LIFESTYLE

สืบเบาะแสจากตัวอย่าง The French Dispatch ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Wes Anderson จะออกมาเป็นอย่างไร

The French Dispatch จะแตกต่างหรือเหมือนกับภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ของ Wes Anderson มากน้อยแค่ไหน

The French Dispatch ภาพยนตร์ลำดับล่าสุดของ Wes Anderson

 

ผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป มันคือตัวตน จิตวิญญาณแนวคิด ทัศนคติ ที่กลั่นออกมา โดยสิ่งเหล่านี้มักจะสะท้อนผ่านผลงานของพวกเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะสามารถบอกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องไหนคือผลงานของใคร และเลือกที่จะตกหลุมรักพวกเขาผ่านผลงาน โดยเฉพาะ Wes Anderson หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนที่สุดในโลกจอเงิน ดังนั้นเมื่อ “The French Dispatch” ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ Wes Anderson ปล่อยตัวออกมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะถูกหยิบมาวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง และจากตัวอย่างความยาวประมาณ 2 นาทีครึ่งที่ปล่อยออกมา ถึงแม้จะยังไม่ชัดเจน แต่ก็พอเก็บข้อมูล เบาะแสต่าง ๆ มาวิเคราะห์ได้บ้างว่าภาพยนตร์ป้ายแดงของ Wes Anderson  เรื่องนี้จะออกมาในรูปแบบไหน

 

คำถามต่อมาที่ผู้เขียนอยากทราบคือ The French Dispatch จะแตกต่างหรือเหมือนกับภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของ Wes Anderson มากน้อยแค่ไหน บทความนี้จึงเป็นการร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกับผู้อ่านทุกคน

The Grand Budapest Hotel (2014) หนึ่งในภาพยนตร์ของ Wes Anderson ที่โดดเด่นในการใช้สีสัน

 

โลกที่มีสีเหนือจริง

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับหนุ่มใหญ่วัย 50 กะรัตจากเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาคนนี้ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของ Visual หรือองค์ประกอบภาพ ความสมมาตรคือสิ่งที่ Wes Anderson ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แทบทุกฉาก ทุกเฟรม องค์ประกอบของภาพจะต้องออกมามีระเบียบ ไม่โดดเด่นที่จุดตรงกลางก็จะแบ่งฉากออกเป็นส่วนๆ ได้อย่างพอดิบพอดี ดังนั้นภาพยนตร์ของ Wes Anderson จึงสามารถตรึงผู้ชมให้อยู่กับโลกที่เขาสร้างขึ้นมาได้อย่างอยู่หมัด จากอัตราส่วนภาพที่ออกแบบไว้ ซึ่งจากตัวอย่าง The French Dispatch ผู้กำกับหนุ่มใหญ่คนนี้ยังคงเป๊ะเรื่องความสมมาตรทุกกระเบียดนิ้วไม่เสื่อมคลาย ถ้าไม่เชื่อลองแคปสกรีนหน้าจอจากตัวอย่างมานั่งพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นว่าสัดส่วนขององค์ประกอบภาพยังคงถูกจัดระเบียบไว้อย่างพอดิบพอดี

 

ในเรื่องคู่สีก็เช่นกัน “เหลือง, น้ำตาล, แดง” คือสีที่ Wes Anderson โปรดปราน ดังนั้นโลกในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของเขาจึงถูกย้อมด้วยสามสีนี้ อาจจะมี The Grand Budapest Hotel ภาพยนตร์ของเขาในปี 2014 ที่โดดเด่นด้วยโทนสีชมพู แต่ถึงอย่างนั้นสีที่เด่นรองลงมาก็ยังคงเป็นสีแดงอยู่ดี เช่นเดียวกับใน The French Dispatch ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้เห็นทั้งหมด แต่ก็ยังพอจะรู้ได้ว่า โทนสีเหลือง แดง น้ำตาล ยังคงเป็นโทนสีโปรดของผู้กำกับคนนี้ และเขาก็ไม่พลาดที่จะหยิบมาละเลงใส่โลกใบใหม่ของเขา ดังนั้นสำหรับแฟนของ Wes Anderson รับรองได้เลยว่าจะได้เห็นสีสันที่คุ้นเคยอย่างแน่นอน การใช้คู่สีในแบบของ Wes Anderson ส่งผลโดยตรงให้ภาพยนตร์ของเขามีความฉูดฉาด ดูหลุดออกจากโลกความเป็นจริงอย่างตั้งใจ ซึ่งก็สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง รวมถึงบทสนทนาของบรรดาตัวละครภายในเรื่องที่ก็ไม่เน้นความสมจริง ทุกอย่างดูเหมือนเรื่องกึ่งจริงกึ่งฝันที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เฝ้ารอให้ผู้ชมหยิบจับไขว่คว้ามาตีความได้ดังใจต้องการ ซึ่งจากตัวอย่าง The French Dispatch ก็ดูจะเป็นเช่นนั้น หนึ่งสิ่งที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ความเหนือจริงของบรรยากาศในเรื่อง เชื่อว่าทุกคนเองก็คงไม่ต่างจากผู้เขียน ที่ไม่คิดเลยสักนิดว่าเหตุการณ์ในเรื่องนี้มีความสมจริง ตรงกันข้ามทุกอย่างกลับดูแฟนตาซี ราวกับหลุดไปในโลกวรรณกรรมเยาวชนที่เคยอ่านเมื่อครั้งเยาว์วัย

