LIFESTYLE

ทำไมการ ‘ล็อกดาวน์’ ถึงทำให้ LGBTQ+ ผิวสีทั่วโลกพยายามฆ่าตัวตาย และกลายเป็นโรคซึมเศร้า

การต้องกักตัวอยู่กับคนที่รังเกียจกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องยากมากและมันก็มีผลกระทบกับสุขภาพจิตของฉันมาก

ภาพ : THE MASONS / TRUNK ARCHIVE

 

“เมื่อโลกของเราแคบลงจนต้องอยู่แค่ภายในกำแพงทั้งสี่ของพื้นที่ๆ เราอาศัยอยู่ มันทำให้ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าคนผิวดำ LGBTQ+ ที่อายุยังน้อยทั่วโลกจะเป็นอย่างไรกันบ้างในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะคำพูดเชิงลบที่อาจจะออกมาจากปากของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมแฟลตที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วยในขณะล็อคดาวน์ คุณจะเข้าสู่ความเป็นเพศทางเลือกและสร้างความเข้าใจในตัวเองต่อไปได้อย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านคนผิวดำ คนรักเพศเดียวกัน เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศ ภายในบ้านของตัวเองทุกๆ วันแบบนี้”

 

วิกฤตโรคระบาดนี้ส่งผลต่อพลังงานในบ้านอย่างไรบ้าง

ก่อนที่ Covid-19 จะระบาด “แซม” (นามสมมติ) มนุษย์นอนไบนารี่วัย 22 ปี ได้ออกไปร่วมงานมากมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ และ QTIPOC (ย่อมาจาก Queer, Trans and Intersex, People of Colour หรือ ชาวเควียร์ คนข้ามเพศ และ คนอินเตอร์เซ็กส์ผิวสี ) ในประเทศอังกฤษ เขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่ต่อต้านคนข้ามเพศและคนที่รักเพศเดียวกัน ฉะนั้นการได้ออกไปใช้ชีวิตในยามค่ำคืนเหล่านี้เป็นหนทางหนึ่งให้เขาได้พักหายใจและหลีกหนีจากพวกเขาบ้าง “พ่อแม่ของฉันไม่สนับสนุนฉันเลยแม้แต่น้อย ฉันรู้ว่าฉันคงหากำลังใจและแรงสนับสนุนได้จากคนอื่นมากกว่า” เขากล่าวกับ Vogue “คงจะเรียกความสัมพันธ์ของเราได้ว่าตึงเครียดและเป็นปรปักษ์ต่อกัน ฉันพอใจที่พวกเขาไม่ค่อยคุยกับฉัน และไม่ได้พยายามที่จะทำความรู้จักตัวตนของฉัน เหมือนว่าเราเป็นแค่คนแปลกหน้าที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเท่านั้น และฉันก็ยอมรับจุดนี้ได้แล้ว”

 

การล็อคดาวน์ได้ทำให้อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับสภาพแวดล้อมของแซม โชคร้ายที่การเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นเลย “การออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ทำให้เราสูญเสียการใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนไป ไล่ตั้งแต่ไนท์คลับ Pxssy Palace ในกรุงลอนดอน ไปจนถึง Infinite Quest ในกรุงเบอร์ลิน คลับหรือพื้นที่สังสรรค์สำหรับชาวเพศทางเลือกกลายเป็นเพียงความทรงจำสีจางๆ ในขณะที่งาน Pride ทั่วโลก  ก็ถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป การต้องกักตัวอยู่กับคนที่รังเกียจกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องยากมากและมันก็มีผลกระทบกับสุขภาพจิตของฉันมาก อยู่ๆ ก็มี Covid-19 แล้วพวกเราก็ถูกบังคับให้หันหน้ามาคุยกัน แต่ส่วนใหญ่เราจะตะคอกใส่กันมากกว่า” ในการล็อกดาวน์หลายครั้งซึ่งมีกฎหมายออกมาบังคับให้ทุกคนอยู่บ้าน คนหนุ่มสาวอย่างแซมจึงต้องต่อสู้กับภัยคุกคามต่อสุขภาพกายจาก Covid-19’s ซึ่งคนผิวดำจะต้องเจอมากกว่า โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในสหราชอาณาจักรซึ่งพบว่า คนผิวดำมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากไวรัสตัวนี้มากกว่าถึง 4 เท่า นอกจากนั้นก็ยังต้องประสบภัยคุกคามสุขภาพจิตที่กระทำโดยครอบครัวของพวกเขาเอง

 

สิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรอาจขยายไปนอกครอบครัวด้วย อย่างที่ “ออลี่” (นามสมมติ) เลสเบี้ยนชาวเควียร์ลูกครึ่งผิวดำต้องเผชิญในขณะที่เธออาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมแฟลตผู้หญิงสองคนในประเทศเนเธอร์แลนด์​จนถึงเทศกาลคริสต์มาสปี 2019 ตอนแรกความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ถือว่าดี ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวเกิดขึ้นบ้างประปรายในบางโอกาส “ฉันใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ไม่เข้าใจความต้องการและขอบเขตของฉันในฐานะเควียร์ผิวดำ ซึ่งมันไม่ดีต่อสุขภาพจิตของฉันเลย” ออลี่กล่าว ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเกิดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหัวก้าวหน้าทางวัฒนธรรมสูงที่สุดในโลก แถมประชาชนถึง 90% มี ‘ทัศนคติเชิงบวก’ ต่อชาว LGBTQ+ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ที่ยากจะทนไหวเกิดขึ้นในบ้าน

 

การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กัดกินอัตลักษณ์ความเป็นเควียร์ผิวดำหรือสภาพแวดล้อมที่นำอัตลักษณ์นี้มาพิจารณาจนเกินเหตุ ได้ส่งผลกระทบทางจิตใจซึ่งหยั่งรากลึก ทันยา “คอมพาส” ผู้ทำงานด้านเยาวชนและผู้ก่อตั้ง Exist Loudly ซึ่งเป็นองค์กรในลอนดอนที่สร้างพื้นที่แห่งความสุข รวมถึงความเป็นชุมชนสำหรับเยาวชนเพศทางเลือกผิวดำ เธอได้ทำงานกับเยาวชนจำนวนหนึ่งที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกันตลอดช่วงโรคระบาด และเธอพบว่าหลายคนกำลังต่อสู้กับมันอย่างยากลำบาก

 

“สำหรับคนที่ยังไม่เปิดตัวกับครอบครัวเรื่องอัตลัษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศวิถีของตัวเอง การที่พวกเขาจะหนีจากการต้องแสดงเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ใช่นั้นเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนข้ามเพศที่ต้องถูกเรียกด้วยสรรพนามของเพศที่ตัวเองไม่ใช่ หรือว่าถูกเรียกด้วยชื่อเก่าก่อนที่จะเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศ” เธอกล่าวกับ Vogue “มันเป็นผลกระทบที่ใหญ่มากสำหรับสุขภาพจิตของเยาวชนชาวเควียร์ผิวดำ แถมยังส่งผลกระทบไปถึงความมั่นใจในตัวเองและมุมมองที่มีต่อตัวเองในชุมชน LGBTQ+ ”

  

การพบปะในชุมชนออนไลน์

การที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่เคร่งศาสนาและเกลียดกลุ่มรักร่วมเพศนั้นส่งผลกระทบกับ “กาบี” (นามสมมติ) เขาเป็นนอนไบนารี เกรย์เซ็กชวลซึ่งมีคนรักหลายคน ในวัย 21 ปี เขาอาศัยอยู่กับความหวาดกลัวว่าวันหนึ่งครอบครัวจะรับรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของเขาและตัดเขาออกจากครอบครัว “ก่อนจะเกิดโรคระบาดครั้งนี้ขึ้น ครอบครัวของฉันไม่รู้เรื่องเพศวิถีของฉันเลย ก่อนหน้านี้ฉันใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนเยอะ ซึ่งก็เป็นเหมือนการหลีกหนีสำหรับฉัน ฉันได้พบกับมนุษย์เควียร์คนอื่นๆ แล้วเราก็รวมตัวกัน” กาบีอธิบาย “ตอนนี้ฉันไม่สามารถเจอกับคนพวกนั้นได้เหมือนเมื่อก่อน และมันก็เป็นผลเสียมากต่อสุขภาพจิตของฉัน”

 

