LIFESTYLE

ถอดรหัสความล้มเหลวของ New Year Resolution ปณิธานแห่งความฝันที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกแย่กว่าเดิม

คงไม่มีใครแสดงให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของการตั้งปณิธานช่วงปีใหม่ได้ดีเท่า Bridget Jones “เป้าหมายสำหรับปีใหม่: ดื่มน้อยลง โอ้ และเลิกสูบบุหรี่!..."

คงไม่มีใครแสดงให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของการตั้งปณิธานช่วงปีใหม่ได้ดีเท่าบริดเจ็ท โจนส์ “เป้าหมายสำหรับปีใหม่: ดื่มน้อยลง โอ้ และเลิกสูบบุหรี่! และอย่าลืมปณิธานที่ตั้งไว้” เธอถอนหายใจในฉากเปิดตัวของ บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ พวกเราเข้าใจความรู้สึกนั้นเป็นอย่างดี เป้าหมายที่ตั้งไว้ในเดือนมกราคม ด้วยสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องทำและความรู้สึกผิดที่สะสมมากว่าหนึ่งเดือนให้หลัง ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ และถ้าคุณเกิดทำตามเป้าหมายที่ว่านั้นได้ คุณก็จะได้แต่สงสัยว่าสิ่งที่ตั้งใจไว้ “มันเพียงพอหรือยัง”

ในช่วงเริ่มต้นของทุกๆ ปี เราต่างถูกรุมล้อมไปด้วยบทความและโฆษณาชวนเชื่อที่มักจะสรรเสริญเยินยอความเป็น “New Year, New You” หรือการเปลี่ยนเป็นคนใหม่สำหรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปทานมังสวิรัติ, ใช้พลาสติกให้น้อยลง, เลิกทานน้ำตาลหรือลงทุนกับการสมัครสมาชิกฟิตเนสเซ็นเตอร์ ความกระหายในการพัฒนาตนเองของผู้คนทั่วโลกไม่เคยลดน้อยถอยลงไปแม้สักนิด: แอปพลิเคชั่นอย่าง Runkeeper หรือ MyFitnessPal มีผู้ใช้เป็นประจำกว่าล้านคน หนังสือสร้างแรงบันดาลใจยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องและที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในช่วงเวลานี้คือพอตแคสต์ด้านสุขภาพกายสุขภาพใจ ความตั้งใจของพวกเรานั้นน่านับถือเป็นอย่างยิ่ง แต่การกดดันที่ล้นเกินมักจะทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่วางไว้ไปเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมเราถึงยังวนเวียนอยู่กับวงจรของการคาดหวังและลงเอยด้วยความล้มเหลวอย่างไม่มีวันจบสิ้น?

เป็นเวลากว่า 4,000 ปีที่พวกเราล้มลุกคลุกคลานกับประเพณีการตั้งปณิธานช่วงปีใหม่ ย้อนไปตั้งแต่สมัยบาบิโลน ผู้คนมักจะให้คำมั่นสัญญากับเทพเจ้าในช่วงเริ่มต้นของทุกๆ ปี ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในกรุงโรมช่วงยุคสมัยของจูเลียส ซีซาร์ และเป็นช่วงที่ทั้งศาสนาคริสต์ในช่วงเริ่มต้นและศาสนายิวต่างให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองในทุกๆ ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกปฏิบัติตามมาจนถึงทุกวันนี้ ในปี 2012 โปรเจกต์ Zeitgeist ได้ถือกำเนิดขึ้นบน Google Maps โดยการสอบถามผู้ใช้ถึงปณิธานที่พวกเขาได้ตั้งไว้และพล็อตมันลงในแผนที่ เปิดเผยให้เห็นถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ยากจะอธิบาย ตัวอย่างเช่น ผู้เข้าร่วมโปรเจกต์ในสหรัฐอเมริกามักจะตั้งปณิธานเกี่ยวกับสุขภาพ ในขณะที่ผู้คนจากอนุทวีปอินเดียจะโฟกัสหลักๆ ที่เรื่องการงานและชาวรัสเซียจะเน้นหนักไปที่เรื่องการศึกษา



