FASHION

รู้จัก Greta Thunberg เด็กหญิงวัย 16 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2019

“People are suffering. People are dying. Entire ecosystems are collapsing. We are at the beginning of mass extinction and all you can talk about is money and fairy tales of external economic growth. How Dare You!”

 

     ประโยคอันทรงพลังจากปากของเด็กสาววัย 16 ปี นามว่า Greta Thunberg ณ งานประชุม “The United Nations Climate Summit” ที่มหานครนิวยอร์ก ปี 2019 ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหวด้าน Climate Change อันเป็นผลกระทบสำคัญมาจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน เกรธากลายเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2018 หลังจากที่ภาพในขณะที่เธอนั่งอยู่ข้างป้ายประท้วง กับตัวอักษรภาษาสวีเดน ที่สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “School Strike for climate change” ซึ่งนั่นนับเป็นจุดประกายของกระแสตระหนักถึงประเด็นรักษ์โลกในช่วงทศวรรษก็ว่าได้ กระแสของ Greta Effect กลายเป็นที่จับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลายปัจจัยทั้งอายุของเธอ ไปจนถึงภาวะผู้นำที่น่าสนใจในตัวเธอ

 

ภาพ : TIME

 

     ในเดือนพฤษภาคม 2019 เกรธา ได้ปรากฏตัวอีกครั้งบนปกนิตยสาร TIME ในหัวข้อ “Next Generation Leader” และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในปี 2019 จาก TIME อีกด้วย ตอกย้ำสังคมผู้ใหญ่ที่ริดรอนความฝัน และอนาคตของเด็กรุ่นใหม่ ด้วยการไม่ใส่ใจถึงสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องพิ้นฐาน ที่ทุกคนควรลุกขึ้นมาเคลื่อไหวกันเสียที อีกทั้งยังทำให้ภาพของการเป็น Role Model ในการด้านเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ปัญหาดังกล่าวของเกรธาชัดเจนขึ้นจนไม่อาจจะปฏิเสธได้ หรือแม้แต่ในสื่อ VICE ยังได้จัดทำสารคดีเวลา 30 นาทีชื่อ “Make The World Greta Again” กระทั่งยังได้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขา Peace Prize ในเดือนกันยายน ปี 2019 อีกด้วย

Greta Thunberg ในงาน “The United Nations Climate Summit” ที่มหานครนิวยอร์ก ปี 2019 / ภาพ : The Nations

 

     เกรธามีเว็บไซต์ชื่อ Friday for Future เพื่อให้ผู้คนที่สนใจได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเธอ พร้อมทั้งยังรวบรวมถ้อยแถลงของเธอที่ได้กล่าวไว้ในงานต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงประโยคดังกล่าวข้างต้น ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคมโลก แม้แต่ Bernard Arnault ประธานบริษัท LVMH ที่ดูแลแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรีทั่วโลกยังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการขึ้นพูดต่อหน้าที่ประชุมในครั้งนั้นของเกรธาว่า “เธอช่างเป็นเด็กที่ทรงพลังทางด้านคำพูด และความคิด ทว่าท่าทีที่แข็งกร้าว และมุทะลุของเธอนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะมันอาจจะพาเธอ และสิ่งที่เธอได้ทำมาทั้งหมดนั้นไปเจอจุดจบอย่างพ่ายแพ้ได้” กล่าวคือ ความมุ่งมั่นของเด็กสาวที่มีมากเกินไป จนไม่อาจรับฟังปัจจัยรอบข้าง มุ่งหน้าเพียงเพื่อให้หยุดทุกอย่างแบบตัดวงจรนั้น ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป กระนั้นก็ยังมีนักวิชาการ และคนหมู่มากอีกหลายท่านที่ออกมาชื่นชม และให้กำลังใจเด็กสาวเกรธาด้วยเช่นกัน นับเป็นการพากระแสนิยมในการรักษ์ธรรมชาติที่แผ่วเบาลงไปเป็นเวลานานกลับมามีชีวิต และโลดเต้นในสังคมโลกอีกครั้งสำเร็จ



WATCH




ภาพ : Washington Post

 

     ไม่พียงเท่านั้น เพราะหากย้อนหลังกลับไปในช่วงปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตขยะ และมลพิษที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนมากที่สุด ยังได้หันกลับมาสร้างบทสนทนาจริงจังภายใต้หัวข้อ Sustainability ที่หมายถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งที่จะไม่เพิกเฉยต่อปรากฏการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ก่อนหน้านี้หลายคนคงได้รับรู้ซีรีส์ข่าวที่หลายแบรนด์แฟชั่นระดับโลกออกมาเรียงแถวประกาศคว่ำบาตรการใช้ขนเฟอร์ และหนังสัตว์ เพื่อเป็นการลดอาชญากรรมในการทารุณกรรมสัตว์ลง ก่อนที่ล่าสุดบนรันเวย์คอลเล็กชั่นประจำฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2020 แบรนด์ดิออร์ จะได้เนรมิตต้นไม้ 164 ต้น อีกทั้งต้นไม้ทั้งหมดนั้นจะถูกนำไปปลูกที่พื้นที่สาธารณะทั่วกรุงปารีส หลังจบโชว์อีกด้วย เพื่อสื่อถึงการรักษ์ธรรมชาติที่โลกแฟชั่นกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ หรือแม้แต่แบรนด์ระดับโลกอื่นๆ เองก็ตามที่หันมาตระหนักถึงปัญหาโลกดังกล่าว พร้อมเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต และการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม) เพื่อไม่ให้โลกใบนี้เดินเข้าสู่หายนะด้านขยะมลพิษในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของหลายคน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวด้าน Climate Change เช่นเดียวกัน ทว่าก็ยังคงมีการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ...อุตสาหกรรมแฟชั่นจะสามารถเข้าถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริงหรือไม่...

ภาพถ่ายรันเวย์แบรนด์ดิออร์ ในช่วงปารีสแฟชั่นวีก ประจำฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2020 / ภาพ : BusinessofFashion

 

     แม้ว่าจะยังไม่ได้คำตอบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกนี้จะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ เพราะหากพูดกันอย่างรอบด้านแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เพียงองค์กร หรือตัวอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่ต้องใส่ใจ และหันมาให้ความสนใจ เพราะส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ เองที่จำต้องหันมาให้ความสนใจ และตระหนักถึงปัญหาในระดับเดียวกันกับอุตสาหกรรม อีกทั้งสื่อมวลชนก็ยังนับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะสามารถโน้มน้าวบทสนทนาเรื่องภาวะโลกร้อนที่กำลังครุกรุ่นในสังคม ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นการจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ เราทุกคนก็ต้องถามตัวเองเช่นกันว่า เราพร้อมที่จะผลักดันให้ไปถึงจุดนั้นมากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกวันนี้ก็ยังมีการเริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ Greta Thunberg ที่เราได้พาเธอมาให้รู้จักกันในครั้งนี้...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #GretaThunberg #ClimateChange