
Chanel เปิดตัว ‘Nevold’ สำหรับรีไซเคิลวัสดุพร้อมสร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น
การรีไซเคิลทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่ลดทอนคุณภาพหรือความลักชัวรีอันเป็นหัวใจของแบรนด์
แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศส CHANEL เปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ ‘Nevold’ ที่ลงทุนสูงถึง 80 ล้านยูโร หรือราวๆ 2.9 พันล้านบาท โดยมีจุดประสงค์เพื่อรีไซเคิลวัสดุใหม่ในปี 2025 ซึ่งชื่อ Nevold มีที่มาจากคำว่า ‘never old’ เพื่อสะท้อนแนวคิดการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำอย่างสร้างสรรค์ เช่น ผ้าไหม ขนสัตว์ แคชเมียร์ หรือแม้แต่เศษผ้าหนังจากกระบวนการผลิต ยังมีศักยภาพที่จะกลับมาเป็นวัสดุชั้นดีได้อีกครั้งภายใต้การจัดการอย่างถูกต้องและเป็นไปตามระบบ ซึ่งก่อนหน้าชาเนลได้เริ่มใช้เส้นด้ายผสมไฟเบอร์รีไซเคิลในทวีดในบางคอลเล็กชั่น โดยโปรเจกต์นี้ดำเนินงานแยกจากทีมแฟชั่นหลักและนำโดย Sophie Brocart อดีตซีอีโอแห่งแบรนด์ Patou ร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมและสถาบันวิจัย อาทิ L’Atelier des Matières, Filatures du Parc และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งนี้ Bruno Pavlovsky ประธานสายแฟชั่นของชาเนลกล่าวไว้ว่า “มันไม่ใช่แค่การรีไซเคิลของชาเนลเองเท่านั้น แต่เราตั้งใจสร้างเป็นระบบเปิดเพื่อให้คนอื่นๆ สามารถเอาวัสดุมาใช้ร่วมกัน”
ก่อนหน้านี้ชาเนลได้มีนโยบายไม่เผาทำลายไอเท็มที่ไม่ได้จำหน่าย แต่ก็ยังไม่มีการรองรับวัสดุเหล่านี้อย่างเป็นระบบบรูโน่ได้เผยต่ออีกว่า “ที่ผ่านมาเราไม่เผาผลิตภัณฑ์ในสินค้าหรือไอเท็มที่ไม่ได้จำหน่าย และเรายังไม่มีระบบที่แท้จริงในการเข้าใจศักยภาพของวัสดุเหล่านี้… Nevold คือระบบนั้น” คำพูดนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าการเปิดตัวโปรเจกต์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงโครงการเสริม ทว่าเป็นแกนกลางของกลยุทธ์ด้านผู้จัดจำหน่ายของชาเนลในระยะยาว
ผลลัพธ์จากการพัฒนานี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมโดยถุงช็อปของชาเนลหลายรุ่นในปัจจุบันผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนถึง 30% และรองเท้าบางคู่มีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิลสูงถึง 50% ที่น่าสนใจอีกอย่างคือชาเนลเลือกใช้เศษหนังที่เหลือจากการผลิต มาทำเป็นส่วนประกอบโครงสร้างรองเท้าแทนที่พลาสติก เช่นในรองเท้ารุ่น slingback อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่ลดทอนคุณภาพหรือความลักชัวรีอันเป็นหัวใจของแบรนด์
สิ่งที่ทำให้ Nevold แตกต่างจากความยั่งยืนทั่วไปคือ ชาเนลไม่ได้ตั้งเป้าหมายด้านตัวเลขเชิงสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิลอย่างชัดเจนในแต่ละคอลเล็กชั่น ไม่มุ่งเน้นสร้างภาพทางการตลาดในระยะสั้น แต่กลับเลือกใช้แนวทางที่หนักแน่นกว่านั้นคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นลักชัวรีในอนาคต โดย บรูโน่เน้นย้ำว่า “นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อสารด้านความยั่งยืน หรือเรื่องของกำไร แต่มันคือการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต”
กล่าวโดยสรุปคือการเปิดตัวของ Nevold จึงไม่ได้เป็นเพียงโปรเจกต์รีไซเคิลธรรมดา แต่เป็นการวางหมากทางกลยุทธ์ในกระดานที่เปลี่ยนไปที่ชาแนลกำลังแสดงให้เห็นว่า “ความหรูหรา” กับ “ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” ไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลือกที่สวนทางกัน ในทางกลับกันทั้งสองสิ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และอาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการแฟชั่นในศตวรรษที่ 21 นี้
ตามไปอ่านบทความเกี่ยวกับ CHANEL เพิ่มเติมได้ ที่นี่
ภาพ : Courtesy of CHANEL TH
ข้อมูล : Vogue Business
WATCH