 

อย่างไรก็ตามในตัวอย่างนี้นอกจากสีสันที่คุ้นเคยแล้ว กลับมีสิ่งที่ไม่คุ้นเคยปะปนมาอยู่ด้วยเหมือนกัน นั่นคือการใช้ภาพโทนขาวดำที่ทำให้เรื่องดูมีความจริงจังขึ้น ซึ่งตลอดความยาว 2 นาทีครึ่งของตัวอย่าง The French Dispatch ระยะเวลากว่า 1 นาทีกลับถูกนำเสนอออกมาอย่างไร้ความฉูดฉาดโดยสิ้นเชิง ซึ่ง Wes Anderson ไม่เคยใช้ภาพโทนขาวดำมาก่อนในภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของเขา ดังนั้นการที่เขาเลือกจะใช้มันในภาพยนตร์เรื่องนี้แน่นอนว่ามันต้องมีความหมายแฝงบางอย่างที่รอให้ผู้ชมไปหาคำตอบด้วยตัวเองในโรงภาพยนตร์

The Royal Tenenbaums (2001) ภาพยนตร์ของ Wes Anderson ที่นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

 

โลกของเด็กชายและความล่มสลายของครอบครัว

Wes Anderson บอกว่าภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของเขาจะดำเนินเรื่องด้วยมุมมองของเด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ไม่ว่าอายุของตัวละครในเรื่องจะเท่าไรก็ตาม แต่วิธีการมองโลกของพวกเขาจะไม่เติบโตไปกว่านั้น โดยเหตุผลที่เขาต้องการให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เด็กผู้ชายอายุ 12 คือวัยแห่งความช่างฝัน ช่างจินตนาการ แต่ก็มีบางมุมที่พวกเขาคิดว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วทั้งที่จิตใจข้างในยังเปราะบางและไร้เดียงสา ด้วยมุมมองแบบนี้จึงเข้ากับโลกสีสันฉูดฉาดของ Wes Anderson เป็นอย่างดี ในส่วนของตัวละครสมทบ จากภาพยนตร์เรื่องเก่าๆ ของเขา Anderson มักจะตั้งใจให้ตัวละครแทบทุกตัวมีการแสดงแบบล้นจนเกินจริง แบบที่ผู้ชมสามารถรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าจะมีคนที่มีบุคลิกแบบนี้อยู่บนโลก และแน่นอนตัวละครเหล่านี้มักจะมาพร้อมมู้ดอารมณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ขี้โมโห, โลภ, พยาบาท, ไร้สาระ, จู้จี้จุกจิก และอีกมากมาย

 

