วิเคราะห์ภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่อง เรื่องไหนมีโอกาสคว้ารางวัล Best Picture ออสการ์ครั้งที่ 94 ไปครอง
เรื่องไหนเป็นตัวเต็ง? เรื่องไหนใช้เป็นไม้ประดับ? บทความนี้จะพาคุณไปวิเคราะห์กัน
เป็นอีกหนึ่งครั้งที่รายชื่อภาพยนตร์เข้าชิง Best Picture หรือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลใหญ่ที่สุดแห่งออสการ์โดดเด่นด้วยความหลากหลาย ซึ่งก็น่าจะตรงกับแนวทางที่ออสการ์ต้องการนับตั้งแต่ปี 2009 และมีการปรับเปลี่ยนจากที่เคยจำกัดภาพยนตร์ที่เข้าชิงไว้ที่ 5 เรื่องเป็น ‘ไม่เกิน 10 เรื่อง’ อย่างไรก็ตามการที่มีภาพยนตร์เข้าชิงมากถึง 10 เรื่อง อีกด้านหนึ่งก็เป็นดาบสองคม เพราะมีการตั้งข้อสังเกตแทบทุกปีว่าจะต้องมีเรื่องที่เข้าชิงเพียงเพื่อเป็นไม้ประดับเรียกเรตติ้ง หรือสนองผลประโยชน์ด้านการตลาดเท่านั้น ไม่มีทางที่จะคว้ารางวัลมาครองได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณี Black Panther ที่มีชื่อเข้าชิงในปี 2018
แต่ไม่ว่าจะมีเหตุผลใดแอบแฝง ภาพยนตร์ดีกรีระดับเข้าชิง Best Picture ทุกเรื่องย่อมมีคุณภาพในระดับมาตรฐานอยู่แล้ว เช่นเดียวกับออสการ์ครั้งที่ 94 นี้ ที่ถึงแม้บางเรื่องที่เข้าชิงจะแทบไม่มีโอกาสคว้ารางวัลไปครอง แต่มันก็ยังควรค่าที่จะรับชมสักครั้งในชีวิต หากถามว่าแล้วเรื่องไหนล่ะคือตัวเต็งที่จะคว้าไปครอง สามารถติดตามอ่านการวิเคราะห์ได้ในบทความนี้
ภาพ: IMDb
1. Nightmare Alley
ปฏิเสธไม่ได้ว่าใน 'Nightmare Alley' ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Guillermo del Toro ผู้กำกับรุ่นเก๋าแห่งวงการ นักแสดงนำอย่าง Bradley Cooper และ Cate Blanchett ได้มอบหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตพวกเขา อีกทั้งงานสร้างยังตระการตาด้วยการเนรมิตมหานครนิวยอร์กช่วงทศวรรษ 40 ดึงดูดผู้ชมเข้าสู่ความเฟื่องฟูในอดีต แต่หากเทียบกับ The Shape of Water ผลงานที่เคยคว้า Best Picture ของ Guillermo del Toro ก็ต้องบอกว่า Nightmare Alley ยังไม่สามารถเอาชนะใจกรรมการและนักวิจารณ์ได้ในระดับนั้น ทำให้โอกาสที่จะคว้ารางวัลใหญ่ไปครองค่อนข้างริบหรี่ และอาจต้องไปหวังกับสาขาด้านงานสร้างแทน
ภาพ: IMDb
2. Drive My Car
ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเสียดายไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ผลงานการกำกับของ Ryûsuke Hamaguchi ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของนักเขียนระดับตำนานแห่งเอเชียอย่าง Haruki Murakami เรื่องนี้น่าจะเข้าทางเป็นแน่ แต่สำหรับ Best Picture สถานการณ์ค่อนข้างตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ กวาดรางวัลจากสถาบันทั่วโลกมาแล้วมากมาย แต่การที่ 'Drive My Car' จะตามรอยรุ่นพี่อย่าง Parasite ได้สำเร็จ ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น และ Ryûsuke Hamaguchi คงต้องฝากความหวังไว้กับสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมเสียมากกว่า
WATCH
ภาพ: Netflix
3. Don’t Look Up
ถึงแม้ 'Don’t Look Up' จะเป็นภาพยนตร์รวมดาวฮอลลีวูดแห่งปีที่มีทั้ง Leonardo DiCaprio, Jennifer Lawrence, Meryl Streep, Timothée Chalamet และอีกมากมาย ถือเป็นเรือธงประจำปี 2021 ของเน็ตฟลิกซ์ แต่ด้วยสไตล์อันเฉพาะตัวของผู้กำกับ Adam McKay ที่ถ้าหากไม่ชอบก็จะเกลียดไปเลย คำวิจารณ์ของ Don’t Look Up จึงแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน และน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะคว้ารางวัลใหญ่ประจำปีมาครอง
ภาพ: IMDb
4. CODA
อีกหนึ่งภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยม แต่โอกาสถึงฝั่งฝันช่างริบหรี่คงต้องยกให้กับ 'CODA' ที่ถึงแม้แทบทุกคนที่ได้ชมจะต้องหลงรักภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความฝันที่เบ่งบานในบรรยากาศครอบครัวผู้พิการทางการได้ยินในเรื่องนี้ หรืออาจจะถึงขั้นเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้ง ทว่าจากกระแสในตอนนี้คงต้องบอกว่า CODA คือภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม แต่ยังมีพลังไม่มากพอที่จะส่งให้ไปคว้า Best Picture
ภาพ: IMDb
5. King Richard