ในเดือนตุลาคมปี 2020 ในขณะที่การเคลื่อนไหว #EndSARS เริ่มได้รับความสนใจจนกลายเป็นพาดหัวข่าว โลกนี้ก็ได้เริ่มเห็นว่ากลุ่มเพศทางเลือกชาวไนจีเรียจะต้องเผชิญกับอันตรายอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน เมื่อนำมารวมเข้ากับความรุนแรงที่พวกเขาอาจพบได้แม้กระทั่งในบ้านของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกาบีจึงประสบกับอาการแพนิก มีภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าที่อาการทรุดลงเรื่อยๆ “ทุกอย่างแย่ลงตอนที่พ่อของฉันกล่าวต่อต้านชาวเควียร์อย่างรุนแรงตอนที่เขาเทศน์ในโบสถ์ ซึ่งฉันก็เข้าฟังสัปดาห์ละสามครั้งช่วงที่โรคระบาดเพิ่งเริ่มต้น” และด้วยเหตุนี้เขาจึงได้พยายามปลิดชีพตัวเองแล้วถึงสองครั้ง

 

โชคดีที่ยังมีชุมชนออนไลน์ที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนกาบี แซม และ ออลี่ พวกเขาได้ค้นพบพื้นที่บนโลกโซเชียลที่สามารถหลบไปได้เพื่อหลีกหนีออกจากชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ทวิตเตอร์  งานอีเวนท์ออนไลน์สำหรับชาวเควียร์ และแม้กระทั่งแอปหาคู่ต่างๆ “คนที่เรียกว่าเป็นครอบครัวไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่ให้กำเนิดเราก็ได้” กาบีอธิบาย “เรามีเพื่อน มีชุมชนอยู่รอบตัว มีคนที่รักเราถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่รอบตัวเราก็ตาม”

 

คอมพาสกล่าวถึงความสำคัญของการใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสารกับชาวเควียร์ผิวดำคนอื่นๆ ว่า “โลกโซเชียลเป็นสถานที่ๆ เราจะได้เป็นชาวเควียร์ หรือเป็นคนช้ามเพศได้อย่างปลอดภัยและอย่างเป็นที่ยอมรับ คุณอาจจะลองสร้าง ‘แอ็คหลุม’ เพื่อใช้ในการค้นหาชาวเควียร์คนอื่นๆ ก็ได้ถ้ารู้สึกว่าจำเป็น” เธอเสริมต่อว่าองค์กรหลายแห่ง อย่างเช่น  Exist Loudly COLOURS Youth Network และ MISERY มีพื้นที่ออนไลน์เพื่อการเยียวยาจิตใจ รวมถึงเวิร์คชอปต่างๆ เพื่อช่วยให้ชาวเควียร์ผิวดำรู้สึกว่าพวกเขามีพื้นที่และได้รับการมองเห็น “ถึงแม้ว่าห้องนอนของคุณอาจเป็นพื้นที่เดียวที่คุณจะเป็นมนุษย์เควียร์ได้อย่างสุดตัว แต่อัตลักษณ์นี้ของคุณก็มีอยู่จริงและถูกต้องเสมอ” คอมพาสกล่าวต่อ เธอเสริมด้วยว่าการได้รับการยอมรับในฐานะชาวเควียร์หรือคนข้ามเพศไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะการ ‘เปิดตัว’ ของเขา

 

การต้องรับมือกับผลกระทบระยะยาวของ Covid-19 ในขณะที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตีกรอบการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นสิ่งที่ยากจนแทบไม่น่าเชื่อ ในช่วงเวลาอันมืดมนเช่นนี้การสร้างเกราะป้องกันภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเกราะนี้ก็อาจจะมีหน้าตาที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องมีองค์กรหรือบริการต่างๆ สำหรับช่วยเหลือชาวเควียร์ที่รู้สึกว่าพูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัวถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองไม่ได้ เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ในหสรัฐอเมริกาอย่าง Black Transwomen Inc หรือบริการต่างๆ ในแคนาดาอย่าง Tel-Jeunes African Queer Youth Initiative หรือ Somos Familia องค์กรเหล่านี้พร้อมช่วยเหลือเสมอ

 

ที่มา: VOGUE.COM

เรื่อง: 

WATCH