FASHION

อาร์ตแบบจิ๋มๆ เมื่ออวัยวะเพศหญิงเป็นศิลปะที่สำคัญของมวลมนุษยชาติมาตลอดทุกยุคสมัย

เมื่อเครื่องเพศในงานศิลปะเปลี่ยนแปลงความหมายไปตามกาลเวลา ปรากฏการณ์เรื่อง "จิ๋ม" จึงเกิดขึ้นเพื่อสะท้อนกลับถึงความขัดแย้งในวงจรศิลปะเอง

     “จิ๋ม” คำสามัญที่ใช้ระบุถึงอวัยวะเพศหญิงนั้นกลายเป็นคำที่ฟังแล้วชวนอมยิ้มพร้อมทั้งแอบมีความสยิวเบาๆ แต่ก็ไม่ถึงขั้นทะลึ่งตึงตังอะไรนัก รูปร่างลักษณะทางกายภาพของจิ๋มนั้นถูกใช้นำเสนอเป็นความงดงามเชิงศิลปะมาอย่างยาวนานตั้งแต่มนุษย์ย้อนบันทึกความจำกันได้ อวัยวะเพศหญิงนั้นสะท้อนความสำคัญของโลกศิลปะมาโดยตลอด การมองความงาม การตีความ รวมถึงบริบทของสังคมต่องานศิลปะนั้นๆ มีพลวัติผันเปลี่ยนอยู่เสมอ “จิ๋มโบราณ” กับ “จิ๋มปัจจุบัน” ในแง่ศิลปะนั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เราคงต้องใช้เวลาไม่น้อยในการหาคำตอบเลยทีเดียว

Diva ภาพงานจิ๋มขนาดมหึมาบนเนินเขา ผลงานของ Juliana Notari / ภาพ: Courtesy of Juliana Notari

     ข่าวล่าสุดแห่งวงการศิลปะคือ Juliana Notari ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน “Diva” หรือประติมากรรมรูปช่องคลอดบนเนินเขาในรัฐเปร์นัมบูกู ผลงานชิ้นนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความเหมาะสมและการนำเสนอเครื่องเพศในที่ลับออกมาในรูปแบบโจ่งแจ้ง เด่นชัด และเน้นย้ำด้วยการใช้สีรวมถึงขนาดของงาน ซึ่งมองอย่างไรก็สะดุดตาแน่นอน โดยการให้ความหมายนั้นก็มุ่งเน้นไปถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางทุกสิ่งของมนุษย์ และที่ชัดเจนที่สุดคือค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่เหนี่ยวรั้งความเท่าเทียมทางเพศในบราซิลมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้งานชิ้นนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างแต่นี่ไม่ใช่การสร้าง “จิ๋ม” ครั้งแรก ยังมีการสร้างสรรค์ผลงานแบบนี้อีกมากมายและสะท้อนความหมายรวมถึงมุมมองการมองอวัยวะเพศหญิงแตกต่างกันไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การสร้างสรรค์งานศิลปะโดยระบุเครื่องเพศเมื่อกว่า 35,000 ปีก่อนคริสต์กาล / ภาพ: Randall White

     หากย้อนไปในสมัตอดีตกาลเราจะเห็นศิลปะที่มีการวาดลวดลายเพื่อแสดงถึงเครื่องเพศมากมายทั้งชายและหญิง ในส่วนของจิ๋มนั้นมีการสร้างขึ้นเพื่อระบุตัวตนด้านเพศของสิ่งมีชีวิต ณ ตอนนั้นว่าคือเพศใดกันแน่ กล่าวคือจิ๋มไม่ใช่เรื่องทะลึ่งหรือหมกหมุ่นเรื่องเพศของศิลปินในยุคอดีตกาล แต่หมายถึงการนำเสนอข้อมูลความจริงถึงเหตุการณ์จริงในบริบทต่างๆ ว่ามีชายหรือหญิง เพราะนอกเหนือจากเครื่องเพศแล้ว ลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ชายหญิงยุคก่อนอาจมีความแตกต่างกับในปัจจุบันจนเราอาจสับสนและเกิดความเข้าใจผิดจนทำหลักฐานทางศิลปะผิดเพี้ยน เครื่องเพศจึงเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ “จิ๋ม” จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการบันทึกเหตุการณ์ยุคนั้น จะกล่าวอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน



WATCH




The Venus of Hohle Fels งานประติมากรรมในอดีตที่อาจหมายถึงการมุ่งเน้นเรื่องเพศโดยเฉพาะ / ภาพ: H. Jensen. © Universität Tübingen