ลิสต์ไม้ประดับคุณภาพเยี่ยมอีกหนึ่งเรื่องคงจะไม่หนีจาก 'King Richard' ผลงานการกำกับของ Reinaldo Marcus Green ที่ถึงแม้ในสาขานักแสดงนำชาย Will Smith จะเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งที่จะคว้ารางวัลไปครอง แต่สำหรับสาขาใหญ่อย่าง Best Picture นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า King Richard คือภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากภาพยนตร์แนวอัตชีวประวัติสร้างแรงบันดาลใจเรื่องอื่นๆ
ภาพ: IMDb
6. Dune
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แห่งปี 2021 ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมคลาสสิก ทุ่มทุนสร้างกว่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกวาดรายได้ถล่มทลายไปเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่านอกจากที่จะเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์แล้ว 'Dune' ก็ยังเข้มข้นด้านคุณภาพและศาสตร์ภาพยนตร์ บทประพันธ์ที่ใครต่างก็บอกว่ายากที่จะดัดแปลง แต่ Denis Villeneuve กลับทำได้อย่างไร้ที่ติ โดยเฉพาะด้านงานสร้างที่อลังการอย่างลงตัวถือเป็นมาสเตอร์พีซประจำปี 2021 และถ้าหากกรรมการจะเทคะแนนให้ Dune คว้า Best Picture ก็คงไม่มีใครคัดค้าน
ภาพ: TheNerdStash
7. Licorice Pizza
เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ 'Licorice Pizza' โดนถอดออกจากโปรแกรมเข้าฉายในบ้านเราด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ชาวไทยไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปสัมผัสรสชาติของภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ แต่จากสื่อต่างประเทศหลายสำนักกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า Licorice Pizza คือผลงานมาสเตอร์พีซลำดับล่าสุดของ Paul Thomas Anderson เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับคนนี้ได้ร่ายเวทมนตร์ผ่านเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มที่อบอวลด้วยการข้ามผ่านวัยท่ามกลางบรรยากาศทศวรรษ 70 จึงไม่แปลกที่ Licorice Pizza จะกวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ มามากมาย แต่สำหรับ Best Picture ออสการ์อาจจะยังเป็นเรื่องยากไปเสียหน่อย
ภาพ: IMDb
8. West Side Story 2021
เรียกว่าสมฉายา ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด’ สำหรับ Steven Spielberg เพราะการหยิบผลงานที่อมตะขึ้นหิ้งอยู่แล้วอย่าง West Side Story มาปัดฝุ่นรีเมกใหม่ มองมุมไหนก็มีแต่ความเสี่ยง และต่อให้จะทำออกมาดีก็คงได้แค่เสมอตัว ทว่า Spielberg กลับทำให้รู้ว่าทุกคนคิดผิด เพราะ West Side Story ฉบับปี 2021 ที่เขาสร้างสรรค์ออกมานั้น ถึงแม้จะมีความเคารพต้นฉบับเดิมอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันทั้งสีสัน ท่วงท่า และลีลาในการบอกเล่าก็มีรสชาติเฉพาะตัวที่ Spielberg ใส่ลงไป ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ West Side Story ขึ้นไปอยู่บนหิ้งเคียงข้างกับฉบับเดิมได้อย่างสมเกียรติ ส่วนกรรมการออสการ์ก็ชื่นชอบความคลาสสิกแบบนี้อยู่แล้ว จึงมีโอกาสไม่น้อยที่ West Side Story จะสร้างประวัติศาสตร์คว้า Best Picture เป็นครั้งที่ 2
ภาพ: IMDb
9. Belfast
ถึงแม้ในบ้านเราจะมีการพูดถึงเพียงน้อยนิด แต่สำหรับเวทีประกาศรางวัลต่างๆ ก่อนจะถึงออสการ์ 'Belfast' ผลงานการกำกับของ Kenneth Branagh คือดาวเด่นที่ได้รับรางวัลเป็นว่าเล่น ด้วยเรื่องราวกินใจของชนชั้นแรงงานที่บอกเล่าผ่านงานภาพขาวดำอย่างละเมียดละไม ซึ่งถือว่าเป็นแนวที่ถูกจริตกับเหล่านักวิจารณ์และกรรมการออสการ์อย่างมาก Belfast จึงเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ ที่จะคว้ารางวัล Best Picture ออสการ์ครั้งที่ 94 ไปครอง
ภาพ: IDMb
10. The Power of the Dog
แต่หากถามว่าเรื่องไหนเป็นตัวเต็งอันอับ 1 ก็คงต้องยกตำแหน่งดังกล่าวให้กับ 'The Power of the Dog' หนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตการเป็นผู้กำกับหลายทศวรรษของ Jane Campion และเป็นดาวเด่นของออสการ์ครั้งนี้ก็ว่าได้ เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่เข้าชิงมากที่สุดกว่า 12 สาขา อีกทั้งในสาขาใหญ่อย่าง Best Picture ก็มีโอกาสสูงมากที่จะคว้าไปครอง ด้วยความประณีตทุกกระเบียดนิ้วในการเล่าเรื่อง เกิดเป็นภาพยนตร์ที่สะกดผู้ชมให้ดำดิ่งไปกับเรื่องราวได้อย่างอยู่หมัด
ข้อมูล : Variety
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH