NASA,ภาพถ่ายสี,เอกภพ
LIFESTYLE

อีกหนึ่งก้าวความสำเร็จของนุษยชาติ! กับภาพถ่ายที่อาจเป็น “กาแล็กซี่แรก” จากกล้อง James Webb โดย NASA

ในเพียงชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา มนุษยชาติได้ก้าวสู่บันไดความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นเเล้ว กับภาพถ่ายสีที่ได้จากกล้อง James Webb ที่ถูกคิดค้นเเละผลิตขึ้นโดย NASA นับเป็นครั้งเเรกที่เราได้เห็นถึงความสวยงามของเอกภพได้อย่างชัดเจน

     “เอกภพ” พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งแผ่ขยายออกไปเกินขอบเขตที่เราจะรับรู้ได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่ยิ่งลึกลับมนุษย์ต่างก็ทุ่มความพยายามที่จะค้นหาและศึกษาสิ่งนั้นมากขึ้น เช่นเดียวกับหลายๆ หน่วยงานที่มุ่งศึกษาถึงพื้นที่นอกโลกตั้งแต่ดาวเพื่อนบ้าน ระบบสุริยจักรวาล ตลอดจนจักรวาลอื่นๆ ในเอกภพเดียวกันนี้

ภาพเรนเดอร์กล้องโทรทรรศน์ James Webb จาก NASA

     จนเมื่อช่วงค่ำคืนวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นค่ำคืนแห่งการประสบความสำเร็จไปอีกหนึ่งขั้นของมวลมนุษยชาติ กับภาพภ่ายของบรรดาดวงดาวและกาแล็กซี่ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ NASA (นาซ่า) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ทุ่มเวลากว่า 32 ปี และใช้เงินทุนมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรประจำการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 โดยใช้ระยะเวลาร่วม 1 เดือนถึงจะเดินทางไป “จุดลากร็องฌ์ ที่ 2” หรือจุดที่อยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งมีระยะห่างออกไปมากถึง 1,500,000 กิโลเมตร โดยในระยะโคจรนี้จะสามารถทำให้กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ สามารถโคจรรอบโลกไปพร้อมๆ กับดวงอาทิตย์ได้ ทั้งยังสามารถรักษาอุณหภูมิภายในยานให้อยู่ในระดับความเหมาะสมแก่การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของรังสีอินฟราเรดได้เช่นกัน



WATCH




กระจุกกาแล็กซี่ SMACS 0723 ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์

     ซึ่งหลังจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ได้เข้าสู่วงโคจร เราก็ได้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่ากล้องรุ่นก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก กับเซ็ตภาพถ่ายเหล่าดวงดาวและกาแล็กซี่ต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ทั้งยังเป็นกาแล็กซี่และดวงดาวที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยพบเห็น เช่น กระจุกกาแล็กซี่ “SMACS 0723” กระจุกกาแล็กซี่ที่มีอายุมากถึง 4,600 ล้านปี ที่อยู่กระจุกรวมกันจนเกิดแรงโน้มถ่วงทำให้แสงจากดวงดาวยึดและขยายเกิดเป็น “เลนส์แรงโน้มถ่วง (Gravitational Lensing)” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดและดีเทลต่างๆ ของกลุ่มกาแล็กซี่เหล่านี้

ภาพถ่าย Cosmic Cliff จาก Carina Nebula โดยกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์

      ไม่เพียงแต่กระจุกกาแล็กซี่นี้จะมีความน่าสนใจไม่น้อยแล้วครั้งนี้กล้องโทรทรรศน์ยังได้ถ่ายภาพจากกาแล็กซี่เพื่อนบ้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ดูเสมือนหุบเขา หรือหน้าผาที่เต็มไปด้วยประกายจากดวงดาวที่เรียกว่า "Cosmo Cliff" ถูกถ่ายจากคารินาเนบิวลา หรือ เนบิวลากระดูกงูเรือ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวๆ 7,600 ปีแสง นับเป็นภาพกลุ่มเนบิวลาที่มีความคมชัดและเห็นถึงสีสันอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก


     โดยความยิ่งใหญ่ในการค้นพบครั้งนี้ยังถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับการค้นพบในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา และเป็นเรื่องราวที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สหรัฐอเมริกาที่รูปภาพจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ได้ขึ้นฉายบนบิลบอร์ดยักษ์ใจกลางเมืองนิวยอร์กอย่าง New York Time Square ซึ่งเราคงต้องติดตามดูกันต่อไปในอนาคตว่าเราจะได้เห็นสิ่งแปลกใหม่จากเอกภพนี้อีกหรือไม่ และสิ่งที่เราเพิ่งได้ค้นพบนี้จะก้าวเข้ามามีอิทธิพลกับวงการแฟชั่นในด้านใดบ้าง

      สามารถเข้าไปชมภาพถ่ายแรกและข้อมูลต่างๆ ของกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ภาพ : NASA

WATCH

คีย์เวิร์ด: #NASA #JamesWebb