Jim Thompson
FASHION

VOGUE HISTORY | Jim Thompson เจ้าของฉายา ‘ราชาผ้าไหมไทย’ หรือ ‘สายลับในคราบนักธุรกิจ’?

เรื่องราวแห่งอาณาจักรผ้าไหมไทยอันทรงคุณค่าที่เป็นหนึ่งในมรดกของภูมิปัญญาและราชาผ้าไหมไทย ‘Jim Thompson’

‘ผ้าไหม’ หนึ่งในมรดกทางหัตถศิลป์ที่โด่งดังจนได้รับการยกย่องในระดับสากล หัตถกรรมเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความประณีตงดงามและความละลานตาของลวดลายอันสะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำธรรมชาติมาหลอมรวมเข้ากับศาสตร์แห่งหัตถศิลป์ ถ่ายทอดออกมาเป็นความเคารพและความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้อาจเป็นเรื่องตลกร้ายที่ฉายา ‘ราชาผ้าไหมไทย’ กลับไม่ใช่คนไทยหากแต่เป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในเสน่ห์อันวิจิตรของผ้าไหม Vogue History ขอพาย้อนเรื่องราวของ James Harrison Wilson Thompson หรือที่รู้จักกันในนาม Jim Thompson ชายชาวอเมริกันผู้มากไปด้วยข่าวลืออย่างสายลับในคราบนักธุรกิจ กระนั้นไม่ว่าเนื้อแท้เขาจะเป็นใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้ที่เห็นคุณค่าและเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทยก้าวขึ้นไปสู่เวทีโลกอย่างแท้จริง

 

หากจะเริ่มปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมดนี้คงต้องย้อนกลับไปช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ Jim ยังเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ โดยช่วงเวลานี้เองเขามีโอกาสได้มาทำภารกิจที่ประเทศไทยในปี 1945 กับการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อบรรลุเป้าหมายและไฟสงครามมอดดับลง ในปีต่อมา Jim จึงปลดประจำการทหารพร้อมกับเจตนารมณ์ที่ทำให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ประเทศไทยแห่งนี้ ผ่านความหลงใหลในวิถีชีวิตชนบทที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักร Jim Thompson โดยเขาได้เริ่มโครงการใหม่อย่างการปรับปรุงโอเรียนเต็ลหนึ่งในโรงแรมที่มีชื่อของกรุงเทพฯ พลางกับการสัญจรไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียงเพื่อเสาะหาลู่ทางในธุรกิจใหม่ที่เขาหลงใหลได้ไม่นานอย่างอุตสาหกรรมผ้าไหม ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลังภาวะสงครามอุตสาหกรรมผ้าไหมทำมือซบเซาลงไปมาก ผนวกกับการมาแทนที่ของเครื่องจักรที่มีต้นทุนถูกกว่าและผลิตได้มากกว่าเริ่มเป็นที่นิยม ส่งให้ในขณะนั้นเหลือเพียงช่างทอผ้าเพียงไม่กี่รายที่ยังคงสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ย้อมด้ายและทอผ้าใต้ถุนบ้าน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Jim มีสายตาที่เฉียบแหลมและความมุ่งมั่นที่เด็ดเดี่ยว เขามองเห็นศักยภาพในการผลักดันและพัฒนาให้ผ้าไหมทำมือเติบโตไปสู่ระดับโลก ซึ่งผ้าไหมไทย ณ ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดโลกทั้งยังขาดการสนับสนุนด้านการผลิตและการตลาด อีกทั้งเสน่ห์ของผลงานหัตถศิลป์ที่แฝงไปด้วยความแตกต่างจากผลงานเครื่องจักร แม้จะมีความเรียบง่ายและสม่ำเสมอแต่กลับไร้ซึ่งจิตวิญญาณของการสานต่อศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของงานฝีมือ ด้วยเหตุนี้ Jim จึงวางแผนที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการทอผ้าไหมของไทยอย่างจริงจัง ในปี 1947 ขณะที่ Jim ยังคงมุ่งมั่นเสาะหาการทอผ้าไหมดั้งเดิมที่เริ่มจะเลือนหายไป เนื่องจากการหดหายของช่างฝีมือผนวกกับรายได้ที่สวนทางกับระยะเวลาการผลิต จนกระทั่งได้พบกับชุมชนทอผ้าที่ยังหลงเหลืออยู่อย่าง ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ ชุมชนมุสลิมที่ถูกรายล้อมไปด้วยพุทธศาสนา หนึ่งในชุมชนความหวังที่ยังหลงเหลืออยู่ของอุตสาหกรรมผ้าไหมแต่ทว่าชาวบ้านเองก็ไม่ได้ทอผ้ากันเป็นงานหลักสักเท่าไร หลังจากทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทอผ้าร่วมกับชาวบ้านในชุมชนทำให้ Jim ได้ทราบในภายหลังว่าชาวบ้านคือแขกจามที่อพยพมายังกรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยที่ไทยยังรบกับกัมพูชา เขาได้ปรึกษาหารือร่วมกับ James Scott ทูตพาณิชย์สหรัฐประจำประเทศไทยก่อนทั้งสองจะตกลงร่วมกันผลักดันการผลิตผ้าไหมทอมือเพื่อเป็นสินค้าส่งออกของไทย

