจอย่างมากก่อนหน้านั้นบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ก็ยังมีเรื่องของ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ อีกด้วย หลังจากที่ในปี 2017 มีผลสำรวจสถิติผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ว่ามีรายชื่อของผู้หญิงเข้าชิงแค่เพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งในเวลานั้นยังมีการออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวรายได้ค่าตัวของนักแสดงฮอลลีวู้ดและอาชีพในวงการบันเทิงระดับโลกว่า “ผู้หญิงจะได้ค่าตัวเฉลี่ยที่น้อยกว่าผู้ชายเสมอ” จุดประกายให้เหล่าผู้ชมรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เวทีประกาศรางวัลหลายเวทีเปลี่ยนคณะกรรมการพิจารณาใหม่ให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

Parasite wins Oscars 2020

     กระแสการเรียกร้องเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะไม่โดนกระแสโจมตีกลับเสียเมื่อไหร่ เมื่อการเรียกร้องต่างๆ พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด สังคมอีกฟากจึงเริ่มตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วงานประกาศรางวัลเหล่านี้กำลังมองหาอะไร และหากว่าในปีนั้นผลงานของคนขาว ผู้ชาย และคนอเมริกัน มันถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างดีเยี่ยมประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลกจริงๆ จนไม่อาจมีที่ให้ผู้หญิง คนผิวดำ หรือคนเอเชียน เบียดเข้าไปยืนได้ มันจะกลายเป็นดราม่าหรือไม่ กระทั่งมีการตั้งกระทู้คำถามชวนคิดต่อไปว่าเราต้องเว้นที่ว่างให้กับคนเหล่านี้เสมอเพื่อกันดราม่าที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่...

     สำหรับผู้เขียนเองมองว่า ท้ายที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ (Movement) ข้างต้นที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างโดยคร่าวนั้น เป็นดั่งสารเร่งปฏิกิริยาที่ถูกหยดลงไปบนสังคมโลก เพี่อใช้กระตุ้นเตือนให้ผู้คนไม่ลืมว่ายังมีคนอีกหลายกลุ่มที่กำลังถูกกดทับไม่ให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาไม่ได้เริ่มต้นมาจากรายชื่อของผู้เข้าชิงรางวัล หากเริ่มต้นมาจากรากของการยอมรับในสังคมพื้นฐานเบื้องต้น ที่ส่งผลให้ทั้งผู้หญิง คนผิวดำ คนเอเชียน และอีกมากมาย ไม่ได้รับงานที่ดีหรืออยู่ในกระแส จนถูกมองข้ามจากเวทีประกาศรางวัลระดับโลกไปในที่สุด ทว่าบนเวทีแห่งการแข่งขันอันเข้มข้นก็ไม่ได้มีใครเรียกร้องให้เว้นที่ว่างไว้สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ถ้าผลงานและฝีมือของพวกเขาไม่ถึงขั้น แต่คือการตั้งคำถามกลับไปทุกๆ ปีว่า ลิสต์รายชื่อของคนผิวขาว, คนอเมริกัน และผู้ชาย ที่หลุดเข้ามาถึงรอบสุดท้ายนั้น เขาหลุดเข้ามาเพราะ “ฝีมือ” หรือ “ความได้เปรียบทางสังคม” กันแน่ ซึ่งนั่นเองคือกลไกการซักฟอกอย่างหนึ่งบนเวทีประกาศรางวัล



WATCH




     สำหรับปี 2022 นี้ บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ก็นับว่าก้าวข้ามพรมแดนความเท่าเทียมและความหลากหลายไปอีกขั้น เพราะหากพิจารณาให้ดีแล้วนั้น เราจะพบว่ามีทั้งคนผิวดำ ผู้หญิง หรือกระทั่งคนพิการทางการได้ยิน ได้เฉิดฉายขึ้นรับรางวัลกันอย่างคับคั่ง เริ่มตั้งแต่ การเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกในชีวิตของ Beyoncé ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่แม้ว่าจะไม่ได้รางวัล แต่เธอก็ยังมีโอกาสได้ร่วมโชว์การแสดงเปิดงานจนกลายเป็นโมเมนต์น่าจดจำ, การขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของ Will Smith, การขึ้นรับรางวัลของผู้กำกับยอดเยี่ยมของ Jane Campion ผู้กำกับหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง The Power of the Dog และที่ ทำเอาเซอร์ไพรส์คนทั้งงานไปตามๆ กันคงต้องยกให้รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมที่ตกเป็นของ Troy Kotsur นักแสดงผู้พิการทางการได้ยิน กับโมเมนต์การปรบมือโดยใช้ภาษามือในประวัติศาสตร์ ตอกย้ำการข้ามผ่านพรมแดน ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘ความหลากหลาย’ บนเวทีออสการ์ที่น่าชื่นชม และทำเอาหลายคนต้องเสียน้ำตาแห่งความประทับใจไปตามๆ กัน

WATCH