LIFESTYLE

'Neuroscience' คืออะไร...เจาะลึกเรื่องระบบประสาทแสนซับซ้อนที่ Shin Ji Yeon ศึกษาอยู่

ประสาทวิทยาศาสตร์ ชื่อที่ฟังดูแสนยากแท้จริงแล้วมันเป็นรูปแบบการศึกษาที่มนุษย์ทุกคนต้องทำความเข้าใจไม่มากก็น้อย

     ขณะที่รายการ Single’s Inferno กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้และประเทศไทย ผู้คนต่างจับตามองไปที่เหล่าผู้ร่วมรายการที่เป็นหนุ่มสาวสุดฮอต พวกเขากลายเป็นดาวเด่นบนโลกออนไลน์และมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมหาศาล และแน่นอนว่ามีแฟนรายการหลายคนไปค้นหาข้อมูลส่วนตัวของทั้ง 9 คน ตั้งแต่เรื่องอายุ อาชีพ ไปจนถึงการศึกษา โดยอย่างหลังสุดก็ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะ Shin Ji Yeon สาวสายหวานที่ครองใจหนุ่มๆ มากมายนั้นมีดีกรีเป็นถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกเลยทีเดียว มากไปกว่านั้นสาขาที่เธอศึกษาอยู่ยังเป็นสาขาวิชาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสาขาที่ยากที่สุดแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

ภาพ: York University

     ชินจียอนศึกษาเกี่ยวกับ Neuroscience หรือประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง ศาสตร์นี้จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจกลไกของระบบประสาท และสามารถต่อยอดไปถึงการทำความเข้าใจจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ ต่อมามีหลักการแบ่งประเภทประสาทวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 หลักใหญ่ๆ คือ แบ่งตามแบบดั้งเดิม โดยจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน ทั้งเรื่องประสาทกายวิภาค จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ลำดับที่ 2 คือแบ่งทางคลินิก ซึ่งหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นของระแบบประสาทตามลักษณะทางการแพทย์ ไล่ตั้งแต่เรื่องพยาธิไปจนถึงระบาดวิทยา และสุดท้ายคือประสาทวิทยาแบบโมเดิร์น อันหมายถึงการศึกษาแบบร่วมสมัยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสมอง การเจาะลึกระดับโมเลกุล ไปจนถึงโครงข่ายความเชื่อมโยงระหว่างระบบต่างๆ ที่ส่งผลต่อมนุษย์ ความสลับซับซ้อนตรงนี้ทำให้ประสาทวิทยาศาสตร์กลายเป็นสาขาวิชาที่ทั้งยากและมีความละเอียดอ่อนขั้นสูง

     ความน่าสนใจของประสาทวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์จ๋าๆ เพราะมันเชื่อมโยงกับการพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้าน ข้อมูลวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับระบบประสาทก่อให้เกิดวิถีปฏิบัติของมนุษย์ตามยุคต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นการเสริมสารอาหารและแพตเทิร์นการรับประทานอาหารในช่วงหนึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางสมอง และประสาทวิทยาศาสตร์ยังต่อยอดไปสู่องค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งรอบตัว ซึ่งการใช้ประสาทวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบกับหลักทฤษฎีเชิงสังคมวิทยาทำให้มนุษย์เข้าใจเผ่าพันธุ์ตัวเองในความหลากหลายที่แตกต่างกันอย่างถ่องแท้มากขึ้น ในขณะที่เราไม่ได้เอะใจกับพฤติกรรมหรือความคิดต่างๆ ในสมอง วิชานี้จะเปิดโลกให้เรารู้ระบบการทำงานและเชื่อมโยงประสบการณ์ร่วมกับเชิงสังคมวิทยาจนเกิดเป็นแนวทางการศึกษามนุษย์ที่ครบวงจรอย่างในปัจจุบัน