 

หลังจากส่งออกได้ไม่นาน Jim ก็มีโอกาสได้นำตัวอย่างผ้าไหมไปยังอเมริกา โดยเขาใช้วิธีชาญฉลาดอย่างการเข้าพบ Frank Crowninshield บรรณาธิการนิตยสาร Vanity Fair ณ ขณะนั้นที่เขาเคยสนิทสนมด้วยและคิดว่าคนผู้นี้จะสามารถพาผ้าไหมไทยเข้าสู่วงการแฟชั่นระดับโลก และอีกหนึ่งบุคคลที่ Jim มองเห็นศักยภาพคือ Edna Woolman Chase บรรณาธิการนิตยสาร Vogue ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างลุล่วง เมื่อ Edna รู้สึกประทับใจในเสน่ห์ของผ้าไหมทำมือ ส่งให้ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสื้อผ้าไหมที่ออกแบบโดย Valentina นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังของนิวยอร์กขณะนั้นได้ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกบนนิตยสาร Vogue อย่างงดงาม หลังจากก้าวสู่อีกหนึ่งก้าวแห่งความสำเร็จแล้ว Jim ก็ได้ก่อตั้งบริษัท  ‘Jim Thompson Thai Silk Company’ ขึ้นในปี 1948 เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเทคนิคการทอผ้าไหมไทยให้ขึ้นไปสู่ระดับสูงยิ่งขึ้นผ่านการร่วมมือกับช่างฝีมือไทยท้องถิ่นเพื่อรักษากลิ่นอาย ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทยให้คงอยู่ ทั้งยังพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลายให้มีความโมเดิร์นทันสมัยมากขึ้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและความละเมียดละไมในทุกขั้นตอนการผลิตทำให้ผ้าไหมของ Jim Thompson กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่การันตีถึงคุณภาพและความงามที่โดดเด่น นอกจากนี้ Jim ยังสร้างโรงงานและจัดตั้งโครงการอบรมช่างทอผ้าไหมเพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการทอผ้าแบบชุมชนท้องถิ่น

 

การสร้างแบรนด์ Jim Thompson ได้เป็นจุดเชื่อมโยงที่ผสมผสานระหว่างความชั้นสูงเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านได้อย่างลงตัว ทำให้เป็นที่ต้องการในหมู่นักสะสมจนส่งผลในเชิงเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาการทอผ้าไหมดั้งเดิม Jim Thompson จึงไม่เพียงได้รับการยกย่องในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแต่ยังได้รับการยกย่องในฐานะผู้ทรงอิทธิพลในการรักษาและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมไทยจนได้รับฉายา ‘ราชาผ้าไหมไทย’ นับเป็นหนึ่งในบุคคลคุณูปการในการส่งเสริมและผลักดันอันเป็นที่ประจักษ์ว่าตัวเขาหลงรักผ้าไหมไทยเพียงใด

 

และยุครุ่งโรจน์ของ Jim Thompson ก็ถึงคราวต้องหยุดชะงักเมื่อในปี 1967 ได้เกิดปริศนาการหายตัวไปของ Jim โดยเขาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในขณะเดินทางไปเที่ยวที่รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย แม้จะมีการสืบสวนทั้งจากทางการไทยและมาเลเซียแต่ก็ไม่สามารถพบเห็นเบาะแส ส่งให้ปริศนาการหายตัวไปของ Jim เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ยังคงน่าสนใจและเป็นที่สงสัย โดยเกิดข่าวลือถึงการเป็นสายลับในคราบนักธุรกิจที่แฝงตัวมาล้วงข้อมูลจากประเทศไทยส่งกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งข่าวลือนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หลงเหลือไว้เพียงมรดกที่ Jim Thompson ได้ทิ้งไว้ให้กับประเทศไทย ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจผ้าไหมแล้ว แต่รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทยด้วยการผสมผสานโลกตะวันตกและโลกตะวันออกผ่านงานหัตถศิลป์ที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์อย่างผ้าไหมของ Jim Thompson ที่ทรงคุณค่าระดับสากล นอกจากนี้บ้านของเขายังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง อันสะท้อนให้เห็นว่า Jim Thompson เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลและเป็นความทรงจำในอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

 

(สามารถติดตามอ่านบทความ VOGUE HISTORY เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

 

กราฟิก: จินาภา ฟองกษีร

Photo: Nik Wheeler / Getty Images and Courtesy of Jim Tomoson

WATCH

TAGS : Jim Thompson
 
Close menu