ในแง่ประเด็นหลักของเรื่อง ไม่ว่าจะใน Bottle Rocket (1996), Rushmore (1998), The Royal Tenenbaums (2001), The Life Aquatic with Steve Zissou (2004), The Darjeeling Limited (2007), Moonrise Kingdom (2012) ล้วนแล้วแต่นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาภายในครอบครัวทั้งสิ้น เรื่องราวทั้งหมดบอกเล่าผ่านตัวละครที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากตัวของ Wes Anderson เองที่ในวัยเด็กต้องประสบกับการหย่าร้างของพ่อแม่ ดังนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวจึงเป็นประเด็นที่ตัวเขาอยากสื่อสารออกไป แต่ Wes Anderson  ก็คือ Wes Anderson ทั้ง ๆ ที่ประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวคือประเด็นที่หนักหน่วง แต่เขากลับเลือกที่จะใช้อารมณ์ขบขันตลกร้ายเสิร์ฟให้กับผู้ชม “เรื่องราวใน The French Dispatch ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบาย มันคือเรื่องราวของนักข่าวชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เขาต้องการจะเขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน และเขาจะต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพในการทำสิ่งที่ต้องการ อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับสิทธิสื่อ แต่เมื่อคุณพูดเรื่องของนักข่าว ก็จำเป็นต้องพูดถึงสิ่งนี้ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง” นี่คือเนื้อเรื่องของ The French Dispatch จากปากของ Wes Anderson และก็เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการทั้งหมดเท่าที่มีการเผยออกมา ดังนั้นจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าในภาพยนตร์ลำดับที่ 10 ของเขา Wes Anderson จะเลือกเล่าเรื่องราวออกมาจากมุมมองแบบไหน บุคลิกของตัวละครแต่ละตัวจะเป็นอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับความล่มสลายของครอบครัวหรือไม่



WATCH




การร่วมงานกันครั้งแรกระหว่าง Wes Anderson และ Timothée Chalamet ใน The French Dispatch

 

ส่วนผสมที่ลงตัว

และสุดท้ายโลกของ Wes Anderson จะไม่มีทางสมบูรณ์เลยถ้าขาดทัพนักแสดงที่รู้ใจ Anderson ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดงซ้ำกันมากที่สุด รับประกันได้เลยว่าถ้าคุณดูหนังของเขา คุณจะต้องคุ้นหน้านักแสดงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Bill Murray, Owen Wilson , Christoph Waltz , Tilda Swinton, Adrien Brody โดยทุกรายชื่อที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่อยู่ในหนังของ Wes Anderson  มาไม่ต่ำกว่าคนละ 3 เรื่อง โดยเขาบอกว่าด้วยความที่หนังของเขาอาจจะไม่ค่อยเหมือนหนังทั่วไป ดังนั้นนักแสดงที่คุ้นเคยจะสามารถรับรู้ว่าสิ่งที่เขาอยากเล่าคืออะไรเร็วกว่านักแสดงทั่วไป ใน The French Dispatch ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เพราะถึงแม้ตัวละครหลักจะเป็นตัวละครที่รับบทโดย Timothée Chalamet นักแสดงหนุ่มวัย 24 ปี ที่โด่งดังมาจากการรับบทนำใน Call Me by Your Name (2017) ซึ่งไม่เคยร่วมงานกับ Wes Anderson มาก่อน แต่เมื่อชายตามองไปที่ตัวละครอื่น ๆ ก็จะพบกับนักแสดงที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ

 

นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนได้จากตัวอย่างความยาว 2 นาทีครึ่งของ The French Dispatch โดยนำมาเทียบกับภาพยนตร์เรื่องเก่าๆ ของ Wes Anderson อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาสั้นๆ เพียงเท่านี้การจะล่วงรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาพยนตร์ทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องยากเกินคาดเดา ดังนั้นการจะตอบคำถามที่ว่า The French Dispatch จะแตกต่างหรือเหมือนกับภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ของ Wes Anderson มากน้อยแค่ไหน อาจจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ แต่ในมุมมองของตัวผู้เขียนเองคิดว่า The French Dispatch ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่รักษาเอกลักษณ์ความเป็น Wes Anderson ได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแปลกใหม่หรือรสชาติที่ไม่คุ้นเคยเพิ่มเติมเข้ามาเหมือนกัน ถ้า Wes Anderson  คือเชฟที่ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อแสวงหาวัตถุดิบเพื่อมาปรุงอาหาร วัตถุดิบเหล่านั้นก็เหมือนองค์ประกอบหรือเทคนิคต่าง ๆ ที่เขาหยิบมาใส่ในภาพยนตร์ให้มีรสชาติตามที่ต้องการ และยิ่งเขาออกเดินทางมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ยิ่งค้นพบวัตถุดิบใหม่ ดังนั้น The French Dispatch จึงเปรียบเสมือนการนำวัตถุดิบเก่าที่คุ้นเคยมาปรุงรสให้เข้ากับวัตถุดิบใหม่ ก่อนจะจัดเสิร์ฟลงจาน รอให้ผู้ชมทุกคนไปพิสูจน์รสชาติของมันด้วยตัวเอง

 

The French Dispatch มีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 21 ตุลาคม 2021 ส่วนในประเทศไทยคงต้องขึ้นกับสถานการณ์ว่าเราจะมีโอกาสได้ดูในโรงภาพยนตร์หรือไม่

WATCH