ภาพ: Koreaboo

     ความรู้สึกคลั่งไคล้ชินจียอนก็เกี่ยวข้องกับวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ที่เธอกำลังศึกษาอยู่เช่นกัน เพราะมนุษย์พัฒนาการเจริญเติบโตของสมองอยู่ตลอดเวลา การสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ส่งผลต่อสมองเราเช่นกัน การที่เราเสพเสน่ห์ของชินจียอนในรายการ ทำให้เรากลั่นกรองออกมาผ่านความคิด ประสบการณ์ร่วม และรู้สึกมีความสุขหรือทุกข์ที่เกี่ยวพันกับเซลล์สมองนิวโรน ดังนั้นการนำเสนอภาพของสาวสวยเปี่ยมเสน่ห์บนเกาะร้างก็สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม และนั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เข้าข่ายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์แบบที่ไม่มีใครรู้ตัว ไม่แน่อาจเพราะชินจียอนกำลังศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสมอง เธอจึงกำลังทดลองเรื่องกลไกระบบประสาทให้ผู้คนรู้สึกอะไรบางอย่างผ่านหน้าจอก็เป็นได้


     นอกจากเรื่องวิชาการแล้วประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาอะไรได้อีก...คำถามนี้คงเกิดขึ้นในใจหลายคนหลังอ่านข้อความกึ่งวิชาการมาหลายย่อหน้า คำตอบนั้นไม่มีตายตัวว่าศาสตร์นี้สามารถนำไปพัฒนาอะไรได้ต่อ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ใช้ทำความเข้าใจมนุษย์ทั้งตัวเองและผู้อื่น ดังนั้นประสาทวิทยาศาสตร์จึงเป็นเหมือนเครื่องมือวิเคราะห์ที่ถูกนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างหลักการเพื่อให้มนุษย์ตอบสนอง หรือล้วงลึกถึงเหตุและผลของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง



WATCH




ภาพ: Viral – Communicating Transparency

     การนำประสาทวิทยาศาสตร์ไปใช้ที่นิยมและกลายเป็นกระแสของโลกยุคใหม่คือ “Neuromarketing” หรือการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสมอง ถ้าพูดขึ้นมาลอยๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่ถ้าบอกว่ารูปแบบของฟังก์ชั่นการใช้งานบนโฆษณาหรือหน้าจอ Interactive ถูกออกแบบผ่านหลักการนี้คงจะเห็นภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน ภาพถ่าย หรือวิดีโอก็ล้วนใช้ผลการศึกษาระบบสมองมาเป็นค่าตั้งต้นในการออกแบบให้มนุษย์สนใจคอนเทนต์มากที่สุดทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นเทคนิคจุดดึงดูดสายตาเพื่อให้คนสนใจในจุดที่เราต้องการ การจัดวางสินค้าให้เหมาะกับสถานที่ การเปรียบเทียบราคาอย่างชัดเจน การกระตุ้นความรู้สึกทั้งเรื่องจำนวนและวันหมดอายุ การใช้อารมณ์เพื่อสื่อสาร การใช้ผู้มีอิทธิพลในการนำเสนอ การใช้สี และยังมีเทคนิคการตลาดอีกหลายรูปแบบที่ถูกออกแบบเพื่อทำให้มนุษย์สนใจ จดจำ และรู้สึกร่วมอยู่ตลอด


     สุดท้ายเรื่องประสาทวิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน มีความละเอียดที่สามารถเจาะลึกทำความเข้าใจมนุษย์อย่างมีเหตุและผล ในวันที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับการศึกษาของชินจียอน ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งกันของภาพลักษณ์และการศึกษาทำให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าเธอโดดเด่นและมีความสามารถ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่ระบบสมองทำงานอัตโนมัติในแบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่แน่ลองสังเกตดูสิว่าเรากำลังเข้ามาอ่านบทความวิชาการแบบจริงจังเพราะผู้เขียนใช้ชื่อ “ชินจียอน” มาดึงดูดความสนใจจากสมองของแฟนๆ หรือไม่ นั่นล่ะคือจุดที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

ข้อมูล:

stepstraining.co

mgronline.com

drkaeng.com

krusmart.com

thewhitemarketing.com

WATCH

คีย์เวิร์ด: #single'sinferno #shin ji-yeon