WATCH




แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถทำตามคำปณิธานได้อย่างที่ตั้งใจ? งานวิจัยใน Journal of Clinical Psychology เมื่อปี 2012 ค้นพบว่า แม้ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันจะตั้งปณิธานในช่วงปีใหม่ มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้คนจำนวนมากมักจะถอนตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี ดังที่งานวิจัยจาก Strava (โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับนักกีฬาจากทั่วโลก) ได้ข้อสรุปว่า 12 มกราคม คือวันที่คนส่วนใหญ่ยอมแพ้ต่อปณิธานช่วงปีใหม่ของตนเอง ในขณะที่ ComRes poll for Bupa เมื่อปี 2015 แสดงให้เห็นว่า 43 เปอร์เซ็นต์ ของผู้คนในประเทศอังกฤษที่ล้มเลิกความตั้งใจนั้นมักจะตัดสินใจภายในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน จำนวนชาวอังกฤษที่ยังคงไปต่อกับเป้าหมายของตนเองมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

John C. Norcross ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง University of Scranton ให้เหตุผลของการล้มเลิกความตั้งใจกลางคันว่าเกิดจาก “การละเมิดในสิ่งที่ควรละเว้น” (Abstinence Violation) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสมองของเรามีปฏิกิริยากับสิ่งๆ หนึ่งในแง่ลบหลังจากที่เรากลับไปหาสิ่งๆ นั้นที่เราพยายามบังคับตนเองให้ละเว้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง “ถ้าหากคุณใช้เงินอยู่ในงบประมาณที่จำกัดไว้เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และหลังจากนั้นละเมิดกฎที่ตั้งไว้ คุณอาจจะพูดว่า “ฉันทำมันพังจนได้ จบเกมแล้วเรียบร้อย” Norcross กล่าว “วิธีการที่คุณตอบสนองต่อความล้มเหลวในครั้งแรกคือตัวที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าคุณจะกลับมาทำมันอีกครั้งหรือไม่”

 

หลายๆ คนมักจะไม่กลับมา อันที่จริง ข้อมูลต่างๆ ได้บ่งชี้ว่าเรามักจะตั้งปณิธานกันอย่างเว่อร์วังทั้งๆ ที่รู้ดีว่าเราไม่สามารถจะรักษามันไว้ได้ เมื่อปีที่แล้ว YouGov poll ในประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าปณิธานช่วงปีใหม่โดยทั่วๆ ไปมักจะเป็นการเลือกทานแต่สิ่งดีๆ, ออกกำลังกายให้มากขึ้น, ใช้เงินให้น้อยลง, และนอนหลับให้เพียงพอ อีกหนึ่งผลสำรวจโดย Bupa สอบถามผู้คน 2,000 คน ว่าพวกเขามีความคาดหวังว่าจะตั้งมั่นในเป้าหมายของตนหรือไม่ ครึ่งหนึ่งไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไปและยากที่จะทำให้สำเร็จ

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาอาจดูย้อนแย้งอยู่ในที แต่มันคืออาการของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่หมกมุ่นกับการพัฒนาตัวเอง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปณิธานช่วงปีใหม่อาจเป็นเป้าหมายเดียวที่คุณตั้งไว้สำหรับปีนั้นๆ แต่สังคมในยุคนี้หล่อหลอมให้เราตั้งเป้าหมายเพื่อความสมบูรณ์แบบในทุกๆ วัน เป้าหมายใหม่ๆ ผุดขึ้นในทุกๆ เดือน…มังสวิราคม, หยุดลาคม, ย้ายจิกายน พร้อมกับคำปฏิญาณที่เรียกร้องให้คุณต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างและมีวินัยอยู่เสมอ

 

คอลัมนิสต์จาก The Guardian อย่าง Brigid Delaney อธิบายวงจรของการปล่อยตัวตามใจและหวนสำนึกผิดในภายหลังในหนังสือของเธอ Wellmania: Misadventures in the Search for Wellness ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2017 “พวกเราหลายคนๆ ในแถบยุโรปและอเมริกา ผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องเวลาและรายได้ ต่างใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรม” เธอกล่าว “เราแกว่งไกวไปมาจากบางสิ่งบางอย่างที่มากล้นไปสู่การยับยั้งชั่งใจในตนเองด้วยความเร็วและความถี่ที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้า ทั้งการสวาปามทุกสิ่งอย่างช่วงวันหยุดคริสต์มาสตามมาด้วยการดีท็อกซ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์; ไหนจะแอปฯ สำหรับการทำสมาธิที่คุณสามารถใช้งานได้ในช่วงที่ต้องการพักจากการทำหลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน”

ผลสรุปบ่งชี้ว่า ปณิธานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายสามารถจุดชนวนความวิตกกังวลในตัวเราขึ้นมาได้ บวกเพิ่มกับความรู้สึกที่ว่าเราไม่เคยทำได้เพียงพอ ในปี 2009 องค์กรการกุศลด้านสุขภาพจิต Mind กระตุ้นเตือนผู้คนไม่ให้เริ่มปีใหม่ที่เต็มไปด้วยเป้าหมาย: “เราลงโทษตัวเองด้วยการกลบเกลื่อนสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อด้อยและตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ว่านั้น” ผู้บริหารขององค์กรการกุศล Paul Farmer กล่าว “ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะรู้สึกแย่ยิ่งกว่าตอนเริ่มต้น เมื่อไม่สามารถรักษาคำปณิธานนั้นไว้ได้”

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังสามารถแปรเป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจน รายงานจาก Freedom Finance พบว่าบุคคลทั่วไปจะใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 200,000 บาท ไปกับปณิธานช่วงปีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อย่างเช่น การย้ายบ้าน, การซื้อรถ, หรือการเดินทาง 11 เปอร์เซ็นต์ จากผลสำรวจกล่าวว่าจะกู้เงินเพื่อให้เพียงพอต่อแผนการที่วางไว้ ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าจะพึ่งพาบัตรเครดิต ความกดดันทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คำปณิธานนั้นเป็นจริงยิ่งเลวร้ายลงด้วยการสอดส่องชีวิตผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย พื้นที่ที่ภาพฝันในอุดมคติและชีวิตที่ได้รับการจัดฉากอย่างสมบูรณ์พร้อมดึงดูดให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างเราและเพื่อนพ้อง ยิ่งถ้าเราแชร์ปณิธานของเราให้เพื่อนและครอบครัวได้รับทราบ เรายิ่งรู้สึกถึงความกดดันที่จะต้องทำมันให้สำเร็จ

แม้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เป็นจริง แต่ความพยายามที่สุดโต่งจนเกินไปอาจทำร้ายเราได้ในท้ายที่สุด หากมีนิสัยบางอย่างที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลง ลองตั้งเป็นเป้าหมายระยะยาวแทนที่จะเป็นเพียงปณิธานสำหรับช่วงปีใหม่ Charles Duhigg ผู้แต่งหนังสือ The Power of Habit กล่าว “สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการตั้งเป้าหมายที่ไกลเกินความเป็นจริง เช่น การวิ่งมาราธอน คือการตั้งเป้าหมายที่คุณสามารถลงมือทำได้ในทันที” เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะชัดเจนขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเซตเวลาที่แน่นอนสำหรับเป้าหมายแต่ละอย่าง ถึงที่สุดแล้ว ในตอนท้ายของ บริดเจท โจนส์ ไดอารี่ นางเอกของเราไม่ได้หยุดดื่ม, เลิกบุหรี่, หรือมีน้ำหนักตัวตามที่หวัง…แต่เธอได้รับอะไรที่มากยิ่งกว่านั้น

 

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

ข้อมูล: Vogue.co.uk

WATCH