     การบ่งบอกประเพณีและความต้องการด้านเพศในยุคโบราณ มีการวิเคราะห์กันอย่างจริงจังว่าการวาดหรือสร้างสรรค์อวัยวะเพศโดยมุ่งเน้นถึงส่วนลับโดยเฉพาะและลดทอนส่วนอื่นของร่างกายออกไปไม่ใช่ศิลปะแบบเซอร์เรียล แต่หมายถึงการสร้างศิลปะทางเพศหรือนักประวัติศาสตร์หลายคนนิยามว่าเป็น “Prehistoric Porn” เพราะการสร้างสรรค์ศิลปะแบบนี้ไม่ได้มุ่งเน้นส่วนใดให้เราเห็นได้ชัดแจ้งไปกว่าหน้าอกและเครื่องเพศ เพราะฉะนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่จึงเห็นตรงกันว่าศิลปะแบบนี้มันสะท้อนได้เพียงทางเดียวเท่านั้นคือการจับจ้องเรื่องเพศอย่างตั้งอกตั้งใจ

ประติมากรรม Aphrodite ที่แสดงถึงรูปร่างในอุดมคติและความเรียบเนียนของส่วนอวัยวะเพศ / ภาพ: HeritageDaily

     อีกหนึ่งอย่างที่เป็นประเด็นสำคัญตลอดหลายร้อยปีหลังและยังส่งผลถึงการตั้งคำถามอยู่ถึงปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับ “จิ๋ม” ในแง่มุมบรรทัดฐานความงามของผู้หญิงที่กำหนดโดยศิลปิน(ผู้ชาย) ยกตัวอย่างเช่นประติมากรรม Aphrodite ที่บ่งบอกถึงรูปร่างในอุดมคติอันงดงาม มาพร้อมกับบริเวณส่วนลับอันเกลี้ยงเกลา เทพีแห่งความสวยงามซึ่งระบุออกมาให้นักตีความศิลปะตีความถึงบรรทัดฐานความงามขั้นสูงสุด โดยรูปร่างแบบนี้และลักษณะความเนียนเรียบบริเวณส่วนลับกลายเป็นเรื่องถกเถียงและตั้งประเด็นเกี่ยวกับความงามของหญิงสาวแบบชาวตะวันตกที่เรายังคงติดภาพกันมายาวนานจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว

งานจิตรกรรม Titian, Venus of Urbino สุดเย้าย้วน / ภาพ: Uffizi Gallery Florence

     ไล่เรียงต่อมาจากบรรทัดฐานความงามนั้นเครื่องเพศของผู้หญิงในงานศิลปะยังสามารถบ่งบอกถึงความโรแมนติกของชายหนุ่มได้เป็นอย่างดี ความโรแมนติกซึ่งเกิดจากความเสพสมในความงามเชิงกามาของชายหนุ่มในสมัยโบราณ(หรือแม้กระทั่งสมัยนี้) ที่มองเห็นอวัยวะส่วนนั้นเป็นความงดงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มาเพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ การใช้จิ๋มเป็นสัญญะในการแสดงออกเรื่องความสัมพันธ์กลับเป็นเครื่องบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อก่อนนั้นชายให้ความสำคัญแต่ยังให้ความสำคัญโดยยึดจากความพอใจของตนกับจุดลับตรงนั้นมากกว่าการให้ความสำคัญของผู้หญิงเอง ดั่งเช่นภาพวาด Titian, Venus of Urbino ที่เชื่อว่าเป็นของ Duke of Urbino ในโอกาสเฉลิมฉลองถึงสัมพันธ์รักของคู่สมรสครบรอบ 4 ปี (อ้างอิงตามการวิเคราะห์ภาพวาดของนักวิจารณ์ศิลปะ)

ท่าทางเย้ายวนทางเพศในผลงานของ Gustav Klimt / ภาพ: CardCurious

     และแน่นอนว่าเกี่ยวกับอวัยวะเพศเรื่องเซ็กส์คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กามอารมณ์ล้วนเป็นปกติของมนุษย์ การแสดงถึง “จิ๋ม” ในงานศิลปะก็เช่นกัน ศิลปะไม่ได้หมายถึงงานประติมากรรมหรือจิตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงศิลปะการแสดงเรื่อยไปถึงภาพถ่ายเลยด้วยซ้ำ เราเห็นการผลิตซ้ำถึงเรื่องเพศเพื่อตอบโจทย์ของชายหนุ่มมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเสพสมของเซ็กส์ทำให้เกิดงานต่างๆ ออกมาให้เราเห็นมากมาย แต่ที่ล้ำเส้นไปกว่านั้นก็มีเพราะภาพสเกตช์บางคอลเล็กชั่นนั้นเกิดจากการสะสมงานด้วยการเกณฑ์หญิงสาวให้เปลื้องผ้าต่อหน้าศิลปินพร้อมทั้งทำท่าทางไร้ยางอายต่างๆ และภาพเหล่านั้นก็ถูกบันทึกด้วยวิธีการต่างๆ ถ้าจะพูดให้ทันสมัยขึ้นก็ไม่ต่างจากสื่อวาบหวิวเรต 20+ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นจากการสนองอารมณ์โดยใช้คำว่า “ศิลปะ” มาคาบเกี่ยว เรื่องนี้คงตัดสินผิดถูกคงจะยากสักหน่อยเพราะหากเอาเรื่องศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมตามปัจเจกบุคคลออกแล้วนั้นก็ยากเกินกว่าจะหาบรรทัดฐานใดมาอธิบายและตัดสินผิดถูกในข้อนี้

งานศิลปะอวัยวะเพศที่ใช้ในการศึกษาเข้าใจกายวิภาคของผู้หญิง / ภาพ: Fine Arts America

     “จิ๋ม” ในแง่การศึกษาก็มีผลทางศิลปะ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายและวิดีโอในยุคปัจจุบัน หรือจะเป็นผลงานศิลปะในสมัยก่อนล้วนมีบางส่วนที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการเรียนรู้ กายวิภาคศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่คนถวิลหาความรู้เพื่อรู้จักมนุษย์กันเองมากที่สุด อวัยวะเพศหญิงและรูปร่างของหญิงสาวก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนต้องการจะรู้ เพราะฉะนั้นศิลปะแขนงนี้จึงช่วยวิทยาศาสตร์ในการบันทึกความเหมือน แตกต่าง และความพิเศษของ “จิ๋ม” ทว่าศิลปะแบบนี้ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้มิได้เพื่อตอบสนองความต้องการหรือสะท้อนแง่มุมอื่นใดๆ ทว่างานบางชิ้นก็อาจจะมีนัยยะแฝง คำตอบนี้คงต้องผ่านการวิเคราะห์พิจารณาจากแต่ละคนเอง ใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง...ไม่มีใครสามารถอธิบายได้เกินกว่าหลักฐานตรงหน้าจะสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งความเป็นรูปธรรมในหมวดหมู่นี้คือการเรียนรู้เชิงกายวิภาคศาสตร์อย่างที่เราเห็นกัน

The Rape 1 ผลงานศิลปะสุดเสียดสีจาก René Magritte / ภาพ: ArtsDot

     แต่ที่มาแรงแซงทุกกระแสเกี่ยวกับ “จิ๋ม” คือการตั้งคำถามจากเจ้าของอวัยวะเพศนี้คือเหล่าหญิงสาวหลายคนในยุคปัจจุบันที่เปิดโลกใหม่พร้อมตั้งแง่กับศิลปะยุคเก่าที่สาธยายเกี่ยวกับเครื่องเพศของตนโดยมุมมองของคนอื่น(ผู้ชาย) ทุกวันนี้งานศิลปะเกี่ยวกับจุดซ่อนเร้นนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเท่าเทียมและประท้วงถึงการมองจิ๋มเป็นเรื่องที่ผู้ชายกำหนด ยกตัวอย่างเช่นงานศิลปะของ René Magritte ชื่อ “Le Viol” หรือ “The Rape” ที่ใช้สัดส่วนของหญิงสาวตั้งแต่หน้าอกไปจนถึงจุดลับท่อนล่างมาประกอบบนใบหน้าเพื่อสะท้อนให้เห็นว่ามีการมองรูปร่างของผู้หญิงในเชิงวัตถุทางเพศในมุมมองของผู้ชายเท่านั้น การตั้งคำถามแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะ “จิ๋ม” เป็นของผู้หญิงทำไมผู้ชายถึงเป็นผู้กำหนดความงามในเชิงศิลปะและบริบททางสังคมเสมอมา

The Great Wall of Vagina ปรากฏการณ์การสร้างความเข้าใจใหม่เพื่อทำลายบรรทัดฐานความงามแบบโลกแคบในอดีต / ภาพ: Courtesy of Jami McCarthy

     อีกหนึ่งผลงานสำคัญอย่าง “The Great Wall of Vagina” ของ Jamie McCarthy ก็ตีกรอบบรรทัดฐานความงามรูปแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ภาพวาดและการยั่วยวนอารมณ์โดยใช้จิ๋ม(รวมถึงมุมมองของผู้ชายทุกยุค) มักมีมาตรฐาน “จิ๋มสวย” แต่แท้จริงแล้วอวัยวะเพศส่วนนี้มีความแตกต่างกันชนิดหาจุดร่วมแทบไม่ได้ แต่ละคนมีรูปร่างลักษณะของอวัยวะเพศแตกต่างกัน การถูกกำหนดความสวยงามเรื่องนี้โดยเฉพาะจากผู้ชายคงไม่ใช่เรื่องน่าพึงพอใจนัก ไอเดียของเจมี่จึงเรียบง่ายแต่ตั้งแง่กับอุดมคติความสวยงามแบบโลกแคบอย่างทรงพลังว่า “งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงปกติทั่วไปนั้นเป็นอย่างไรกันแน่” ซึ่งงานแบบนี้รวมไปถึงงานที่ Georgia O’Keefe ตั้งใจนำเสนอดอกไม้ชวนฝันรูปร่างคล้าย “จิ๋ม” แบบอาร์ตเพื่อสะท้อนให้เห็นมุมมองเฉพาะตัวโดยระบุว่า “การจะเห็นดอกไม้ต้องใช้เวลา มันคือดอกไม้ของฉัน ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นอย่างไรต่อดอกไม้ มันก็คือดอกไม้ของฉันอยู่ดี” ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามกับศิลปะยุคเก่าที่การอธิบายสิ่งต่างๆ แม้แต่เรื่องเพศของตัวผู้หญิงนั้นถูกนำเสนอโดยผู้ชายทั้งสิ้น

งานศิลปะเสียดสีสุดเรียบง่ายของ Liv Strömquist ที่สถานีรถไฟในเมืองสลัสเซน ประเทศสวีเดนที่สร้างประเด็นถกเถียงได้อย่างมาก / ภาพ: Janeth Carr

     สุดท้ายอวัยวะเพศไม่ได้สะท้อนถึงความสุขเสพหรือสรีระแบบไร้ซึ่งวิถีทางกายภาพอื่นๆ เสมอไป เพราะเจ้าของเครื่องเพศนั้นต้องทุกข์ทรมานจากสิ่งต่างๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งประจำเดือนซึ่งผู้หญิงแทบทุกคนต้องเจอเมื่อเข้าถึงช่วงอายุหนึ่ง เพราะฉะนั้นศิลปะยุคเก่ามิอาจสะท้อนถึงจุดนี้ได้เพราะแน่นอนว่ามันเกิดจากคนนอกและมุมมองของคนที่พยายามนิยามให้มันเป็นตามความต้องการของผู้สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัฏจักรการมองศิลปะนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากการมองอวัยวะเชิงศิลป์และกดขี่โดยอาจจะไม่รู้ตัว จนตอนนี้ “จิ๋ม” กลายเป็นงานศิลปะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเป็นธรรมและเท่าเทียม ผู้เขียนเองก็มิอาจฟันธงให้ทุกคนได้ว่าอันไหนถูกหรืออันไหนผิด เพราะศิลปะถูกสร้างมาต่างยุค ต่างสมัย ต่างที่มา และแน่นอนว่าต่างมุมมอง โดยเรื่องนี้ไม่มีคำตอบหรือเกณฑ์ตัดสินตายตัว ทุกวันนี้ยังมีการมองว่า “เหมาะสม” หรือ “ไม่เหมาะสม” ในการนำเสนอสิ่งนี้ออกสู่สาธารณะด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นทุกคนจงทบทวนศิลปะต่างๆ ด้วยมุมมองความคิดของตัวเองโดยอิงจากแรงบันดาลใจจากเจ้าของผลงานเพื่อตอบคำถามภายในจิตใจตัวเองว่า “จิ๋ม” ในงานศิลปะมันทรงพลังสมกับเป็นศิลปะแห่งมวลมนุษยชาติอย่างที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้ข้างต้นจริงหรือไม่...มีแต่ตัวคุณเองเท่านั้นที่รู้คำตอบ

 

ข้อมูล: Time Out Los Angeles, The Spot by LOLA, The New York Times, HuffPost, Art Represent, The Guardian, WideWalls, Don's Maps, Juliana Notari (FB), และ Fine Arts America

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueArts